ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เลขาธิการ BOI เผยงบ 5 พันล้านบาทเดินหน้านโยบาย “ปีแห่งการลงทุน 2551-2552” ตั้งเป้ามีการลงทุนถึง 3 ล้านล้านบาทใน 4 ปี หากการดำเนินมาตรการสมบูรณ์แบบ ระบุการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือมีศักยภาพสูงพร้อมส่งเสริมการลงทุนเต็มที่
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปีแห่งการลงทุน 2551-2552” (Thailand Investment Year 2008-2009) โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจและนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประมาณ 500 คน ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้
นายสาธิต กล่าวถึงมาตรการสำคัญที่จะดำเนินการในช่วงปีแห่งการลงทุน 2551-2552 ว่า จะทำการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และ Value Creation Industries เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แอนิเมชัน ซอฟต์แวร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันจะมีการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมฐานความรู้และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง พลังงานทดแทน รวมทั้งมีการปรับเงื่อนไขประเภทกิจการมุ่งสู่การปรับเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่มีการดำเนินการจะประกอบไปด้วย มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต มาตรการส่งเสริมการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการแก้ไขปัญหา มาตรการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยในต่างประเทศ การดำเนินกิจกรรมชักจูงการลงทุนเชิงรุก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน การปรับปรุงการให้บริการและมาตรการต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุน ซึ่งจะทำการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิต ประหยัดพลังงาน การสนับสนุนการฝึกอบรมในเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนา
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการสนับสนุนการตั้งศูนย์บ่มเพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต การวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยการดำเนินตามมาตรการทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณสนับสนุน 4 ปี ประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในกรณีที่การดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดมีความพร้อมสมบูรณ์ ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการลงทุนตามนโยบายปีแห่งการลงทุน 2551-2552 มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นปี 2551 มูลค่า 600,000 ล้านบาท ปี 2552 มูลค่า 800,000 ล้านบาท ปี 2553 มูลค่า 780,000 ล้านบาท และปี 2554 มูลค่า 820,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายสาธิต กล่าวภายหลังการปาฐกถาพิเศษถึงภาวะการลงทุนว่า มองว่าในเวลานี้นักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย เพราะมีศักยภาพในทุกๆ ด้าน สำหรับปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เห็นว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนมีความเข้าใจและติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว รวมทั้งเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่มีการปรับตัวไปแล้ว เพื่อให้สามารถทำการแข่งขันอยู่ได้ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนและอื่นๆ ดังนั้น จึงมองว่าสิ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนเวลานี้น่าจะเป็นในเรื่องของการตลาดมากกว่า ซึ่งหากนักลงทุนสามารถหาตลาดได้ก็ย่อมจะต้องมีการลงทุนอยู่แล้ว
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย นายสาธิต แสดงความเห็นในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีตลาดอยู่ในต่างประเทศปัจจัยในเรื่องนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะปัจจัยหลักจะเป็นในส่วนของการแข่งขันตอบสนองความต้องการของตลาดมากกว่า ซึ่งหากสามารถตอบสนองได้ก็ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามในส่วนอุตสาหกรรมที่มีตลาดอยู่ภายในประเทศ อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง
ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ได้มีการประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการส่งเสริมอยู่แล้ว โดยเบื้องต้นให้ความสำคัญต่อการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่และการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ นอกจากนี้ที่ผ่านมาทาง BOI ก็ได้มีการส่งเสริมการลงทุนด้านที่พักและโรงแรมในพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งนี้มองว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสามารถส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการได้เป็นอย่างดี ซึ่งทาง BOI พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้านนางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 (เชียงใหม่) เปิดเผยสรุปภาวะการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ว่า มีจำนวนโครงการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 26โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,531.9 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 16 โครงการ แต่มูลค่าเงินลงทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีถึง 2,397.9 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 36.11 จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 19 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 686.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 21 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,761.1 ล้านบาท
ทั้งนี้ประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในช่วง 5 เดือนแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มูลค่าการลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท โดยเป็นกิจการเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือ Movie Town รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร มูลค่าการลงทุน 172.5 ล้านบาท และอุตสาหกรรมโลหะหนัก เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่าการลงทุน 61.6 ล้านบาท
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจลงทุนสูงสุดของภาคเหนือตอนบนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งสิ้น 9 โครงการ มูลค่าการลงทุน 349.1 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจำนวนโครงการ 8 โครงการ มูลค่าการลงทุน 326 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่น่าสนใจเป็นโครงการ Movie Town มูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท
สำหรับสัดส่วนการลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เป็นโครงการที่ชาวต่างชาติถือหุ้นทั้งหมด จำนวน 9 โครงการ มูลค่าการลงทุน 437.4 ล้านบาท โครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งหมด จำนวน 6 โครงการ มูลค่าการลงทุน 201 ล้านบาท และโครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ จำนวน 4 โครงการ มูลค่าการลงทุน 47.6 ล้านบาท
ส่วนนักลงทุนจากต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เป็นนักลงทุนจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต มูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท ในกิจการเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รองลงมาเป็นฝรั่งเศส มูลค่าการลงทุน 67.9 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 59.4 ล้านบาท สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่าการลงทุน 58.6 ล้านบาท เดนมาร์ก มูลค่าการลงทุน 52.5 ล้านบาท ฮ่องกง/เกาหลี มูลค่าการลงทุน 26 ล้านบาท ออสเตรเลีย มูลค่าการลงทุน 9.5 ล้านบาท และแคนาดา มูลค่าการลงทุน 3 ล้านบาท