xs
xsm
sm
md
lg

6 จังหวัดอันดามันวางแผนเตรียมซ้อมหนีภัยสึนามิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวถูเก็ต - 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันกำหนดแผนฝึกซ้อมหนีภัยคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดร่วมกัน โดยจะใช้ภูเก็ตเป็นต้นแบบ รองอธิบดีกรมป้องกันภัยระบุประชาชนทุกพื้นที่เสี่ยงต้องมีส่วนร่วม ชี้ถ้ามีคลื่นยักษ์ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกถล่ม

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่โรงแรมเมโทรโพล จังหวัดภูเก็ต นายพงษ์เผ่า เกษทอง รองธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรียกประชุมด่วนหัวหน้าสำนักงานปัองกันและบรรเทาสาธารณะภัย 6 จังหวัดอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์เตื่อนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อกำหนดการฝึกซ้อมแผนหนีภัยคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว และเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับเหตุการณ์

เนื่องจากปัจจุบันนั้นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดเกิดขึ้นในประเทศพม่ามีผู้เสียชีวิตเพียงประเทศเดียวหลายหมื่นคน เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากเนื่องจากสภาวะโลกร้อนทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงมากหลายเท่าตัว

ที่ประชุมได้สรุปว่าจะทำการซ้อมแผนใหญ่ทั้ง 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 79 หอเตือนภัย พร้อมกันในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดต้นแบบในการฝึกซ้อม ซึ่งจังหวัดภูเก็ตจะมีจุดซ้อมใหญ่ที่บริเวณสวนสาธารณะสะพานหิน เป็นศูนย์กลางในการซ้อม ส่วนจังหวัดอื่นๆ ให้ทำการซ้อมที่หอสัญญาณเตือนภัยทุกแห่ง โดยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 79 หอจะต้องทำการซ้อมแผนหนีภัยสึนามิทุกคน เพราะจุดที่มีการตั้งหอสัญญาณเตือนภัยถือว่าเป็นจุดเสี่ยงภัย

แต่ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่จะไม่ได้ออกมาร่วมในการซ้อมแผนหนีภัย เพราะฉะนั้น ในการซ้อมแผนในครั้งนี้รัฐบาลกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนในทุกพื้นที่มีหน้าที่ในการเข้าร่วมซ้อมแผนเพื่อจะได้ลดความเสี่ยงเมื่อมีเกิดเหตุการณ์ขึ้น เพราะหากไม่มีการซ้อมแผนเวลาเกิดเหตุการณ์จริงประชาชนจะทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ทราบจุดที่จะหนีและจุดหลบภัย

ในการซ้อมครั้งนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ที่จะได้ทราบขั้นตอนในการอพยพว่าจะอพยพไปทางไหน ไปอยู่ที่ไหน เพราะหากมีคลื่นยักษ์จริงจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่จะถูกถล่มและมีเวลาอพยพประชาชนเพียง 15-20 นาทีเท่านั้นถือว่าน้อยมาก โดยศูนย์เตรียมภัยพิบัติแห่งชาติสนุบสนุนงบประมาณในการฝึกซ้อมหอละ 1 พันกว่าบาท

ด้าน น.อ.ศรัณย์ ทัพหะสุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติฝ่ายปฎิบัติการ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวถี่มากขึ้น ในฝั่งทะเลอันดามันทางศูนย์ได้มีการเฝ้าระวังตลอดเวลาและหากเกิดแผ่นดินไหวเกิน 7 ริกเตอร์ ทางศูนย์จะต้องแจ้งเตือนภัยให้จังหวัดต่างๆ เฝ้าระวังทันทีและหากมีการอพยพประชาชนจะมีเวลาหนีภัยประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก่อนคลื่นมาถึงทุ่นเตือนภัยในมหาสุมทร์อินเดีย ซึ่งการแจ้งเตือนครั้งแรกจะยังไม่ทราบว่ามีคลื่นสึนามิที่เป็นอันตรายต่อประชาชนหรือไม่

แต่หากให้คลื่นผ่านทุ่นไปเราจะมีเวลาแจ้งเตือนภัยน้อยลงเหลือเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น แต่เราจะทราบว่ามีคลื่นสึนามิที่จะต้องอพยพหรือไม่อพยพทันทีแต่เวลาเหลือน้อยลง ฉะนั้น การซ้อมแผนจึงเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลและศูนย์เตือนภัยเห็นว่ามีความจำเป็นที่ประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้าร่วมในการซ้อมแผนมนครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น