xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรพักหนี้ 2.96 แสนราย ธ.ก.ส.เตรียมสาน "ฟื้นฟูอาชีพ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธ.ก.ส.เผยเกษตรกรร่วมโครงการพักหนี้ 2.96 แสนราย เตรียมฟื้นฟูอาชีพหลังพักหนี้ จับมือเครือข่ายปราญช์ชาวบ้านจัดอบรมเข้ม เน้น 3 หลักสร้างทางเลือกในการแก้จน แจงผลงานวิจัยเกษตรกรพักหนี้รายคนเพื่อใช้แก้ปัญหาแบบตรงจุด พบมูลเหตุหนี้เกิดจากค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน หนี้สินนอกระบบและราคาผลผลิตตกต่ำ

นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ประธานมูลนิธิพัฒนาชนบท นายธำรง แสงสุริยจันทร์ ประธานสถาบันบุญนิยมเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย และนายวิชิต นันทสุวรรณ ประธานสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือในการเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรวิถีชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรในโครงการพักหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน

นายธีรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่ ธ.ก.ส.ได้ออกสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจนตามนโยบายรัฐบาลผ่านระบบ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยมีระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2551 – 31 มีนาคม 2553 ปรากฏว่า กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้คงเหลือ ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2551รายละไม่เกิน 100,000 บาท มีจำนวนทั้งสิ้น 334,535 ราย จำนวนหนี้ 17,813 ล้านบาท พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 296,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.66 จำนวนหนี้ 15,495 ล้านบาท และมีผู้ที่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20,052 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.34 จำนวนหนี้ 768 ล้านบาท

ธ.ก.ส.ยังได้ทำการวิจัยภาคสนามเพื่อหาแนวทางในแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างตรงจุด โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการลงพื้นที่จริงและพบปะพูดคุยกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ทุกราย จำนวน 296,335 ราย ซึ่งผลการวิจัยพบว่ามูลเหตุของหนี้ เกิดจากการมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน 1206,760 ราย มีหนี้สินภายนอก 25,976 ราย ราคาผลผลิตตกต่ำ 20,960 ราย ทุพพลภาพเจ็บป่วยเรื้อรัง 8,064 ราย ปัญหาที่ดินถูกน้ำท่วมเสียหาย 6,788 ราย เจ้าของที่ดินไม่ให้เช่าที่ดิน 2,619 ราย ปัญหาน้ำท่วม 2,463 ราย ถูกราชการเวนคืนที่ดิน 108 ราย และปัญหาอื่น ๆ 22,597 ราย ซึ่งที่มาของปัญหาเหล่านี้ ธ.ก.ส.จะนำมาแยกแยะ เพื่อนำมาแก้ไขอย่างถูกวิธี รวมทั้งจะประสานงานส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สาธารณสุข อบต. เข้ามาดูแลและช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาพยาบาล การทำระบบชลประทาน การสร้างปัจจัยพื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเป็นต้น

นอกจากนี้ผลวิจัยที่แสดงให้รู้ถึงปัญหาแล้ว ธ.ก.ส.ยังได้ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายการพัฒนาและปราชญ์ชาวบ้านจำนวน 160 ศูนย์ ทั่วประเทศ จัดโครงการฝึกอบรม ใน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิถีชีวิต โดยมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรให้นำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต รู้จักการพึ่งพาตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลักสูตรวิถีทำกิน คือ การพัฒนาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้เพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ลดปัญหาต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตในแนวทางที่ยั่งยืน หลักสูตรวิถีทางเลือก ได้แก่ การพัฒนาความรู้ที่เหมาะสมในด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เสริมในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพแบบเดิมได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยหรืออายุมากทำไม่ไหว เป็นต้น ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตร หากเกษตรกรนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น