xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชูชัย”เตือนประสาทพระวิหารรบ.ละเมิดรธน.-กระทบอธิปไตยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมอชูชัย" เตือนปราสาทพระวิหาร รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญ กระทบสิทธิอธิปไตย เสนอ ส.ว. 63 คน เข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด่วน เผยข้อมูลให้คนไทยทั้งชาติได้รับรู้ หยุดใช้นิสัยรัฐบาลทักษิณ คิดเองทำเอง ไม่ผ่านสภาฯ ทำลายหลักการ อัด “นพดล” แค่ลาออก เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ไทยต้องสูญเสีย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีปราสาทเขาพระวิหารว่า การที่ นายนพดล ปัทมะ รวม.การต่างประเทศ และ ครม. เห็นชอบกับแผนที่การขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ของประเทศกัมพูชา เป็นการกระทำที่กระทบสิทธิอธิปไตยของประเทศ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เรื่องนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ใช่การตัดสินใจของคนคนเดียว หรือ คนกลุ่มเดียว จะใช้ความเคยชินทำกับประเทศไทยเหมือนกับรัฐบาลทักษิณไม่ได้ เพราะทำลายหลักการที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอื่นได้

ทั้งนี้ เรื่องปราสาทพระวิหารนั้นจำกัดเฉพาะพื้นที่ตั้ง แตกต่างจากเขาพระวิหาร เรื่องนี้สลับซับซ้อน เพราะมีพัฒนาการความเป็นมาค่อนศตวรรษ ควรนำข้อมูลทั้งหมดมาเปิดเผยและอภิปรายในรัฐสภา ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามมาตรา 87 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

“ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคือ อดีตเอกอัครราชทูต สมปอง สุจริตกุล ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ทำการพิพากษาตัดสิน โดยที่ไทยในฐานะคู่กรณีได้คัดค้านอำนาจศาลในการพิจารณาเรื่องตั้งแต่แรก ก่อนที่จะมีคำพิพากษา และเมื่อพิพากษาแล้ว ก็ยังยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาและตั้งข้อสงวนไว้ ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีกลไกในการบังคับคดี ดังนั้น ไทยจึงไม่เคยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด”นพ.ชูชัย กล่าว
               
นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า จึงมีคำถามที่ต้องพิจารณา ให้เกิดความกระจ่างชัดในรัฐสภา ดังนี้ 1.เมื่อพิจารณาแนวปฏิบัติของรัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ที่ไม่ยอมรับคำพิพากษา และตั้งข้อสงวนไว้ ถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย ใช่หรือไม่ 2.ในระหว่างการเจรจาทำความตกลงกับกัมพูชา ได้มีการหยิบยกข้อสงวนของไทย ขึ้นมาพิจารณาด้วยหรือไม่ 3.กรณีที่ไทยยังถือว่าปราสาทพระวิหาร ยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย การที่รัฐบาลของนายสมัคร เร่งรีบยอมรับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว รวมถึงการไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชา ถือเป็นการยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารใช่หรือไม่

“เรื่องนี้มีนัยอย่างสำคัญเกี่ยวกับสิทธิอธิปไตยของประเทศ การที่นายนพดล อ้างว่าไทยไม่ได้เสียดินแดนให้กัมพูชาเลย ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่กระทบต่อสิทธิอธิปไตย เพราะอาจสูญเสียสิทธิที่จะอ้างอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารในอนาคตเลยก็ได้ และการที่นายนพดลอ้างว่าพร้อมจะลาออกจากตำแหน่ง ก็เทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่ออธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต”นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวด้วยว่า การพิจารณาเรื่องนี้ควรให้วุฒิ-สมาชิก 63 คน ซึ่งเป็นจำนวนหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา เสนอเรื่องนี้ต่อประธานวุฒิสภาโดยตรง แล้วให้ประธานวุฒิสภาเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า ตามมาตรา 154 (1) ทั้งนี้ เหตุที่เสนอให้วุฒิสภาเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาก็เพราะท่านเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น