xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าสัว "ธนินท์" สอนมวย "สมัคร" แก้วิกฤติอาหารโลก-ข้าวแพง แนะขึ้นเงินเดือนและค่าจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าสัวใหญ่ ซีพี ชี้วิกฤติอาหารโลก ถือเป็นโอกาสทองของสินค้าเกษตรไทย พร้อมแนะรัฐบาลปรับขึ้นเงินเดือน และค่าจ้าง ให้สมดุลกับค่าครองชีพ ไม่ใช่กลัวแต่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ด้านแบงก์ชาติ ระบุ ปัญหาข้าวแพง กระทบค่าครองชีพของประชาชนแค่ 2.5% แต่อาจกระทบสินค้าตัวอื่นๆ ชี้ข้าวไทยส่งออกได้แค่ 4 พัลล้านดอลลาร์เท่านั้น

วันนี้(24 เม.ย.) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นวิกฤตอาหารของโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นโอกาสของไทย ทั้งนี้ รัฐไม่ควรเข้าไปควบคุมราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ขึ้นราคา ตรงกันข้ามยิ่งต้องพยายามทำให้สินค้าเกษตรมีราคาแพงขึ้น เพราะยิ่งแพง เกษตรกรยิ่งรวย และมีเงินสำหรับใช้จ่าย ซึ่งจะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต

สำหรับประเด็นปัญหาทางการเมือง นายธนินท์ แสดงความเห็นว่า ภาคการเมืองจะยุ่งก็ยุ่งกันไป แต่อย่ามาทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พร้อมระบุถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ได้แก่ เรื่องเงินเดือนของข้าราชการ และค่าแรงของผู้ใช้แรงงาน ที่ปรับตัวไม่ทันกับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

"รัฐบาลควรรีบขึ้นเงินเดือน และค่าแรงให้สมดุลกับราคาสินค้าที่ขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อ เพราะถ้าหากทั้งสองข้างสมดุลกัน เรื่องเงินเฟ้อก็ไม่น่าห่วง และยังจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เพิ่ม สามารถนำไปพัฒนาระบบชลประทานเพื่อให้ภาคเกษตรกรรม เติบโตขึ้นไปอีก"

นายธนินท์ ยังระบุอีกว่า เมืองไทยจะไม่วุ่นวายหากนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) กล้าที่จะปรับขึ้นฐานเงินเดือนและค่าแรง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน เมื่อคนในเมืองไม่เดือดร้อน ข้าราชการมีเงิน เกษตรกรมีเงิน ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดการลงทุน และเพิ่มผลผลิต" นายธนินท์ กล่าวทิ้งท้าย

**แบงก์ชาติ ชี้ข้าวแพงกระทบค่าครองชีพ 2.5%

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงปัญหาราคาข้าวที่แพงขึ้นในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนแค่ 2.5% เท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ที่ต้องใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ พร้อมยอมรับว่า ปัญหาราคาข้าวและราคาน้ำมันเป็นปัจจัยลบที่ควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำปัจจัยภายในประเทศให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมปัจจัยภายนอกที่เป็นปัจจัยลบส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

นางอัจนา แสดงความกังวลปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐ ซึ่งไทยคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะอาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียรุนแรงมากกว่าที่คิดไว้

"สิ่งที่ต้องทำ คือการดูแลปัจจัยภายในประเทศ โดยการดำเนินนโยบายการคลังให้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญคืออย่าชะล่าใจว่า ภาคการส่งออกของไทยดีแล้ว เพราะแค่เห็นว่าข้าวไทยส่งออกได้ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่งออกได้ถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าตรงจุดนี้วูบไป แม้กระทั่งการส่งออกข้าวและสินค้าอื่นๆ ก็ช่วยไม่ได้เหมือนกัน" นางอัจนา กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น