xs
xsm
sm
md
lg

"หมัก"ฟรีน้ำไฟต่ออายุกลบแก้ รธน.ซื้อเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - นอมินีแม้ว ใช้เงินภาษีคนไทยไปซื้อเสียงคนจน กลบกระแสกดดันทางการเมือง ปูพรมเลือกตั้งใหม่ นักวิชาการ-พ่อค้ารุมจวก "6 มาตรการ 6 เดือน ฟรีค่าน้ำค่าไฟ" ขายผ้าเอาหน้ารอด ชี้ รสก.เตรียมตัวเจ๊ง ด้าน สร.ขสมก.หวั่นขึ้นรถเมล์ฟรีครึ่งๆ กลางๆ ทำโกลาหล สร.รฟท.ไม่เชื่อน้ำยารัฐจ่ายค่าชดเชยจริง หนี้เก่ายังอื้อ ขสกม.ได้ทีขอเงินชดเชย 1.4 พันล้านก่อน ส.อ.ท.จี้รัฐวางมาตรการระยะกลาง-ยาว หม่อมเต่า เตือนมีปัญหาระยะยาว ค่าย กสิกรฯ ชี้เงินเฟ้อลดลง 0.5% แต่ขาดดุลเพิ่มเกือบ 5 หมื่นล้าน

หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน" เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลทางการเมือง เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นวิกฤตรัฐบาลที่มุ่งจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังถูกกระบวนการยุติธรรมตรวจสอบอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้

"ตอนนี้ธงของรัฐบาลสมัครคือการแก้รัฐธรรมนูญ การออกมาตรการใดๆ ในช่วงนี้ต้องหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก เพราะนับตั้งแต่ทีมทนายของจำเลยคดีที่ดินรัชดา (พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร) ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลจนศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคนละ 6 เดือน และล่าสุดศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษาให้ใบแดงกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เหมือนลางบอกเหตุว่าตุลาการภิวัฒน์จะสะสางวิกฤตประเทศเสร็จในไม่ช้า" แหล่งข่าวนักวิชาการตั้งข้อสังเกต

นาย ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (สร.กฝผ.) กล่าวว่า การลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับคนจนเป็นสิ่งจำเป็น แต่คิดว่าวิธีการคุมคุมสินค้า อุปโภค บริโภคน่าจะเป็นการช่วยเหลือที่ดีกว่า มาตรการที่รัฐบาลกำลังประกาศดำเนินการนั้นเป็นการกระทำเพียงเพื่อลดกระแสกดดันทางการเมือง สร้างความชอบธรรมเพื่อให้รัฐบาลได้ทำงานต่อไปได้ ส่วนประเด็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและมาตรการการจัดค่าไฟจากผู้มีรายได้น้อยนั้นคงต้องมีการหารือในรายละเอียดกันอีกครั้ง

"มาตรการนี้ออกมาเพื่อเป็นการปูพรมหวังผลเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น เชื่อว่ามาตรการนี้ได้ผลแค่ในวงจำกัด และจะมีการปันผลหวังเลือกตั้ง" นายจุติ ไกรกฤษ์ รมช.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวและว่า มาตรการนี้ยังไม่ถึงกลุ่มรากหญ้าที่ยากจน และต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง รัฐมนตรีคลังไม่รู้วิถีชีวิตของคนจนที่แท้จริง มองแต่รอบๆ ตัวเอง นึกภาพแต่ในคลีนิค จนลืมไปไปถึงระดับล่าง เรียกว่าทำดีแล้วแต่ยังดีไม่พอ รัฐบาลพลาดเป้าไป มีหลายเรื่องที่ควรทำแต่ไม่ทำ เช่น ดูแลราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกร ช่วยเหลือผู้สูงอายุรายเดือนที่จนจริงๆ ทุกวันนี้ได้รับบริการจากรัฐแค่ 2 ล้านคนจาก 7 ล้านคน รัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เลยแต่ก็ไม่ได้ทำ เป็นการทำแก้จนเพื่อเป็นสัญลักษณ์

