xs
xsm
sm
md
lg

เดชไอ้หอกหัก!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ตอบการอภิปรายทั่วไป และการอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาลในสัปดาห์นี้ต้องถือว่า “สอบตก”

เพราะแทนที่นายสมัครจะตอบคำถามให้ตรงประเด็น กลับใช้ท่วงทำนองเฉไฉเบี่ยงเบนประเด็นให้น้ำหนักส่วนใหญ่ในเรื่องไร้สาระ ตอบเรื่องสำคัญแต่เพียงเล็กน้อย และเรื่องที่ตอบเพียงเล็กน้อยนั้นก็คลุมเครือและตะแบงอีกเสียด้วย

นายสมัคร ใช้เวลาตอบคำถามที่ให้น้ำหนักเรื่องต้นตระกูลของตัวเอง และอวดอ้างว่าตัวเองจงรักภักดี ทำงานเยอะแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องละราวกับ “เนื้อหา” ที่เขากำลังอภิปรายกัน

นายสมัคร ตอบคำถามสมาชิกรัฐสภาว่าตัวเองว่าไม่ได้พูดคำหยาบคายอะไร คำว่า “เฮงซวย” “กระเหี้ยนกระหือรือ” เป็นคำไม่หยาบคาย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ที่นายสมัครบอกว่า คำถามที่เคยถามนักข่าวว่า “คุณเสพเมถุนมาแล้วหรือยัง” นั้นเป็นคำไม่หยาบคาย ยังไม่นับคำว่า “ไอ้หอกหัก” ที่นายสมัครมักจะใช้อยู่เป็นประจำ

อีกหน่อยชาวบ้าน หรือข้าราชการ เจอหน้านายสมัครเมื่อใดอย่าลืมทักทายด้วยคำไม่หยาบคายในสายตานายสมัครให้เป็นกิจวัตรได้หรือไม่? ดังตัวอย่างเช่น

“สวัสดีครับ ท่านนายกฯ เมื่อคืนนี้กระเหี้ยนกระหือรือ ไปเสพเมถุนมาแล้วหรือยังครับ? ทำไมตอบคำถามในสภาฯ ได้เฮงซวยจริงๆ ไอ้หอกหัก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปราสาทพระวิหาร และเขาพระวิหารนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสูงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกลับตอบแบบไม่ได้เรื่องได้ราว

นายสมัคร ตอบในสภาฯ ว่าเราสูญเสียปราสาทพระวิหารไปนานแล้ว ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยในรอบ 46 ปี ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก โดยที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สงวนสิทธิ์ในการประท้วงคำตัดสินของศาลโลกเอาไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2505 ดังความปรากฏในคำประท้วงตอนหนึ่งว่า :

“คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทเกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม
แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ประเทศไทยไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก เพราะในยุคล่าอาณานิคมนั้นการล็อบบี้ของมหาอำนาจเป็นปัจจัยที่สำคัญ ไม่ได้มีการยืนหยัดในข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์ และหลักภูมิศาสตร์ว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตดินแดนของประเทศไทย รัฐบาลไทยในยุคนั้นจึงได้สงวนสิทธิ์ประท้วงเอาไว้ในทันทีด้วยเหตุผลที่ว่าศาลโลกทำผิดกฎหมาย ไม่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง และตั้งความหวังว่าจะสามารถทวงกลับคืนมาได้ในอนาคตในวันใดวันหนึ่ง

การสงวนสิทธิ์เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2505 จึงเท่ากับว่าอายุความในการต่อสู้ยังไม่หมด ดังนั้นแม้จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกแต่ประเทศไทยก็ยังไม่ยอมรับ ในยุคนั้นประเทศไทยจึงไม่ยอมลดธงชาติไทยลงจากปราสาทพระวิหาร แต่ได้ใช้วิธีขุดฐานเสาธงและยกเสาธงออกจากปราสาทพระวิหารอันเป็นการประกาศไม่ยอมแพ้ต่อการสูญเสียปราสาทพระวิหาร

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงกับออกแถลงการณ์ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2505 ด้วยน้ำตา ความตอนหนึ่งว่า :

“เหตุการณ์เกี่ยวกับเขาพระวิหารครั้งนี้ สลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคนไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และเป็นรอยจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไปตลอด เสมือนแผลที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งชาติ

ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า การมาพูดกับท่านด้วยน้ำตา น้ำตาของข้าพเจ้า เป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคับแค้น และการผูกใจเจ็บชั่วชีวิตชาตินี้และชาติหน้า ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย

พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย วันนี้เป็นวันหนึ่งและเป็นในวันข้างหน้า เราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา ให้เป็นของชาติไทยให้จงได้”


นายสมัครไม่ยอมตอบคำถามในรัฐสภาว่า ประเทศไทยได้สละสิทธิ์ในการโต้แย้งนั้นเป็นการถาวรแล้วใช่หรือไม่? ไม่แสดงจิตสำนึกของผู้นำประเทศที่คิดจะเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาแม้แต่น้อยใช่หรือไม่?

