xs
xsm
sm
md
lg

อันดามันโชว์ความพร้อมรับภัยสึนามิ เตรียมตั้งหอเตือนภัยเพิ่มอีก144หอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนหนึ่งในการซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหนีภัยสึนามิ ประจำปี 2551ใน 6 จังหวัดอันดามัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยเป็นอย่างดี
ศูนย์ข่าวภูเก็ต -อันดามันโชว์ความพร้อมรับมือภัยสึนามิ ทุกจังหวัดซ้อมหนีภัยพร้อมกัน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เผยหอเตือนภัยทั้ง 79 หอสามารถส่งสัญญาณเตือนได้ดีมีประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมตั้งเพิ่มอีก 144 หอ ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด หวังสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว

ภูเก็ตเป็นต้นแบบซ้อมหนีภัยสึนามิ

เมื่อเวลา 09.45 น. วานนี้( 7 ก.ค.) ใน 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหนีภัยสึนามิ ประจำปี 2551 พร้อมกัน โดย ที่ บริเวณปลายแหลมสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งกำหนดเป็นพื้นที่ต้นแบบในครั้งนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดสัญญาณเตือนภัยฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบหนีภัยสึนามิ ประจำปี โดยมีนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตการณ์

การฝึกซ้อมในครั้งนี้ ได้สมมติให้มีแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ขนาดความรุนแรง 8.5 ริกเตอร์ ที่ละติจูด 10.55 องศาเหนือ ลองจิจูด 93.50 องศาตะวันออก ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอ นายกเทศมนตรี อบจ. เตรียมความพร้อม หลังจากได้รับการยืนยันจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติว่า จะเกิดคลื่นสึนามิ จึงได้สั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ซึ่งที่บริเวณปลายแหลมสะพานหินมีกิจกรรมแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด การแข่งขันบาสเกตบอล ที่บริเวณโรงยิมฯ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแสนสุข ชุมชนสะพานหิน รวมทั้งเด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครภูเก็ตประมาณ 1,200 คน ได้วิ่งหนีภัยสึนามิมายังเวทีกลางสะพานหิน

ขณะที่จังหวัดกระบี่ ได้กำหนดบริเวณหมู่ที่ 2 ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นสถานที่ฝึกซ้อมอพยพหลบหนีภัยสึนามิ โดยมีนายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมกับจุดอื่นๆที่มีหอเตือนภัยอยู่ทั้งหมด 12 หอ ซึ่งการฝึกซ้อมครั้งนี้มีประชาชนและเด็กนักเรียนในพื้นที่เข้าร่วมฝึกซ้อมประมาณ 1,000 คน

นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า หอเตือนภัย ที่ทำการฝึกซ้อมของจังหวัดกระบี่ จำนวน 12 หอ และได้ทำการทดสอบสัญญาณเสียงของหอเตือนภัย ที่จัดสร้างโดยจังหวัดกระบี่ อีกจำนวน 5 แห่ง จาก 20 หอ ซึ่งทุกแห่งที่ได้ทดสอบสัญญาณเสียงพบว่า ดังชัดเจนทุกหอ ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถแจ้งเตือนได้ทั้ง 20 หอ เนื่องจากไม่สามารถแจ้งประชาชนได้ทัน เกรงว่าเมื่อเปิดสัญญาณโดยที่ไม่ได้แจ้งเตือนล่วงหน้า จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกได้

ชาวน้ำเค็มตื่นตัวซ้อมหนีสึนามิ

ส่วนที่จังหวัดพังงา ที่โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่ง ที่มีการซ้อมอพยพหลบภัยสึนามิแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากเป็นชุมชนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดย 18 หอเตือนภัยได้เปิดสัญญาณทันทีหลังได้รับข้อมูลว่าจะเกิดสึนามิ ซึ่งการฝึกซ้อมเป็นไปด้วยดี มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คัน

นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่าจากการที่มาสังเกตการณ์การฝึกซ้อมการอพยพหลบภัยสึนามิแบบเต็มรูปแบบที่จัดขึ้นในวันนี้ รู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งผลของการซ้อมดังกล่าวประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีความเข้าใจในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ซึ่งกการซ้อมในครั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์ถ้าเกิดเหตุขึ้นจริง จะทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