เอาเงินซื้อเหมือนแม้ว-รสก.เจ๊ง

นายนิพนธ์ พัวพงศกร คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้คิดและทำไว รีบร้อนมาก ไม่มีใครรู้เลย แม้แต่เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ยังไม่ทราบเลย มาตรการดังกล่าวคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลได้เจอวิกฤติทางการเมือง และถูกโจมตีอย่างหนัก แต่กลับเปิดกรุสมบัติ นำเงินมาซื้อประชาชน เป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอด ซึ่งไม่ช้าไม่เร็วคิดว่าไม่รอด เพราะการจะทำอะไรนั้นรัฐบาลต้องคิดหน้าคิดหลัง ทั้งที่เรื่องวิกฤติค่าครองชีพ เช่น ปัญหาราคาข้าว ปัญหาราคาสินค้า ปัญหาราคาน้ำมัน นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วแสดงว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้คิดจะทำอะไรเลย การจะมาไม่เก็บค่ารถเมล์ รถไฟ ค่าน้ำ ค่าไฟ นั้นส่งผลกระทบต่อระบบรัฐวิสาหกิจในอนาคตอย่างร้ายแรงแน่

"รัฐบาลสมควรที่จะทำให้ระบบการบริการของรัฐวิสาหกิจอยู่ในรูปแบบ ที่ให้บริการประชาชน ในราคาถูกและมีคุณภาพหรือระบบ PSO มาตั้งนานแล้ว ต้องทำการตกลงวิจัยถึงขั้นตอนการบริหารงานทั้งหมด และปล่อยให้เป็นธุรกิจตามระบบปกติ แต่นี่กลับมาควบคุมราคา มีแต่จะทำให้รัฐวิสาหกิจเจ๊ง ล้มแน่นอน" นาย.นิพนธ์ กล่าว

นายวิทยากร เชียงกูร คณบดีคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐบาลนี้ใช้แนวคิดในการบริหารปัญหาเศรษฐกิจเหมือนยุคทักษิณ คือใช้ประชานิยมเป็นตัวนำโดยไม่มองปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะแก้ในระยะยาว เป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน การออกมาตรการเช่นนี้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือฝ่ายการเมืองสามารถ ใช้มาตรการนี้หาเสียงกับประชาชนได้ ส่วนคนจนจริงๆแม้ว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ แต่ก็ทำได้ไม่นานเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ และจะแก้ไม่ได้โดยทั่วถึง

หากรัฐบาลยังใช้มาตรการอย่างนี้โดยละเลยที่จะแก้โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวยกับคนจน ไม่สามารถเก็บภาษีคนรวยได้มากกว่านี้ อีกไม่นานก็ช่วยคนจนไม่ได้

"มาตรการช่วยคนจนที่มาในช่วงที่รัฐบาลต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมือง รัฐมนตรีหลายคนถูกออกเพราะทำผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มจะเลือกตั้งใหม่สูงมาก ทำให้มาตรการนี้กลายเป็นการหาเสียงมากกว่าที่จะแก้ปัญหาคนจนอย่างแท้จริง"

นายวิทยากร เสนอว่า รัฐบาลควรจะคิดถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะระบบเศรษฐกิจวันนี้มีความสลับซับซ้อนสูงมากกว่าจะแก้โดยวิธีสังคมสงเคราะห์ไปเรื่อยๆ เช่น ต้องปฏิรูปภาษี ให้มีความเป็นธรรม การรณรงค์ลดการบริโภค ลดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง เช่น หากลดเวลาการทำงานเหลือ 4 วันก็จะลดการใช้พลังงานได้ถึง 20 เปอร์เซนต์

นายวิเศษ วชิราศรีศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ทำให้คนทุกคนดีขึ้น เพียงแต่จุนเจือคนจนชั่วคราวเท่านั้น เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนเดิม การที่ขึ้นรถไฟฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ นั้นก็ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะรัฐไม่มีเงินจ่าย สิ่งที่รัฐทำไปนั้น รัฐบาลต้องควักกระเป๋า ใช้เงินคงคลังจ่ายเอง ไม่ใช่ฟรี รัฐต้องการเพียงแค่ไม่ให้ดัชนีผู้บริโภคสูงขึ้น

"รัฐบาลควรหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอื่นที่มั่นคงและถาวรมากกว่า ไม่ใช่ทำแค่ประชานิยม 6 เดือน การทำเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนแย่ ลักษณะเช่นนี้ ถามว่าแล้วผู้ประกอบการรายใดเล่าที่จะยินดีเสียภาษีอีก เพราะภาคธุรกิจเอกชนเสียภาษีไป รัฐก็นำเงินไปละลายเล่น"

โกลาหลรถเมล์ฟรีครึ่งๆ กลางๆ

นายบุญมา ปังมา รองประธานสหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจองค์การ ขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขสมก.คือให้ประชาชนขึ้นรถโดยสาร แบบร้อน ฟรีคันเว้นคันนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการจะออกนโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วจริงๆก็น่าจะให้ฟรีทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ขสมก.มีรถร้อนอยู่กว่า 1 พันคัน การออกนโยบายฟรีบ้างไม่ฟรีบ้าง ทำให้ ขสมก.ถูกด่าฟรีมากกว่า เพราะประชาชนก็ต้องการขึ้นรถฟรีทั้งหมด ก่อนออกนโยบายรัฐบาลไม่เคยหารือกับผู้ปฎิบัติเลยว่าทำได้หรือไม่ เพราะการให้มีรถฟรีแบบคันเว้นคันเช่นนี้ทำให้มีปัญหาในการปล่อยรถแน่ ที่สำคัญคือทุกวันนี้พนักงานเก็บค่าโดยสารยังมีรายรับจากการได้เปอร์เซ็นค่าตั๋วโดยสารด้วย ซึ่งตรงนี้รัฐบาลจะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปอย่างไร เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่มีรายได้เดือนละ 8 พันบาท ซึ่งแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว

"ถ้ารัฐบาลให้ฟรีทั้งหมด ก็จะช่วยลดต้นทุนเรื่องพนักงานเก็บค่าโดยสาร แต่ต้องหารายได้ชดเชยให้เขา และไม่ต้องเกิดความแตกแยกว่าคันไหนได้เก็บค่าโดยสาร คันไหนไม่ได้เก็บ สร.ขสมก.เห็นด้วยกับบริการประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับทำแบบครึ่งๆกลางๆอย่างนี้ ความจริงแล้วไม่ต้องถึงกับฟรีหมดหรอก มันเว่อร์เกินไป แค่เก็บราคาถูกเท่ากันคันละ 5 บาทก็พอแล้ว แต่ต้องเพิ่มรถร้อนให้ครบเส้นทาง ” นายบุญมากล่าว และว่า หากรัฐบาลยังยืนว่าจะเก็บค่าโดยสารในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดความโกลาหลแน่ และเชื่อว่าเป็นความพยายามบ่ายเบี่ยงปัญหาเรื่องการจัดซื้อรถโดยสาร 6 พันคัน ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น และสร.ขสมก.ทำหนังสือเสนอแนะไปว่าให้มีการประมูลอย่างโปร่งใสและควรมีรถร้อนไม่น้อยกว่า 2 พันคันเพื่อเป็นที่พึ่งของคนจน ไม่ใช่ออกรถแอร์มาทั้งหมด 6 พันคัน

ได้ทีขอเงินชดเชย 1.4 พัน ล.ก่อน

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ดขสมก. กล่าวว่า ขสมก.พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เพราะจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้พอสมควร แต่ถึงอย่างไรการให้ความสนับสนุนเรื่องเงินชดเชยที่ภาครัฐจะจ่ายแทนประชาชนตลอดระยะเวลา 6 เดือน เป็นเงิน1,400 ล้านบาทนั้น ภาครัฐควรที่จะจ่ายให้ก่อน หรือจ่ายโดยเร็วที่สุด เนื่องจากขสมก.บริหารเงินในองค์กรในรูปของเงินสดหมุดเวียนในแต่ละวัน ซึ่งเมื่องดเก็บค่าโดยสารจากประชาชนก็จะทำให้รายได้ขสมก.ในแต่ละวันลดน้อยลงไป ทำให้กระทบต่อการค่าใช้จ่ายในแต่ละวันของ ขสมก.ได้

