"เจ้าสัวใหญ่ ซีพี" แนะทฤษฎี 2สูง แก้ปัญหาศก. ต้องดันเงินเดือน-ค่าจ้าง เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมัน พร้อมไปกับดันราคาสินค้าเกษตรไปด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยับตัวไปได้ โดยไม่ต้องกังวลปัญหาเงินเฟ้อ แนะตัวอย่างการแก้ปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่นเปรียบเทียบ พร้อมระบุ การชุมนุมของประชาชน ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ
วันนี้ (2 พ.ค.) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวในการสัมมนา "ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดของประเทศ” โดยกล่าวถึงการใช้ทฤษฎี 2 สูง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องเร่งผลักดันเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงงานให้สูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมัน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เพราะภาวะเงินเฟ้อหมายความว่าประชาชนมีเงินแต่ซื้อของไม่ได้ ดังนั้นควรปล่อยให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามความเป็นจริงและช่วยให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นไปพร้อมๆ กัน
นายธนินท์ ยกตัวอย่ากรณีของรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นรัฐบาลที่จนที่สุด เนื่องจากมีหนี้มากที่สุด โดยเป็นหนี้กับประชาชน ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้ในโลก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นฉลาดปล่อยให้ราคาสินค้าแพง เงินเดือนสูง ญี่ปุ่นใช้ทฤษฎีนี้คือพยายามทำให้ประชาชนมีเงินเหลือ ซึ่งประชาชนจะประหยัดการใช้เงินโดยอัตโนมัติเนื่องจากของแพง นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้กู้เงินจากประชาชน ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐตระหนักว่าเงินมาจากการกู้ยืมจากประชาชน
ส่วนทฤษฎี 2 ต่ำนั้นไม่มีประเทศไหนนำไปใช้แล้วมั่งคั่ง ทฤษฎีนี้ถูกนำไปใช้ในประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน และรัสเซีย ซึ่งตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนเป็น 2 สูงหมดแล้ว เพราะ 2 ต่ำทำให้ประชาชนเกียจคร้าน แต่ 2 สูงทำให้ประชาชนมีทางเลือก มีเงิน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีก็เกิดขึ้น และในที่สุดราคาสินค้าเกษตรจะถูกลงมาเองตามธรรมชาติ อย่างเมื่อก่อนไก่เป็นอาหารคนรวย แต่ตอนนี้ไก่กลับมีราคาถูกกว่าหมู เนื่องจากรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงราคา ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี ต้นทุนต่ำลง คนกล้าลงทุนมากขึ้น
นายธนินท์ กล่าวว่า ปัจจุบันถือเป็นยุคทองทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาดีแต่ทำไมชาวนาจึงยากจน ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลหากราคาข้าวจะถูกลงต้องให้ราคาน้ำมันลดลงก่อน เพราะอาหารมนุษย์จะมีราคาถูกกว่าอาหารของเครื่องจักรได้อย่างไร
"ข้าวจะไม่มีทางถูกลงยกเว้นราคาน้ำมันลดลง หรือผู้บริหารประเทศบริหารผิดพลาด เพราะหากข้าวมีราคาถูก ชาวนาไปปลูกมันสำปะหลังหรือยางพาราดีกว่า เนื่องจากขายได้ราคาดีกว่า ทำให้วันหนึ่งประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ที่ดินที่ปลูกข้าวสามารถนำไปใช้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ ได้ แต่ที่ดินที่ปลูกพืชอย่างอื่นไม่สามารถนำมาใช้ปลุกข้าวได้"
ปัจจุบันทั่วโลกมีการบริโภคข้าวมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณ 9 ล้านตันต่อปี และทุกปีจะมีผู้บริโภคข้าวเพิ่มขึ้นจนผลิตแทบไม่ทัน แต่จะทำอย่างไรให้ข้าวมีราคาแพงขึ้น รัฐบาลต้องจัดกลุ่มเจรจากับคนซื้อข้าว และร่วมมือกับประเทศที่ปลูกข้าว เช่น เวียดนาม จีน และอินเดีย เพื่อทำข้อตกลงว่าจะขายข้าวราคาเท่าไหร่
นายธนินท์ ชี้ว่าผู้ขายข้าวต้องเป็นผู้กำหนดราคาขาย ไม่ใช่ให้ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคาขาย นอกจากนี้ เราต้องช่วยกันซื้อแพงและขายแพง โดยประเทศไทยควรเก็บสต็อกข้าวไว้ประมาณ 5 ล้านตัน และส่งออก 4 ล้านตัน เพราะเท่ากับเราจะมีข้าวฟรีเก็บไว้ตลอดเวลา
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า หากมีความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตข้าวแล้ว ข้าวที่เหลือก็สามารถนำไปแปรรูปได้ ขอให้ไปศึกษาดูว่าในโลกนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีประเทศใดบ้างที่แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรให้ถูกลง มีแต่อุดหนุนให้ราคาเกษตรมีราคาแพงขึ้น เพราะหากรัฐบาลนำเงินไปทำให้สินค้าเกษตรถูกลง เกษตรกรก็ไม่มีเงินใช้สอยจับจ่ายส่งผลให้ธุรกิจ บริการ การค้าไม่หมุนเวียน สุดท้ายโรงงานปิด แต่หากประชาชนมีเงินใช้สอย ธุรกิจทุกอย่างจะขับเคลื่อนตามไปด้วย สุดท้ายรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มอย่างทวีคูณ มีการจ้างงานเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน หรือเกษตรกรสามารถกลายเป็นนักธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายเกษตรกรจะร่ำรวยขึ้น
"เทคโนโลยีทางการเกษตรมีความก้าวหน้าระดับโลกแล้ว หากรัฐบาลไม่เข้ามาควบคุมราคารับรองว่าสินค้าเกษตรจะไม่ขาดแคลน แต่ถ้ารัฐบาลเขามาควบคุมราคาแล้วของจะไม่มี ราคาสินค้าจะดิ่ง นักลงทุนจะไม่กล้าลงทุน และแบงก์จะไม่อยากปล่อยกู้"
นอกจากนี้ นายธนินท์ ยังประกาศสนับสนุนให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และศึกษาเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมพืช (GMO) อีกด้วย
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่อาจเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบ้าง