ระนองหอดังทั้ง5จุดแต่เสียงเบาและสั้น

ในด้านจังหวัดระนอง ได้ฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิเต็มรูปแบบให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่อ.กะเปอร์ และสุขสำราญ จำนวน 5 จุด คือ บ้านทะเลนอก หมู่ที่ 1 บ้านทับเหนือ(หาดประพาส)หมู่ที่ 2 บ้านหาดทรายขาว หมู่ที่ 7 ตำบลกำพวน บ้านแหลมนาว หมู่ที่ 6 ต.นาคา อ.สุขสำราญ และบ้านบางเบน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ และอีก 1 จุดที่ยังไม่มีการติดตั้งหอเตือนภัย แต่ใช้การส่งสัญญาณแบบมือหมุนที่ โรงเรียนบ้านปากน้ำ หมู่ที่ 1 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง

จุดหลักการซ้อมอยู่ที่บ้านทับเหนือ หรือหาดประพาส อ.สุขสำราญ ซึ่งทันที่เสียงสัญญาณเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิจากหอเตือนภัยดังขึ้น นักเรียนและประชาชน ได้วิ่งอพยพขึ้นไปยังที่ปลอดภัยซึ่งเป็นอาคารของสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งทะเลอันดามัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ระยะเวลาในการวิ่งประมาณ 7 นาที และภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมได้มีการประชุมเพื่อประเมินผลในทันที

นางกาญจนาภา กี่หมัน ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า สัญญาณที่ส่งจากหอเตือนภัยเสียงเบาเกินไป และสัญญาณดังเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่เร้าใจ และการพูดเตือนถึง 5 ภาษากว่าจะครบก็ใช้เวลานาน และการส่งสัญญาณครั้งที่สองออกมาก็ทิ้งช่วงเวลานานห่างจากครั้งแรกเกินไป ประชาชนก็อพยพกันหมดแล้ว คิดว่าในช่วงที่รอสัญญาณครั้งที่สองควรจะมีการพูดเตือนประชาชนถึงวิธีการปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ตกใจ และหากเกิดเหตุการณ์สึนามิในช่วงกลางคืนเสียงที่ปล่อยออกมาประชาชนที่กำลังนอนหลับคงจะไม่ได้ยินอย่างแน่นอน คิดว่าน่าจะมีการปรับระดับเสียงให้ดังขึ้นเพื่อให้ได้ยินชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้อนุมัติให้ติดตั้งหอเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ เพิ่มเติมตามข้อเสนอของจังหวัดอีก 4 จุด คือ บ้านปากคลอง หมู่ที่ 1 ต.ปากน้ำ อ.เมือง ท่าเรือบ้านท่ากลาง หมู่ที่ 4 ต.กำพวน บ้านบางมัน หมู่ที่ 1 ต.นาคา ท่าเรือบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ต.นาคา อ.สุขสำราญ งบประมาณทั้งสิ้น 9,200,000 บาท สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยอื่น ๆ ที่เหลืออีกประมาณ 6 จุดจังหวัดจะได้เสนอของบประมาณในการติดตั้งหอเตือนภัยต่อไป

”สุวิทย์” พอใจ-สั่งให้ซ้อมต่อเนื่องทุกปี

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การซ้อมแผนหนีภัยสึนามิในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจมาก มีเพียงการปรับปรุงในเรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และทรัพย์สินเสียหายในช่วงการอพยพเท่านั้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการซ้อมใหญ่นั้น จำเป็นที่จะต้องฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกซ้อมกันทุกปี เพราะการฝึกซ้อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ รวมไปถึงการฝึกซ้อมดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้กับภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันทั้ง 6 จังหวัด และจะต้องสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สำหรับการเตรียมความพร้อมของหอเตือนภัยทั้ง 79 หอในฝั่งอันดามัน ขณะนี้ศูนย์เตือนภัยฯได้มีการจัดซื้อจัดจ้างการติดตั้งหอเตือนภัยเพิ่มอีก 144 หอในฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด คาดว่าจะดำเนินการติดตั้งให้เสร็จภายใน 1 ปี รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการฝึกซ้อมภัยจากแผ่นดินไหวในภาคเหนือ เพราะขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยๆ และย้ำว่าระบบเตือนภัยของไทยดีที่สุดในขณะนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น