สำนักแผนพลังงานควัก 1.1 หมื่นล้าน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 80 หน่วยต่อเดือน ประมาณ 6.47 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 0.17 ล้านครัวเรือน และผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 6.30 ล้านครัวเรือน ขณะที่จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะมีประมาณ 9.86 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. 0.41 ล้านครัวเรือน และผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟภ. 9.45 ล้านครัวเรือน รวมเป็นจำนวนเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 11,832 ล้านบาท

เร่งตรวจสต็อกน้ำมันเพื่อชดเชยราคา

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การลดภาษีราคาน้ำมันตามมติ ครม.ครั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงานจะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ค้ามาตรา 7 ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ เพื่อชดเชยราคาน้ำมันให้แก่คลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมัน นอกจากนี้จะมีการออกตรวจสต๊อกน้ำมันทั่วประเทศ เพื่อจ่ายชดเชยน้ำมันคงเหลือและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหยุดการจำหน่ายน้ำมัน

จวกลดภาษีน้ำมันเอาใจคนเมือง

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวถึงมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อไทยทุกคน ว่า แม้จะมีผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์บ้าง แต่รวม ๆ แล้วไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ เพราะเมื่อรัฐบาลลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ภาษีน้ำมัน ในที่สุดก็ต้องมีจ่ายเงินชดเชยโดยภาษีของรัฐ หรือรัฐต้องไปหาเก็บภาษีจากส่วนอื่นเพิ่ม เพื่อไม่ให้หลุดเป้าหมายการจัดเก็บภาษี หรือหากกรณีจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย รัฐบาลก็ต้องกู้เงินหรือออกพันธบัตรมาแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเงินของประชาชนนำมาแก้ปัญหาอยู่ดี

ในกรณีการลดภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซล ยิ่งเป็นแนวทางที่คนจนไม่ได้ประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่คนจนไม่ได้มีรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเอง การลดภาษีน้ำมันเป็นการลดที่เอาใจคนเมือง คนที่มีรายได้ระดับกลางไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งมากกว่า ซึ่งต่อไปนี้ก็คงจะต้องดูว่าผู้ประกอบการขนส่งจะลดหรือตรึงค่าโดยสาร หรือลดค่าขนส่งสินค้า จนทำให้ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ร่วมหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาราคาสินค้าได้บวกกับค่าขนส่งไปแล้ว

“การลดภาษีน้ำมันไม่ได้ประโยชน์อะไร รัฐต้องสูญเสียภาษีประมาณ 4 หมื่นล้านบาท/ปี แทนที่ประชาชนทั่วประเทศจะได้ประโยชน์จากภาษีนี้ ในขณะเดียวกัน การลดภาษียังไม่เป็นมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงานยิ่งทำให้ประเทศชาติสูญเสียมากยิ่งขึ้น “นายเทียนไชย กล่าว

ส.อ.ท.จี้รัฐวางมาตรการระยะกลาง-ยาว

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทำให้เงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปใช้จ่ายด้านอื่น ๆแม้ว่าจะช่วยเศรษฐกิจไม่มากนักก็ตาม

นอกจาก 6 มาตรการดังกล่าวนี้ รัฐบาลควรผลักดันมาตรการระยะกลาง และระยะยาวด้วย โดยมาตรการระยะกลาง คือ กระตุ้นให้ภาคขนส่งเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีแทนน้ำมันดีเซล เร่งรัดโครงการภาครัฐ พร้อมทั้งโครงการเมกะโปรเจกต์

นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง เพื่อลดภาระค่าครองชีพและการใช้จ่ายประจำวัน แต่ผลทางธุรกิจอาจไม่ได้โดยตรง ควรขยายมาตราช่วยเหลือโดยตรงกับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท เพื่อให้เหลือเงินส่วนหนึ่งต่อการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนโดยตรงกับธุรกิจขนาดกลางและย่อมอีกทาง จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

