ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ทึ่ง! ผลงานนักวิจัย มทร.อีสาน เห็ดกระด้างหรือ "เห็ดบด" อีสานรักษาโรคเบาหวาน-เอดส์ เผยใช้เวลานานกว่า 2 ปีวิจัยต่อยอดวิทยานิพนธ์สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเห็ดสมุนไพรชนิด "แคปซูล" จากสารสกัดเห็ดกระด้างและเห็ดหลินจือ สามารถลดไขมันในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ติดเชื้อ HIV ได้ผลดี เผยจดสิทธิบัตรไว้ที่เนเธอร์แลนด์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอ "อย." พร้อมเตรียมสร้างโรงงานผลิตส่งจำหน่ายต่างประเทศที่ อ.พังโคน จ.สกลนคร
ดร.นิภาพร อามัสสา อาจารย์ระดับ 7 หัวหน้าแผนกงานวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตสกลนคร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) มทร.อีสานที่ จ.นครราชสีมา ได้สนับสนุนทุนการวิจัย "โครงการพัฒนาเห็ดสมุนไพรเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ติดเชื้อ HIV" ตั้งแต่ปี 2550 เป็นเงินกว่า 1.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิทยานิพนธ์ของตนที่ทำไว้
โดยงานวิจัยดังกล่าวได้คัดเลือกเห็ดสมุนไพร 2-3 ชนิด ได้แก่เห็ดบด เห็ดลม หรือ เห็ดกระด้าง (Lentinus polychrous Lev.) และเห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.) โดยพิจารณาจากเห็ดสมุนไพรที่มีศักยภาพทั้งด้านสรรพคุณและด้านการตลาด
การวิจัยเห็ดสมุนไพรดังกล่าว ได้ทำการวิจัยเบื้องต้นทางคลินิก โดยทดสอบประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของสารสกัดจากเห็ดสมุนไพร ในการลดไขมันในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า สามารถลดไขมันทั้งคอลรสเตอรอล (Cholesterol) และไขมันเหลว (Triglyceride) ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีไขมันสูงได้ดี
"ผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้มีปัญหาแค่ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง แต่ไขมันก็มีส่วนสำคัญ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV หากปริมาณไขมันในเลือดสูงจะทำให้มีโรคอื่นรุมเร้า เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานบกพร่อง ซึ่งสารสกัดจากสมุนไพรเห็ดนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวต่อไปได้อีก" ดร.นิภาพร กล่าว
ดร.นิภาพร กล่าวต่อว่า การเลือกชนิดของเห็ดขึ้นมาทำการวิจัย นั้นเนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสานจะหาเห็ดบด หรือเห็ดกระด้างได้ง่าย และส่วนหนึ่งมาจากความชอบกินเห็ดจึงทำการศึกษาวิจัย ในส่วนของเห็ดหลินจือ มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุชัดเจนว่ามีประโยชน์มากมาย ฉะนั้น เมื่อนำเห็ดบดกับเห็ดหลินจือมาสกัดรวมกันจึงได้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเห็ดสมุนไพร ที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ติดเชื้อ HIV
สำหรับคุณสมบัติของ เห็ดบด (Lentinus polychrous Lev.) ในตำรายาแผนไทยโบราณ มีสรรพคุณ เป็นยาบำรุงร่างกาย, บำรุงกำลัง และแก้ไข้พิษ โดยหมอยาแผนไทยจะนำ เห็ดบด ทั้งแบบสดหรือแบบแห้ง ต้มกับน้ำจนเดือดให้ผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลียจากการทำงานหรือไม่แข็งแรงเนื่องจากเพิ่งฟื้นจากไข้ สมรรถภาพทางเพศไม่ค่อยจะดี รับประทานทั้งน้ำและเนื้อเห็ดเป็นประจำจะทำให้ร่างกายแข็งแรง กระชุ่มกระชวย และยังใช้เป็นยาแก้พิษไข้ได้อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของเห็ดบด มีหมวกเห็ดเป็นรูปกรวยลึก สีขาวนวลหรือสีน้ำตาลอ่อนอมเทา เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร (ซม.) เหนียวคล้ายหนัง ขอบงอลง ผิวมีขนสั้นๆ สีน้ำตาล ปลายงอขึ้น ดอกอ่อนมีขอบบางและม้วนงอลง ครีบ สีน้ำตาลอ่อนอมเทา บาง และแคบ เมื่อแห้งจะเหนียว แข็งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลอมม่วง ครีบมี ความยาวต่างกัน ด้านนอกเรียวแคบไปติดขอบหมวก ขอบครีบเป็นจักฟันเลื่อยเล็กๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะสากมือเวลาลูบ ก้านมีลักษณะ แข็ง เหนียว สีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาลดำ เนื้อในเห็ดเป็นสีขาวหม่น หรือขาวนวลอมเทา สปอร์มี รูปรีโค้ง สีขาว ขยายพันธุ์ด้วย สปอร์เกิดตามขอนไม้ผุที่มีความชื้น มีชื่อเรียกอีกคือ เห็ดกระด้าง, เห็ดขอน และ เห็ดบด (ภาษาอีสาน) ส่วนชื่อ "เห็ดลม" เป็นชื่อเรียกทางภาคเหนือ
