xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

นโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ในปี 2550 ทั่วโลกมีการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานรวมประมาณ 136 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ยังนับว่าน้อยมาก คิดเป็นเพียงแค่ 1.2% ของปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินเท่านั้น โดยไทยนับเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2550 มีปริมาณการผลิตเฉลี่ยประมาณ 820,000 ลิตร/วัน

ความนิยมใช้เอทานอลได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด เพื่อมาใช้ทดแทนสาร Methyl Tertiary Butyl Ether (MTBE) ซึ่งใช้ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มออกเทน เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศได้สั่งห้ามใช้สารนี้โดยเด็ดขาด เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำใต้ดินและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงปรับเปลี่ยนมาเพิ่มออกเทนโดยใช้สาร ETBE ซึ่งผลิตจากเอทานอลเป็นการทดแทน

นอกจากการนำเอทานอลมาผลิตเป็น ETBE เพื่อเพิ่มออกเทนแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นต้นว่า น้ำมัน E10 ซึ่งมีส่วนผสมประกอบด้วยน้ำมันเบนซิน 90% และเอทานอล 10% ซึ่งสามารถใช้แทนน้ำมันเบนซินได้ทันทีกรณีเป็นรถยนต์ระบบหัวฉีดรุ่นใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด และได้กลายเป็นน้ำมันเบนซินมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก

แม้การเติมเอทานอลเป็นสัดส่วนสูง จะส่งผลดีในการลดปัญหาโลกร้อน ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ค่าออกเทนเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มีการจำกัดส่วนผสมของเอทานอลไว้เพียง 10% เนื่องจากหากเพิ่มสัดส่วนเอทานอลในน้ำมันแก๊สโซฮอล์เกินกว่าระดับนี้แล้ว จะประสบปัญหาหลายประการ

ประการแรก เอทานอลมีคุณสมบัติการกัดกร่อนสูง ยิ่งสัดส่วนของเอทานอลมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มคุณสมบัติการกัดกร่อนให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น หากน้ำมันแก๊สโซฮอล์มีสัดส่วนของเอทานอลสูงกว่า 10% แล้ว จะส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนรถยนต์ที่สัมผัสกับน้ำมันโดยตรง

ประการที่สอง บริษัทน้ำมันจะต้องลงทุนจำนวนมากในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนถังบรรจุน้ำมันแบบใหม่ในสถานีบริการน้ำมัน ถังบรรทุกน้ำมันใหม่สำหรับรถบรรทุก ฯลฯ เพื่อให้สามารถทนทานต่อเอทานอลที่มีการสึกกร่อนได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังประสบปัญหาในด้านลอจิสติกส์ เนื่องจากว่าน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลเป็นสัดส่วนสูงจะกัดกร่อนท่อส่งน้ำมัน ทำให้ไม่สามารถขนส่งตามท่อส่งน้ำมันตามสเปกที่ก่อสร้างไว้เดิมได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนมาขนส่งโดยใช้รถบรรทุกซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการขนส่งทางท่ออย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ขีดจำกัดทางเทคโนโลยีข้างต้นไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด โดยได้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตรถยนต์ที่สามารถใช้เอทานอลเป็นสัดส่วนสูง เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นสำคัญจากรัฐบาลบราซิล ซึ่งได้ส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอลภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติขึ้นเมื่อปี 2518

จากการที่บราซิลเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่และมียอดจำหน่ายรถยนต์แต่ละปีมากกว่า 2 ล้านคัน ได้กระตุ้นให้บริษัทรถยนต์ต้องเร่งวิจัยและพัฒนารถยนต์แบบใหม่ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงเอทานอลในอัตราสูงเพื่อจำหน่ายในบราซิล สำหรับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ E20 นั้น จะต้องปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ในขั้นตอนการประกอบภายในโรงงานให้มีความทนทานต่อการกัดกร่อนของเอทานอล โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่สัมผัสกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์โดยตรง

หากจะออกแบบรถยนต์ให้ใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ E85 ยิ่งมีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก เป็นต้นว่า ถังน้ำมันจะต้องทำด้วยเหล็กไร้สนิม ท่อน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องมีส่วนผสมของสารเทฟลอน รวมถึงปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของรถยนต์ที่ใช้เอทานอลในระยะที่ผ่านมา คือ ไม่มีความยืดหยุ่นในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการความยืดหยุ่นในการใช้เชื้อเพลิง โดยต้องการรถยนต์ที่สามารถใช้ได้ทั้งกับน้ำมัน E0 E10 E25 E100 ฯลฯ โดยหากน้ำมันประเภทใดมีราคาประหยัดมากกว่า ก็อยากจะเติมน้ำมันประเภทนั้นๆ

เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค บริษัทรถยนต์จึงวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตรถยนต์แบบใหม่ คือ Flexible - Fuel Vehicle (FFV) ซึ่งใช้เอทานอลเป็นสัดส่วนยืดหยุ่นได้ตามต้องการจนถึง 100% โดยติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับออกซิเจน วัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงวัดความเร็วของรถยนต์ จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังระบบคอมพิวเตอร์ของกล่อง ECU เพื่อคำนวณข้อมูล จะปรับแต่งการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติเพื่อให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อนึ่ง นอกจากบราซิลแล้ว ความนิยมรถยนต์แบบ FFV ได้แพร่ไปยังสหรัฐฯ โดยรถยนต์ FFV ที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์แบบแรกของสหรัฐฯ คือ รถยนต์เชฟโรเลตลามิน่าของค่าย GM ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายเมื่อปี 2535 ปัจจุบันยอดจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 6 ล้านคัน

