xs
xsm
sm
md
lg

อดีตบิ๊ก พ.พ.จวกแผนพลังงานรัฐ แนะรัฐกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "สิริพร" อดีตบิ๊กพ.พ.จวกนโยบายพลังงานรัฐไร้ความชัดเจน ทำภาคเอกชนสับสน แนะควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วทำอย่างจริงจัง ไม่อ่อนไหวง่าย โดยใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือและให้เวลาภาคเอกชนเดินไปตามนั้น ด้านซี.พี.ฟุ้งยุทธศาสตร์ประหยัดพลังงานของ”เจ้าสัวธนินท์”ที่วางไว้บรรลุเป้าหมาย ประหยัดเงิน 1.5 พันล้านในช่วง4ปีที่ผ่านมา

นางสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะที่ปรึกษาเครือเจริญ โภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤตพลังงานของประเทศที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงคงแก้ไขไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน แม้ว่าจะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเอง แต่ก็ยังจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเพื่อมาใช้ผลิตสินค้า โดยพบว่าการใช้พลังงานส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2ภาค คือภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง สัดส่วนใกล้เคียงกันภาคละ 36-37% ซึ่งวันนี้ภาครัฐไม่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับภาคขนส่งในะระยะยาว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้มีการประหยัดพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ดังนั้น สิ่งสำคัญของภาครัฐในวันนี้ คือต้องกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้ชัดเจน เพื่อให้เอกชนเดินไปตามนโยบายที่กำหนด โดยจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการผลักดัน ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯจะให้เงินอุดหนุนทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเอทานอลที่ผลิตได้ทุกลิตร หรือบราซิลจะใช้มาตรการลดภาษีรถยนต์มากสำหรับรถที่ใช้เอทานอลสูง โดยมีเวลาอุดหนุนที่แน่นอน ต่างจากรัฐบาลไทยที่ออกนโยบายกลับไป กลับมาในช่วง 2ปีนี้ ทำให้เอกชนสับสนไม่กล้าลงทุน เนื่องจากกังวลว่านโยบายรัฐจะเปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม หากรัฐต้องการส่งเสริมเอทานอลเพื่อผสมเป็นอี 20 หรืออี 85 ก็ควรพิจารณาความพร้อมด้านวัตถุดิบ อาทิ อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งพบว่าผลผลิตอ้อยต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง การพัฒนาพันธุ์ยังเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยแข่งขันตลาดโลกได้ นอกจากนี้ควรที่คณะทำงานทั้ง 3 ฝ่าย คือภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อกำหนดสัดส่วนการนำวัตถุดิบมาผลิตเอทานอล และที่เหลือนำไปใช้ผลิตน้ำตาล โดยยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาล 70 : 30

นางสิริพร กล่าวว่านโยบายภาครัฐที่กำหนดราคาก๊าซหุงต้ม 2 ราคาสำหรับกลุ่มครัวเรือน และภาคขนส่ง-อุตสาหกรรมนั้น เรื่องนี้รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการลักลอบใช้ผิดประเภท ขณะเดียวกันราคาก๊าซหุงต้มที่ต่ำ ทำให้ประชาชนยังคงหันมาใช้กันมากขึ้นโดยไม่รู้จักประหยัด และรัฐเสียโอกาสในการส่งออกก๊าซหุงต้มในราคาที่สูง หากมองอีกมุมหนึ่ง รัฐอาจส่งเสริมให้ส่งออกก๊าซหุงต้ม แล้วนำส่วนต่างราคามาชดเชยให้กับภาคครัวเรือนก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

"ที่ผ่านมา นโยบายรัฐไม่มีความชัดเจน ขาดการบูรณการ ต่างคนต่างทำ เช่น การส่งเสริมอี 85 ของกระทรวงพลังงาน แต่คลังกลับใช้ภาษีจูงใจเท่ากับอี 20 เปรียบเป็นเรือก็เท่าพายคนละทาง "

นางพัชรี คงตระกูลเทียน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ซี.พี.ได้มีการวางยุทธศาสตร์การประหยัดพลังงาน โดยตั้งคณะกรรมการประสานงานรณรงค์ประหยัดพลังงานตามนโยบายของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีเป้าหมายการลดพลังงานลง 20% โดยทุกกลุ่มธุรกิจได้ร่วมมือประหยัดพลังงาน โดยมีการใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรมาผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงชีวมวลมาใช้ทดแทนน้ำมันเตา นำน้ำมันใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ฯลฯ ทำให้ปัจจุบันเครือซี.พี.ได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึง 1.5 พันล้านบาท ขณะที่ใช้เงินลงทุนไปเพียง 500 ล้านบาทในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในอนาคต เครือฯ มีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานควบคู่กับการใช้นวตกรรมใหม่ๆในการประหยัดพลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตอย่างจริงจัง โดยคำนึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพลังงานทดแทนอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น