xs
xsm
sm
md
lg

คำปฏิญาณอันศักดิ์สิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

คำปฏิญาณคือคำมั่นสัญญาที่ผู้กล่าวคำปฏิญาณประกาศให้ทราบว่าตนจะมีจุดยืนอย่างไรในประเด็นเรื่องที่ปฏิญาณนั้น ความหมายที่แท้จริงของคำปฏิญาณก็คือ การให้คำมั่นสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์และจริงจังว่า จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณอย่างเคร่งครัด ในแง่หนึ่งคำปฏิญาณคือคำสัญญาที่ให้ไว้เพื่อการแสดงความซื่อสัตย์สุจริตและความจงรักภักดี ในการที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญ ขณะเดียวกันคำปฏิญาณนั้นก็เป็นการให้คำสัญญากับตนเองว่า จะธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำปฏิญาณทุกคำพูด คำปฏิญาณจึงไม่ใช่ของที่ทำกันโดยไร้ความหมาย ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น คำปฏิญาณในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของไทย คำปฏิญาณของเหล่าอัศวินที่มีต่อพระมหากษัตริย์ที่กล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ ในวิหาร หรือในกรณีของญี่ปุ่นคือคำปฏิญาณของเหล่าสวามิน หรือผู้ครองแคว้นที่ปฏิญาณต่อโชกุน

ในกรณีของประเทศไทยนั้น คนทั่วไปที่อาราธนาศีลก็เท่ากับเป็นการปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามศีลห้า แต่คำปฏิญาณที่รู้จักกันตั้งแต่เด็กๆ คือคำปฏิญาณของลูกเสือ เริ่มจากคำขวัญที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” คงจำกันได้ว่า องค์พระประมุขได้ทรงมีพระราชดำรัสให้นึกถึงคำปฏิญาณในการปฏิบัติหน้าที่ และทรงเตือนให้ปฏิบัติตามคำปฏิญาณเมื่อเร็วๆ นี้ จะขอยกคำปฏิญาณต่างๆ มาแสดงให้เห็นดังต่อไปนี้

1. คำปฏิญาณของลูกเสือ

คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง


ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน

กฎของลูกเสือสำรอง มีดังนี้

ข้อ 1 ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง

ข้อ 2 ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่

คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่และวิสามัญ

ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

1. ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2. ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

3. ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่และวิสามัญ

ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้

ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ

ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น

ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก

ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย

ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์

ข้อ 7 ลูกเสือต้องเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ

ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์

ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

2. คำปฏิญาณในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อผู้ถวายสัตย์สาบาน) ขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณตัวต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางมหาสันนิบาตนี้ว่า

ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและต่อหน้าที่ จะปฏิบัติการทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่ หากข้าพระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติฝืนคำสัตย์ปฏิญาณนี้เมื่อใด ขอความวิบัติจงบังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อนั้นโดยฉับพลันทันที อย่าให้มีความสุขความสวัสดีด้วยประการใดๆ หากข้าพระพุทธเจ้าดำรงมั่นในสัตย์ปฏิญาณนี้ยั่งยืนไป ขออานุภาพพระรัตนตรัยและเทพยดาอารักษ์ พระสยามเทวาธิราช เป็นต้น จงบันดาลความสุขสวัสดีแก่ข้าพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความเจริญในหน้าที่ราชการ เป็นกำลังทะนุบำรุงประเทศชาติสืบไป ได้สมตามปณิธานปรารถนาจงทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

3. คำปฏิญาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกก่อนเข้ารับตำแหน่ง ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 123)

4. คำถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับตำแหน่งด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 175)

5. คำปฏิญาณของคณะตุลาการก่อนเข้ารับตำแหน่ง

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 201)

6. คำปฏิญาณของทหารในวันกองทัพไทย

พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล กระทำในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันกองทัพไทย และเดือนมกราคม เป็นเดือนที่ทหารใหม่ที่คัดเลือก เข้ารับราชการทหารได้รับการฝึกศึกษาฝึกบุคคลทำการรบและการฝึกภาคสนามเสร็จสิ้นแล้วพร้อม ที่จะทำการรบ เพื่อป้องกันประเทศชาติ และเป็นวันระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี ได้รับชัยชนะต่อข้าศึก

คำปฏิญาณของทหาร

ข้าพเจ้า (ชื่อและนามสกุล) ขอกระทำสัตย์ปฏิญาณว่า

ข้าพเจ้า จักยอมตาย เพื่ออิสรภาพ และความสงบแห่งประเทศชาติ

ข้าพเจ้า จักรักษาไว้ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้าพเจ้า จักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา

ข้าพเจ้า จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า

ข้าพเจ้า จะเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยยุติธรรม

ข้าพเจ้า จะไม่แพร่พรายความลับของราชการทหารเป็นอันขาด

7. คำปฏิญาณของทหารในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

คำถวายสัตย์ปฏิญาณตน ต่อหน้าพระพักตร์
ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำทุกปี มีใจความว่า “....ข้าพเจ้า จะยอมตาย เพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า จะจงรักภักดี และถวายความปลอดภัย ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จนชีวิตจะหาไม่ ....”

คำปฏิญาณเป็นคำสัญญาที่มีความผูกพันซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม ส่วนจะปฏิบัติได้แค่ไหนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน และขึ้นอยู่กับการเคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง และของวงศ์ตระกูล
กำลังโหลดความคิดเห็น