ในทางตรงกันข้ามกลับแสดงออกด้วยมติคณะรัฐมนตรี ด้วยคำพูดของนายกรัฐมนตรี และด้วยการลงนามข้อตกลงร่วมกับกัมพูชาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้กับกัมพูชาในรัชสมัยปัจจุบัน

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนายสมัคร สุนทรเวช จึงเป็นนายกรัฐมนตรีสองยุค ซึ่งมีท่าทีต่อการสูญเสียปราสาทพระวิหารและการปกป้องดินแดน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เพราะเป็นเช่นนี้ ประเทศกัมพูชาจึงได้จัดงานเฉลิมฉลอง 46 ปี เป็นครั้งแรก เพราะรัฐบาลไทยได้ประกาศยกปราสาทพระวิหารและผืนแผ่นดินไทยโดยรอบปราสาทให้กับกัมพูชาเป็นทางการเป็นการถาวรตลอดไป

นายสมัครอ้างว่ากรมสนธิสัญญากระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายทหารไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ดังนั้นจึงย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าประเทศไทยไม่ได้เสียดินแดนในการดำเนินการครั้งนี้

แต่ความเป็นจริงสิ่งที่นายสมัครพูดไม่ครบก็อยู่ตรงที่ รัฐบาลชุดนี้นี่เป็นฝ่ายโยกย้ายข้าราชการอธิบดีกรมสนธิสัญญาที่ต่อสู้เรื่องเขาพระวิหารให้พ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนโยกย้ายให้ พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนร่วมรุ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนที่จะนำเสนอแผนที่ใหม่ของกัมพูชาเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ยังมีคำถามที่ต้องขบคิดนอกเหนือไปจากการสละสิทธิ์ในการโต้แย้งในปราสาทพระวิหาร การยกดินแดนรอบปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชาเป็นการถาวรแล้ว ก็ยังต้องมาพิจารณาต่ออีกว่าการที่รัฐบาลไทยได้ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชานั้นได้รับแผนที่ในมาตราส่วนเท่าใด

เพราะการกำหนดการปักปันเขตแดน แผนที่ของประเทศไทยที่ใช้นั้นคือมาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ในขณะที่แผนที่ของกัมพูชานั้นได้ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 การยอมรับแผนที่ของกัมพูชานั้น อาจเป็นการยอมรับมาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ของประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อการปักปันเขตแดนไทยกับกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเลในอนาคตอันใกล้นี้

และข้อห่วงใยนี้ไม่ใช่มาจากใครอื่น แต่ปรากฏอยู่ในคำชี้แจงชุดสำรวจกรมแผนที่ทหาร ที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เขาพระวิหารในระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2551 ซึ่งได้รายงานข้อห่วงใยเรื่องนี้ให้กับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ


เพราะพื้นที่ทางทะเลที่มีก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจำนวนมากมายที่จะสามารถทำให้นักลงทุนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งปรากฏเป็นข่าวว่าจะไปลงทุนที่เกาะกงในฝั่งกัมพูชานั้นร่ำรวยเพิ่มมากขึ้นไปอีก หากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยนั้นมีการตกลงกันเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศกัมพูชา

รัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินการให้ประเทศไทยสละสิทธิ์ข้อโต้แย้งในพื้นที่ทับซ้อน และประกาศดินแดนเป็นครั้งแรกในรัชสมัยนี้ โดยไม่ต้องมีการลงพระปรมาภิไธย ใช่หรือไม่?

เป็นการดำเนินการที่ไม่เปิดเผยถามความเห็นประชาชนเป็นการล่วงหน้า เหิมเกริมถึงขั้นไม่สนใจกระบวนการและขั้นตอนที่ยกปราสาทพระวิหาร และดินแดนรอบปราสาทพระวิหารที่ต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ใช่หรือไม่?

คนไทยที่รักชาติรักแผ่นดินที่อดรนทนไม่ได้ จึงต้องออกมาชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สมาชิกรัฐสภาที่ยังรักชาติรักแผ่นดิน ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายค้านหรือรัฐบาล จึงต้องทำหน้าที่ขัดขวางเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด

คนไทยและผู้มีความรู้ด้านกฎหมายจะต้องหยุดยั้งมติคณะรัฐมนตรีที่มิชอบด้วยกฎหมายครั้งนี้ ทั้งการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และการขัดขวางการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศกัมพูชาจนถึงที่สุด

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และทหารหาญที่ยังมีความรักชาติรักแผ่นดิน ก็ต้องทำหน้าที่ในการปกป้องดินแดนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้........

ต้องมาร่วมกันไล่รัฐบาลหอกหักให้ได้โดยเร็ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น