xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชูชัย” เตือนปราสาทพระวิหารรัฐบาลละเมิด รธน.ร้อง ส.ว.ส่งศาล รธน.วินิจฉัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอชูชัย” เตือนเรื่องปราสาทพระวิหาร รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญ กระทบสิทธิอธิปไตย เสนอ ส.ว.63 คน เข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด่วน เผยข้อมูลให้คนไทยทั้งชาติได้รับรู้ เตือนหยุดใช้นิสัยรัฐบาลทักษิณ คิดเองทำเอง ไม่ผ่านสภา ทำลายหลักการ อัด “นพดล” แค่ลาออก เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ไทยต้องสูญเสีย


นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ว่า การที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และ ครม.เห็นชอบกับแผนที่การขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก ของประเทศกัมพูชา เป็นการกระทำที่กระทบสิทธิอธิปไตยของประเทศ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เรื่องนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ใช่การตัดสินใจของคนๆ เดียว หรือคนกลุ่มเดียว จะใช้ความเคยชินทำกับประเทศไทย เหมือนกับรัฐบาลทักษิณไม่ได้ เพราะทำลายหลักการที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอื่นได้

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า เรื่องปราสาทพระวิหารนั้น จำกัดเฉพาะพื้นที่ตั้ง แตกต่างจากเขาพระวิหาร เรื่องนี้สลับซับซ้อน เพราะมีพัฒนาการความเป็นมาค่อนศตวรรษ ควรนำข้อมูลทั้งหมดมาเปิดเผยและอภิปรายในรัฐสภา ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามมาตรา 87 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

“ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คือ อดีตเอกอัครราชทูต สมปอง สุจริตกุล ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ทำการพิพากษาตัดสิน โดยที่ไทยในฐานะคู่กรณีได้คัดค้านอำนาจศาลในการพิจารณาเรื่องตั้งแต่แรก ก่อนที่จะมีคำพิพากษา และเมื่อพิพากษาแล้ว ก็ยังยื่นประท้วงคัดค้านคำพิพากษาและตั้งข้อสงวนไว้ ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่มีกลไกในการบังคับคดี ดังนั้น ไทยจึงไม่เคยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด” นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า จึงมีคำถามที่ต้องพิจารณา ให้เกิดความกระจ่างชัดในรัฐสภา ดังนี้ 1.เมื่อพิจารณาแนวปฏิบัติของรัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ที่ไม่ยอมรับคำพิพากษา และตั้งข้อสงวนไว้ ถือว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย ใช่หรือไม่ 2.ในระหว่างการเจรจาทำความตกลงกับกัมพูชา ได้มีการหยิบยกข้อสงวนของไทย ขึ้นมาพิจารณาด้วยหรือไม่ 3.กรณีที่ไทยยังถือว่าปราสาทพระวิหาร ยังอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย การที่รัฐบาลของ นายสมัคร เร่งรีบยอมรับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว รวมถึงการไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชา ถือเป็นการยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารใช่หรือไม่

“เรื่องนี้มีนัยอย่างสำคัญเกี่ยวกับสิทธิอธิปไตยของประเทศ การที่ นายนพดล อ้างว่า ไทยไม่ได้เสียดินแดนให้กัมพูชาเลย ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่กระทบต่อสิทธิอธิปไตย เพราะอาจสูญเสียสิทธิที่จะอ้างอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารในอนาคตเลยก็ได้ และการที่ นายนพดล อ้างว่า พร้อมจะลาออกจากตำแหน่ง ก็เทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่ออธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต” นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวด้วยว่า การพิจารณาเรื่องนี้ควรให้วุฒิสมาชิก 63 คน ซึ่งเป็นจำนวนหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา เสนอเรื่องนี้ต่อประธานวุฒิสภาโดยตรง แล้วให้ประธานวุฒิสภาเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า ตามมาตรา 154(1) ทั้งนี้ เหตุที่เสนอให้วุฒิสภาเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาก็เพราะท่านเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น