xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบในUSใช้กลโกงทำวิจัย“ตรึม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – การทำวิจัยด้วยกลโกงมิชอบต่างๆ ในบรรดาสถาบันของสหรัฐฯนั้น อาจจะมีเกลื่อนกล่นกว่าที่เราเคยคิดกัน เพราะจากผลสำรวจล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ราว 9 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า พวกเขาเคยพบเห็นด้วยตัวเอง ถึงเรื่องการปลอมงานวิจัย หรือทำวิจัยอันเป็นเท็จ หรือขโมยความคิดผู้อื่น อีกทั้งนักวิจัยเองก็ลังเลใจอย่างมากกับการรายงานการทำผิดพลาดของตน เพราะห่วงผลประโยชน์จะหลุดมือ
ผลสำรวจดังกล่าวตีพิมพ์ใน “เนเจอร์” วารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษฉบับกลางสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการสอบถามนักวิทยาศาสตร์ 2,212 รายประจำมหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัย 605 แห่งในสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาการแพทย์
การสำรวจพบว่างานวิจัยที่ต้องสงสัยว่าอาจมีการทำมิชอบลักษณะต่างๆ จำนวนถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยมีการรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นเพราะนักวิจัยกลัวเพื่อนร่วมงานแก้แค้น หรืออาจต้องการปกป้องเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเอาไว้ต่อไป
“เราพบว่ามีการประพฤติมิชอบในการทำวิจัย หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดการกระทำมิชอบ มากกว่าที่ใครจะเคยนึกถึงมาก่อน แล้วเรื่องแบบนี้ก็ไม่ได้มีการรายงานออกมา” เจมส์ เวลส์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายการวิจัย ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าว
“โดยปกติแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีใครสักคนที่ใกล้ชิดกับการวิจัยนั้นมากๆ ต้องสังเกตเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วพวกเขาก็จะต้องก้าวออกมาและรายงานเรื่องมิชอบต่อสถาบันของพวกเขาเพื่อจะได้มีการดำเนินการกันต่อไป แต่บ่อยครั้งทีเดียว พวกเขาอาจจะตกอยู่ในอันตรายก็ได้จากการที่ทำเช่นนั้น” เวลส์กล่าวต่อ
เวลส์และผู้เชี่ยวชาญอีกสองคนจากสำนักงานประสานงานการวิจัยในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนของสหรัฐฯ เป็นผู้ทำการสำรวจในครั้งนี้
ผลการสำรวจชิ้นนี้เผยแพร่ออกมา ในช่วงเวลาเดียวกับที่พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และฝ่ายอื่นๆ กำลังกังวลกันเกี่ยวกับความซื่อตรงในการทำวิจัยทั้งในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ ตลอดจนปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในทางการเงินของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับเงินจากทางบริษัทผู้ผลิตยา และการที่ผลการศึกษาวิจัยอาจถูกบิดเบือนไปตามอิทธิพลของแหล่งทุนวิจัยซึ่งมาจากอุตสาหกรรมยา
ดังเช่นกรณีวุฒิสมาชิกชาร์ลส์ แกรสลีย์ ที่กล่าวหา ดร.โจเซฟ บีเดอร์แมน จิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับพวกว่า ไม่เปิดเผยค่าตอบแทนที่มาจากบริษัทยาอย่างครบถ้วน เป็นต้น
เวลส์บอกว่าการสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2006 โดยไม่ได้มุ่งเฉพาะประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเงิน แต่ได้ขอให้นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพวกเขาเคยพบเห็นการกระทำใด ๆ ที่จะเข้าข่ายการกระทำมิชอบเกี่ยวกับการวิจัยตามคำนิยามของรัฐบาล เช่น การปลอมงานวิจัย การทำวิจัยอันเป็นเท็จ หรือขโมยความคิดผู้อื่น ในระหว่างที่ทำวิจัย หรือในการรายงานผลวิจัย หรือการขอทุนสนับสนุนงานวิจัย บ้างหรือไม่
ผลปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ 192 คน หรือราว 8.7 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคยพบเห็นหรือมีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับนักวิจัยในหน่วยงานของตนที่น่าสงสัยว่ากระทำมิชอบเกี่ยวกับการวิจัยในช่วงเวลาสามปีการศึกษาที่ผ่านมา และระบุการกระทำมิชอบ ถึง 265 กรณีด้วยกัน
ทว่า จากการประเมินทบทวน เวลส์และทีมงานพบว่ามีกรณีที่เข้าข่ายตามคำนิยามจริงๆ รวม 201 กรณี จากการระบุของนักวิทยาศาสตร์ 164 คน หรือราว 7.4 เปอร์เซ็นต์
การสำรวจคราวนี้บ่งชี้ว่า ในแต่ละปีน่าจะมีการกระทำมิชอบเกี่ยวกับการวิจัยมากกว่า 2,300 กรณีในสหรัฐฯ ดังนั้นการที่สำนักงานประสานงานการวิจัยได้รายงานการกระทำมิชอบเพียง 20 กว่ารายในแต่ละปี จึงเป็นเพียง “ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง” สำหรับปัญหานี้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น