xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาจุฬาฯแนะเลิกกม.หมิ่นกษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยาน 6 ตุลา 19 ร่วมกับชมรมเลี้ยวซ้าย จัดเสวนาหัวข้อ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นิติปรัชญาและประวัติศาสตร์" ที่ห้องประชุม 12 ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นางวิภา ดาวมณี อาจารย์นวัตกรรมสังคม ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก
นายไชยยันต์ ชัยพร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนเคยเสนอผ่านสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะหากพิจารณาตามหลักคิดของเอมานูเอล คาน นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่เสนอว่า สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ไม่ก้าวหน้าเพราะเนื่องจากมีสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาทางความคิด นักปรัชญาคนนี้เรียกร้องให้เราเลิกเชื่อสิ่งที่ดำรงอยู่รอบตัวเรา ให้เราคิดเอง ไม่ใช่มีข้อมูลมาแล้วก็จมอยู่กับข้อมูลและเชื่อตามง่ายๆ เขาเรียกร้องให้เรามีเสรีภาพเต็มที่ แต่ก็ต้องมีขอบเขตแบบแผน
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา มีการโต้เถียงทางวิชาการว่า มีคนรู้เรื่องนี้มากพอสมควรแล้ว แต่ควรมีการถกเถียงขยายวงมากกว่านี้ ช่วงนี้เรามีเงื่อนไขที่คนเข้าใจเรื่องเสรีภาพแล้ว นี่เป็นสถานการณ์ที่ดีที่เราจะคุยกัน ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นด้วย ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับความจงรักภักดี ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ตนเห็นว่าควรต้องยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าในอดีตกฎหมายฉบับนี้จะดี แต่ก็ต้องได้รับการพิสูจน์ในปัจจุบันว่า ดีจริงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นสิ่งที่ถ่วงไม่ให้เรามีเสรีภาพที่จะคิด ก็ต้องถือว่าเป็นอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษยชาติ
ด้านนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ฐานความผิดเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีโทษจำคุก 7 ปี แต่หลังปี 2475 มีข้อยกเว้นว่า หากเป็นการการกระทำไปโดยสุจริตภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าไม่มีความผิด แต่ในปี 2499
มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน เพราะมีการเพิ่มความผิดฐานดูหมิ่นและไม่มีข้อยกเว้น หลังจากนั้นในปี 2519 มีการเพิ่มโทษเป็น 3 – 15 ปี ซึ่งเรียกได้ว่าหนักกว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวฟ้องร้องบุคคลไม่ได้ถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากแต่เกิดจากคนในสังคมทั่วไปพยายามหยิบใช้เล่นงานผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี 2548 – 2551 ที่มีการใช้ความผิดดังกล่าวฟ้องร้องกันอย่างมาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงรองรับแต่อย่างใด น่าเป็นห่วงว่าความผิดที่ฟ้องร้องมักกระทำต่อสัญลักษณ์ ซึ่งหากขยายไปมากกว่านี้ จะเป็นปัญหามาก
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ตนมีข้อเสนอต่อปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็น 4 ทางเลือก ได้แก่ หนึ่ง จะต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องต่อระบบประชาธิปไตยที่ปกป้องการแสดงความคิดเห็นภายใต้รัฐธรรมนูญ
สอง ต้องตัดฐานความผิดต่อการดูหมิ่น และจำกัดไว้เพียงแค่การหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายไว้
สาม จะต้องมีองค์กรที่ริเริ่มตรวจสอบและดำเนินคดีหรือรับผิดชอบต่อคดีดังกล่าวแทนที่จะเป็นบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นคณะรัฐมนตรี หรือสำนักพระราชวัง เป็นต้น และ สุดท้ายหากเป็นไปได้คือการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
นายจอน อึ้งภากรณ์ อดีตส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอให้แก้กฎหมายหมิ่นประมาทจากฐานความผิดอาญา เป็นคดีทางแพ่ง และสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกละเมิดโดยการฟ้องกลับ ส่วนฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ตาม ประมวลกฎหมายอาญา ก็ควรจะต้องอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะตนยังเห็นว่ายังจำเป็นจะต้องมีกฎหมายดังกล่าวไว้ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พระองค์คงไม่เหมาะสมที่จะฟ้องร้องเองในคดีแพ่ง แต่อาจต้องมีองค์กรดำเนินการฟ้องแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น