xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอชี้อุดรฯเหมาะเป็น”Hub”อุตสาหกรรมอีสานบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุดรธานี-บีโอไอเผยปี 2600 จ.อุดรธานี ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก ศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตฯ เพื่อการส่งออกไปยังสปป.ลาว และศูนย์กลางอุตสาหกรรมโปแตซ มั่นใจอนาคตเป็น Hub อุตสาหกรรม ของภาคอีสานตอนบน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี เมื่อเร็วๆนี้ นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานการสัมมนาเรื่อง “บีโอไอ ชี้แนะโอกาสและลู่ทางการลงทุน จ.อุดรธานี พร้อมเสนอแนะการจัดตั้งเขต/นิคมอุตสาหกรรม” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด นักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้สนใจเข้าร่วม 100 คน ที่ โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ รอยัล

นางสาวชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 กล่าวว่า ในปี 2551-2552 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จัดให้เป็นปีแห่งการลงทุนไทย โดยมีมาตรการรวม 8 ข้อ เพื่อจะเร่งฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน เช่น การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่ประเทศมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ,การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ,ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเขตอุตสาหกรรม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม

ในส่วน จ.อุดรธานี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุน ด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบน และอยู่ติดกับ จ.หนองคาย ที่เป็นประตูสู่อินโดจีน อีกทั้งยังมีพื้นที่จำนวนมากเป็นอันดับ 4 ของภาคอีสาน รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบกลุ่มเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาให้ จ.อุดรธานี เป็นศูนย์กลางพัฒนาการค้าชายแดน และการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งนับได้ว่ามีความสอดคล้องกันเพื่อที่จะจัดสรรให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแห่งการลงทุนในอนาคต

“นอกจากนั้นในปี 2600 จ.อุดรธานี ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก คือ เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อการส่งออกไปยังสปป.ลาว และศูนย์กลางอุตสาหกรรมโปแตซ จึงเห็นได้ว่าในอนาคต จ.อุดรธานี สามารถที่จะเป็น Hub อุตสาหกรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้”

นายสุพจน์ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นการจัดสรรพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมให้เข้าไปอยู่รวมกันอย่างมีระบบ ระเบียบ และเป็นกลไกของรัฐบาล ในการกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมออกสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะง่ายต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือดำเนินการ

จ.อุดรธานี มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นรายได้หลักของจังหวัด ได้แก่ ข้าวเหนียว ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร โดยเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องและเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตร รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ทางจังหวัดจึงให้ความสำคัญกับการจัดตั้งนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า เดิม จ.อุดรธานี ได้มีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมโนนสูง อ.เมือง ก่อตั้งโดยกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นเมื่อปี 2535 ชื่อบริษัท เขตอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด และได้ร่วมทุนกับการนิคมอุตสาหกรรม จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี ตามมติของคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2539 โดยรัฐได้ลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานไว้แล้ว ได้แก่ ถนน 4 เลน ระบบไฟฟ้า รวมทั้งภาคเอกชนได้ลงทุนซื้อที่ดินและพัฒนาพื้นที่ไปแล้วรวมกว่า 200 ล้านบาท แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 บริษัทฯ มีภาระหนี้เสียและได้หยุดการดำเนินงานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รับความรู้ และรับทราบข้อมูลและรูปแบบของการจัดตั้งเขต/นิคมอุตสาหกรรมให้ประสบผลสำเร็จ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ในการขอรับการส่งเสริมในกิจการเขตอุตสาหกรรม หรือสิทธิประโยชน์จากการจัดตั้งโรงงานในเขต/นิคมอุตสาหกรรม จาก บีโอไอ รวมทั้งการชี้แนะโอกาสและลู่ทางการลงทุนของ จ.อุดรธานี และประเทศเพื่อนบ้านจากวิทยากรผู้ทรงความรู้
กำลังโหลดความคิดเห็น