xs
xsm
sm
md
lg

ควบ2บลจ.เครือทหารไทยดันTMBAMเป็นแกนหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์ทหารไทยจัดทัพ บลจ. ในเครือ จับ "บลจ.ทหารไทย" ควบ "บลจ.ไอเอ็นจี" หลังทิ้งหุ้น MFC หมดพอร์ตไปแล้วก่อนหน้านี้ คาด TMBAM เป็นแกนหลัก พร้อมดัน "โชติกา" นั่งเก้าอี้เอ็มดีต่อ ขณะที่ "สุภัค" ดิ้น ขอนั่งประธานแทนการหลุดจากตำแหน่งซีอีโอแบงก์ เผยหลังควบรวม พลิกสินทรัพย์โต 2.54 แสนล้านบาท ติดอันดับ 3

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกันในการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานภายใต้เครือธนาคารทหารไทย เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมี บลจ.ในเครือถึง 2 ราย จากการเข้ามาของบลจ.ไอเอ็นจี หลังจากกลุ่มไอเอ็นจีได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร

โดยเมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารทหารไทยเองได้ลดการถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ไปแล้ว โดยเป็นการขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ให้กับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอ็คคินซัน จำกัด (มหาชน) หรือ ASL ซึ่งเป็นการทยอยลดความซ้ำซ้อนในการมี บลจ. ในเครือถึง 3 บริษัทด้วยกัน และให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า การควบรวมกิจการดังกล่าว บลจ.ทหารไทยจะเป็นแกนในการจัดตั้ง เพราะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารทหารไทย โดยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จะยังเป็นนางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทยคนปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการสรรหาประธานบริษัทด้วย โดยรายงานข่าวระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ นายสุภัค ศิวะรักษ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยคนปัจจุบัน จะเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าว ส่วนนายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี นั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะนั่งตำแหน่งใด

โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายมาริษ ท่าราบ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้คำตอบว่า ยังไม่มีความเห็นใดๆ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่สามารถพูดอะไรได้

ขณะที่นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย กล่าวว่า การควบรวมระหว่าง บลจ.ทหารไทย กับบลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งธนาคารทหารไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้นน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ และคงต้องมีการรวบรวมข้อมูล พร้อมศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และผลประโยชน์ ด้านดีและเสียของเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วยังไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องของแบงก์แม่ในการดำเนินการดังกล่าว โดยอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจาก อาจติดในส่วนของผู้ถือหุ้นอื่นๆ ด้วย

“จะควบรวมกันหรือไม่ คงเป็นเรื่องของแบงก์แม่ แต่ถ้าบอกว่ามีโอกาสไหม ก็มีอยู่ ส่วนตัวแล้วไม่ทราบรายละเอียด แต่มีได้ยินมาว่า มีการวางแนวทาง และต้องดูด้วยว่าแผนดังกล่าวจะดีไหม ควรทำไหม น่าจะเป็นแบบนั้น”นางโชติกากล่าว

สำหรับการที่ธนาคารทหารไทยทำการขายหน่วยลงทุนให้กับ บลจ.ไอเอ็นจีด้วยนั้น คงไม่เกี่ยวข้องกับการควบรวมแต่อย่างใด เพราะธนาคารต่างชาติเองยังขายหน่วยลงทุนให้กับทุกบลจ. เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบลจ.ไอเอ็นจี และธนาคารทหารไทย เริ่มมีความร่วมมือกันมากขึ้นหลังจากกลุ่มไอเอ็นจีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยในวันที่ 12 มิถุนายน 2551 นับเป็นครั้งแรกของการเสนอขายกองทุนรวมทั่วไป ภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคารทหารไทย และนอกจากกองทุนรวมแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่นที่ครบวงจรนอกเหนือจากกองทุนรวมคือ การให้บริการด้าน กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย

ทั้งนี้ การควบรวมดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามคาด ถึงแม้ในช่วงแรกผู้บริหารของกลุ่มไอเอ็นจีเองจะระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็น เพราะทั้งสองบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ แต่การที่ผลิตภัณฑ์ทางด้านการลงทุนไม่มีความแตกต่างกันมาก จึงไม่จำเป็นต้องมีบลจ.ในเครือถึง 2 ราย และถึงแม้บลจ.ทหารไทยและบลจ.ไอเอ็นจี จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่หลังจากควบรวมกันแล้ว น่าจะช่วยเติมเต็มและสร้างผลิตภัณฑ์ทางด้านการลงทุนให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบัน บลจ.ทหารไทย มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) รวมทั้งสิ้น 131,859.83 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนในกองทุนรวม ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2551 ทั้งสิ้น 127,874.50 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 3,985.33 ล้านบาท (ณ เดือนเมษายน) ในขณะที่บลจ.ไอเอ็นจี มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 122,541.61 ล้านบาท โดยแยกเป็นกองทุนรวม 57,541.79 ล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 42,268.80 ล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคลรวม 22,731.02 ล้านบาท ซึ่งหากทั้ง 2 บริษัทควบรวมกันจะทำให้มีสินทรัพย์รวมประมาณ 254,401.44 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากมีการควบรวมและให้บลจ.ทหารไทยเป็นแกนแล้ว บลจ.ไอเอ็นจี อาจจะต้องคืนใบอนุญาติประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น