การฝึกซ้อมเตือนภัย อพยพหลบภัยสึนามิ 2551 อย่างเต็มรูปแบบกำลังจะเริ่มต้นในวันที่ 7 ก.ค.นี้ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล แผ่นดินที่เคยได้รับความเสียหาย ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็มีการซ้อมเตือนภัย และอพยพเรื่อยมาทุกปีเพื่อปรับปรุง และหาจุดบกพร่องของระบบการเตือนภัยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมกับภัยพิบัติทุกเมื่อ
ดร.ทวิดา กมลเวชช ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ความหมายของภัยพิบัติว่า สึนามิเป็นภัยพิบัติที่ทำให้เห็นตัวอย่างของการบริหารจัดการภัยในไทยได้ชัดเจนที่สุด โดยบทเรียนเมื่อ 3 ปีที่แล้วทำให้ได้เรียนรู้ว่าการจัดการด้านภัยพิบัติของไทยยังมีช่องโหว่ เนื่องจากในสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันแม้จะอยู่ในภูมิภาคเดียวกันแต่เมื่อเกิดภัยขึ้นไทยกลับมีวิธีเข้าจัดการเพียงวิธีการเดียว และการขยายเครือข่ายการช่วยเหลือยังกระจายแบบขาดการเชื่อมต่อจัดอยู่ในประเภทต่างคนต่างช่วยกันอยู่
ที่สำคัญคือ พ.ร.บ.ป้องกันฝ่ายพลเรือนปี 2522 ที่ล้าสมัยไม่เข้าเหตุการณ์ทำให้การออกคำสั่งล่าช้า แต่ปัจจุบันไทยมีพ.ร.บ.ป้องกันฝ่ายพลเรือน ปี 2550 ฉบับใหม่ที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการขอความช่วยเหลือจากทหารได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะทำให้การดำเนินการช่วยเหลือเป็นไปอย่างคล่องตัวขึ้น
“สึนามิที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าหน่วยกู้ภัยหรือกองกำลังกู้ชีพของไทยทำงานได้ดีแสดงให้เห็นถึงการฝึกซ้อมเตรียมพร้อมที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาอยู่ที่ยังไม่มีการซ้อมร่วมกันระหว่างหน่วยกู้ภัยแต่ละหน่วย เช่น หน่วยแพทย์ หน่วยเก็บกู้ หน่วยกู้ชีพ และการเรียนรู้ข้ามสายงานก็ยังไม่มี ซึ่งหากกรณีที่หน่วยแพทย์ไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่พอ ก็น่าจะมีหน่วยอื่นทำงานแทนได้ การซ้อมร่วมจึงจำเป็นและจะช่วยเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ต้องมีหน่วยสำรองพร้อมไว้ตลอดเวลาด้วย หากมีการเชื่อมต่อแบบนี้แล้ว ถ้าขาดหน่วยใดหน่วยหนึ่งโครงสร้างเครือข่ายก็จะไม่สะดุด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้บ้านเราต่างจากที่อื่นๆ คือ ในชุมชนไทยมีวัดซึ่งมีอาหาร มีที่หลบภัย และมีที่พึ่งพิงด้านจิตใจ แน่นอนว่าวัดน่าจะอยู่ในสารระบบของเครือข่ายการช่วยเหลือด้วย”
นอกจากนี้ เครือข่ายสำคัญที่จะทำให้การจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพจะขาดไม่ได้ซึ่งเครือข่ายชุมชน อันเป็นกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์และเขาเหล่านี้ก็สัมผัสกับสภาพพื้นที่ทุกวัน การสังเกตและแนวทางปฏิบัติในการป้องภัยนั้นสามารถทำได้อย่างถูกต้องหากได้รับการช่วยเหลือเอื้ออำนวยจากภาครัฐ
“ขณะนี้เราได้เตรียมการกับคนในพื้นที่ภาคใต้คือ จะมีกระเป๋าหนึ่งใบที่ภายในบรรจุอาหาร ยา สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และเครื่องมือยังชีพเมื่อเกิดภัย กรณีนี้เป็นการอุดช่องโหว่ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2547 ที่ความช่วยเหลือไม่ถึงมือชาวบ้าน และผู้เดือดร้อนไม่มีหลักฐานแสดงตัว กระเป๋าใบนี้จะต้องติดตัวผู้ประสบภัยตลอดหลังจากสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นให้พวกเขาหยิบกระเป๋าออกมา เมื่อมีหลักฐานก็สามารถรับการช่วยเหลือได้ทัน”
สุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อธิบายถึงการซ้อมเตือนภัยใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันว่า จากข้อบกพร่องด้านการบริหารจัดการในเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47 และการซ้อมในปีที่ผ่านๆ มาหลายเรื่อง แม้บางปัญหาจะได้รับการแก้ไขบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่สมบรูณ์ แต่กระนั้นภาพรวมของการสร้างองค์ความรู้ระหว่างนักวิชาการ ชาวบ้าน การให้การศึกษาในโรงเรียนก็มีให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการเตือนภัยในระดับภูมิภาค และนานาชาติ ทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น และฮาวายก็ได้รับความร่วมมือเป็นลำดับ ซึ่งนับว่ามีความพร้อมในการรับมือกับภัยระดับหนึ่ง
“ปัญหาต่างๆ เป็นที่มาของการสร้างระบบGIS หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศที่เข้ามาบริหารจัดการภัย และขณะนี้เรากำลังจะตั้งศูนย์การจัดการในตะกั่วป่า พังงา จัดเป็นโซน หนึ่ง สอง สาม สี่ ทำงานแบบกระจายตัว ซึ่งระบบแบบนี้ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าเขาจะทำงานในพื้นที่ไหน เราไปจัดการระบบก่อนที่มันจะเกิดเหตุ เพราะถ้าเกิดเหตุมาแล้วจะได้มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ง่ายและรวดเร็ว ถึงผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง”
ประธานฯศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ความมั่นใจว่า ระบบจีไอเอสจะเข้ามาจัดการระบบความช่วยเหลือด้านการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ที่ล่าช้าและป้องกันการทุจริตด้วย ซึ่งระบบนี้จะครอบคลุมถึงภัยพิบัติทุกประเภทไม่จำกัดแต่สึนามิเท่านั้น เพราะแม้ศูนย์เตือนภัยพิบัติจะเกิดมาจากเหตุการณ์สึนามิ ทว่าวันนี้เนื้องานได้รุกไปสู่ภัยอื่นอาทิ แผ่นดินไหว โคลนถล่ม น้ำท่วมมากขึ้น เหตุเนื่องจากแผ่นดินไหวในประเทศจีนทำให้ไทยต้องตื่นตัวเรื่องนี้ กอปรกับตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมามีแรงสั่นสะเทือนในภาคเหนือทั้งที่รู้สึกได้และรู้สึกไม่ได้กว่า 140 ครั้ง ทำให้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะมีการซ้อมเตือนภัย และหลบภัยในภาคเหนือด้วย
สำหรับการซ้อมเตือนภัยในวันที่ 7 ก.ค.นี้จะเกิดขึ้นเวลา 09.30-10.30 น. โดยจะซ้อมตั้งแต่การเปิดระบบเตือนภัยจากหอเตือนภัยทั้ง 79 แห่ง โดยสมมติเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน 8.5 ริกเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดสึนามิได้ ศูนย์เตือนภัยจะประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่ และให้สัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนอพยพตามแผนปฏิบัติการ โดยแจ้งผ่าน เอสเอ็มเอส วิทยุ และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ซึ่งการทดลองจะทำให้รู้ว่าชาวบ้านจะต้องทำอย่างไรบ้าง เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ จุดใดคือจุดปลอดภัย และจุดรวมคนเพื่อรอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้อยากให้คนนอกพื้นที่ได้รับชมการถ่ายทอดสดเพราะจะทำให้รู้ทางหนีทีไล่ แม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
“การซ้อมการเตือนภัยเป็นการเตรียมการที่สามารถทำได้ก่อนเหตุจะเกิด และทำให้เกิดการเชื่อมั่นทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวก็จะเกิดความเชื่อมั่นว่าไทยมีระบบการบริหารจัดการและระบบเตือนภัยที่ดี ซึ่งจะสร้างความสบายใจได้ และภายหลังการซ้อมใหญ่ครั้งนี้ก็จะประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีสรุปทิ้งท้าย