เต็มที่แค่ประทังชีวิตคนจนชั่วคราว

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า ตามหลักการ มาตรการดังกล่าวได้คะแนนดีและก็ช่วยได้จริงถ้าเราเข้าใจประชาชนว่าเขาอยากได้อะไร แต่มันก็หนีไม่พ้นว่าในระยะยาวจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนถือเป็นประชานิยมที่จะช่วยเรียกคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลหรือไม่ แล้วแต่จะคิด ถ้าจะใช้มาตรการแบบนี้ก็ต้องวัดดูว่าประชาชนเดือดร้อนจริงหรือไม่ ส่วนจะมองว่ารัฐบาลจริงใจหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าทำสำเร็จหรือไม่

"ถ้าผ่านไปแล้ว 6 เดือนสถานการณ์ดีขึ้นก็เหมือนได้ประทังชีวิตอยู่ชั่วคราว ไว้รอดูอีก 6 เดือนหากสำเร็จก็ต้องทำต่อ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ทำอย่างอื่น" ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

ผวาทำขาดดุลเพิ่มเฉียด 5 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ น่าจะช่วยบรรเทาผลของอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง โดยคาดว่า จากมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม อาจจะต่ำกว่าร้อยละ 10 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2551 อาจอยู่ที่ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่ร้อยละ 7.8 แต่การบรรเทาผลของเงินเฟ้อดังกล่าวต้องแลกมาด้วยฐานะดุลการคลังที่อาจขาดดุลสูงขึ้นเป็น 220,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 172,000 ล้านบาท

"ประเด็นสำคัญที่สุดในยามที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ น่าจะยังคงเป็นการมุ่งประหยัดการใช้พลังงานของทุกฝ่าย เนื่องจากเห็นได้ชัดแล้วว่า การบรรเทาผลกระทบโดยการใช้มาตรการภาษีย่อมจะมีต้นทุนทางการคลังตามมา ซึ่งควรดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด โดยหากพ้นระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มชะลอตัวลงก็น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมในการสิ้นสุดการใช้มาตรการ"

"หมอเลี้ยบ" ไม่ยอมรับว่าหาเสียง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า แม้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ถึง 46,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จะช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นไปจนถึง 2 หลักอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยคาดว่าทั้งปี 2551 น่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 9 ของจีดีพี และยังเชื่อว่าการจัดทำมาตรการในครั้งนี้จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้อีกร้อยละ 0.3 - 0.5 ทั้งนี้ การจัดทำมาตรการทั้ง 6 มาตรการ มิได้เป็นการจัดทำเพื่อหวังผลในการหาเสียง และขอยืนยันไม่มีการยุบสภาอย่างแน่นอน ตนและ ครม.ไม่เคยคิดเรื่องนี้อย่างที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์

ทั้งนี้ ทั้ง 6 มาตรการ ใช้งบประมาณกว่า 46,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จะเป็นการลดในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 91 95 ลงลิตรละ 3 บาท 30 สตางค์ ส่วนดีเซลจะลดภาษีสรรพสามิตลงประมาณ 2 บาท 19 สตางค์ ถึง 2 บาท 30 สตางค์ต่อลิตร 2.การชะลอการขึ้นก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน 3.การลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำประปา หากใช้น้ำประปาต่ำกว่า 50 หน่วยต่อเดือนก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และ 4.การลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า หากใช้ไม่เกิน 80 หน่วย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใช้ 81-150 หน่วย รัฐบาลจะออกค่าไฟให้ครึ่งหนึ่ง 5. ลดค่าโดยสารรถประจำทาง ที่มีอยู่ปัจจุบัน 1,600 คันของ ขสมก. ในจำนวน 800 คันจะติดป้ายว่า ไม่เสียค่าบริการ และ6. มาตรการสุดท้าย คือมาตรการการใช้รถไฟชั้น 3 ทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น