ความจริงแล้วรถยนต์แบบ FFV หากผลิตจำนวนมากในลักษณะ Mass Production แล้ว จะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 100 เหรียญสหรัฐ หรือ 3,300 บาทเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตรถยนต์แบบธรรมดา

ยิ่งไปกว่านั้น รถยนต์แบบ FFV ในสหรัฐฯ ได้จำหน่ายในราคาเท่ากันหรือใกล้เคียงมากกับรถยนต์แบบธรรมดาอีกด้วย แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าก็ตาม เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดให้บริษัทรถยนต์ต้องมียอดขายรถยนต์สิ้นเปลืองน้ำมันโดยเฉลี่ย (Corporate Average Fuel Economy Standard - CAFE) ไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด โดยหากรถยนต์บางแบบมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าระดับที่กำหนด ก็จะต้องผลิตรถยนต์อีกแบบที่ประหยัดน้ำมันน้อยกว่ากำหนด เพื่อให้อัตราเฉลี่ยของรถยนต์ทุกคันไม่เกินกำหนด

เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่ากรณีเป็นรถยนต์แบบ FFV แล้ว จะได้รับการพิจารณาปรับตัวเลขเพื่อใช้คำนวณเป็นกรณีพิเศษ ทำให้บริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งปกติผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่สิ้นเปลืองน้ำมันมาก จำเป็นต้องเน้นการผลิตรถยนต์ FFV เป็นการชดเชย เพื่อให้อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันโดยเฉลี่ยไม่เกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด โดยยอมจำหน่ายรถยนต์ประเภทนี้ในราคาต่ำลง

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของรถยนต์ในสหรัฐฯ จำนวนมากไม่ทราบด้วยซ้ำว่ารถยนต์ของตนเองเป็นแบบ FFV เนื่องจากบรรดาตัวแทนจำหน่ายไม่คิดว่า FFV เป็นจุดขาย ดังนั้น จึงไม่เล่าถึงคุณสมบัติพิเศษนี้ให้ผู้ซื้อได้รับทราบ

จากการที่มีรถยนต์ FFV จำนวนมากขึ้น ทำให้เริ่มมีสถานีบริการน้ำมันประเภท E85 เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2551 มีสถานีบริการน้ำมัน E85 จำนวนรวมประมาณ 1,500 แห่ง ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมัน E85 ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ต่ำกว่า 1% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐฯ

สำหรับอีกประเทศหนึ่งที่มีการใช้น้ำมัน E85 อย่างแพร่หลาย คือ สวีเดน เนื่องจากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ “Independence from Oil by 2020” หรือ “เป็นอิสรภาพจากน้ำมันภายในปี 2563” และได้สนับสนุนการใช้รถยนต์ FFV เป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรถยนต์ในระดับต่ำ เก็บภาษีอากรน้ำมันเชื้อเพลิง E85 ในระดับต่ำ ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนในกรุงสตอกโฮล์ม รวมถึงยกเว้นไม่ต้องเสียค่าจอดรถยนต์ใน 16 เมือง ฯลฯ

นโยบายข้างต้นทำให้ปัจจุบันมียอดจำหน่ายรถยนต์ FFV เป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริษัทซาบของค่าย GM ที่เน้นจำหน่ายรถยนต์แบบ FFV เป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทแห่งนี้ทั้งหมด

สำหรับกรณีของประเทศไทย ได้เริ่มใช้น้ำมัน E10 อย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา และปัจจุบันได้เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ประชาชนหันไปนิยมใช้น้ำมัน E10 เนื่องจากเป็นของดีราคาถูก

เพื่อส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลมากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังได้ออกประกาศลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ E20 ขึ้นไป เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ดังนี้

- รถยนต์ขนาดไม่เกิน 2000 ซีซี และกำลังไม่เกิน 220 แรงม้า ปรับลดจาก 30% เหลือ 25%

- รถยนต์ขนาด 2001 - 2500 ซีซี และกำลังไม่เกิน 220 แรงม้า ปรับลดจาก 35% เหลือ 30%

- รถยนต์ขนาด 2501 - 3000 ซีซี และกำลังไม่เกิน 220 แรงม้า ปรับลดจาก 40% เหลือ 35%

การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตข้างต้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถของคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลทำให้ราคาลดลงอย่างต่ำ 30,000 บาท สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก และ 80,000 บาท สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่

ล่าสุดเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลเพิ่มมากขึ้นไปอีก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมัน E85 เป็นการเพิ่มเติม ดังนี้

ประการแรก ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ E85 ที่มีลักษณะเฉพาะเเละเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน E85 เเละยังไม่มีผลิตในประเทศ เป็นการชั่วคราว 3 ปี

ประการที่สอง ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน E85 จากเดิม 3.6850 บาท/ลิตร เหลือ 2.5795 บาท/ลิตร

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น