ปัจจุบันมีการศึกษา พบว่า เห็ดบด มีกรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acid) และสารประกอบ Polysaccharides สามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้
ส่วนเห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.) สารประกอบสำคัญที่ค้นพบในเห็ดหลินจือ ได้แก่ 1. Polysaccharides ช่วยกระตุ้นหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันโรค เช่น macrophage และ T-Cells รวมทั้งเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (แอนติบอดี้) เพื่อต่อสู้กับเซลล์แปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยทำความสะอาด และล้างพิษออกจากร่างกาย สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงตามธรรม-ชาติ เปลี่ยนเซลล์ที่ผิดปกติสู่เซลล์ปกติ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกายเพื่อต้านทานเชื้อโรค ดังนั้น จึงเป็น การสร้างเสริมสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงขึ้น
2.Triterpenoids มีรสขมฝาด เนื่องจากคุณสมบัติอันเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างเสริม แรงดันโลหิตและเพิ่มเม็ดเลือด Triterpenoids ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และระบบการไหลเวียนโลหิต และปกป้องร่างกายจากสารพิษและความเครียด
3.Adenosine ช่วยปรับปรุงการไหลเวียนโลหิต โดยยับยั้งมิให้เกล็ดเลือดรวมตัวกัน ซึ่งพบว่า เห็ดหลินจือ ช่วยปรับปรุงการทำงานของเซลล์ เม็ดเลือดแดงในการส่งถ่ายออกซิเจน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณสมบัติของAdenosine ใน เห็ดหลินจือ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล กระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญและสร้างเสริมกำลัง และความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
ดร.นิภาพร กล่าวอีกว่า งานวิจัยดังกล่าวใช้เวลาร่วม 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2550-2551 และเสร็จสิ้นเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้สามารถผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพในรูป "แคปซูล" จากสารสกัดเห็ดสมุนไพรได้แล้ว โดยทาง มทร.อีสาน ได้ทำการจดสิทธิบัตรไว้ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และทางเนเธอร์แลนด์ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการผลิต พร้อมรับซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสารสกัดเห็ดทั้ง 2 ชนิดทั้งหมด
ขณะนี้ทางคณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนครร่วมกับโรงพยาบาลพังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของสารสกัดเห็ดสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ทดลองใช้สารสกัดเห็ดสมุนไพรดังกล่าวในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงทั้งในผู้ป่วยเบาหวาน และในผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ซึ่งทาง มหาวิทยาลัยฯ มีโรงเพาะเห็ดทั้ง 2 ชนิดเอง ได้ผลิตอาหารเสริมจากสมุนไพรชนิดแคปซูลให้แก่ทางโรงพยาบาลเป็นประจำทุกเดือน
"อาหารเสริมจากสารสกัดเห็ดสมุนไพรดังกล่าวไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ติดเชื้อ HIV เท่านั้น แต่บุคคลทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง หรือปวดข้อ ปวดเข่า ก็สามารถช่วยได้ เพราะการมีไขมันในเลือดสูงทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา" ดร.นิภาพร กล่าว
ล่าสุดทาง มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตรับรองผลิตภัณฑ์จากองค์การอาหารและยา (อย.) จากนั้นจะตั้งโรงงานผลิตอาหารเสริมสารสกัดเห็ดสมุนไพร ดังกล่าวที่ อ.พังโคน จ.สกลนคร ซึ่งประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ให้งบประมาณสนับสนุนก่อสร้างโรงงานไว้แล้ว เพื่อผลิตสารสกัดสมุนไพรชนิด แคปซูลให้ประชาชนชาวไทยและทั่วโลกได้ใช้ต่อไป
"สารสกัดเห็ดสมุนไพรดังกล่าว ยังไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานลด ซึ่งคณะทรัพยากรธรรมชาติฯ และโรงพยาบาลพังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร จะได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป" ดร.นิภาพร กล่าว