xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ “ลูกกรอก” 3 เดือน สอบตกทุกด้าน-หวั่นข้าวยากหมากแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช
เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจผลงานรัฐบาล และอนาคตประเทศไทยในสายตาหัวหน้าครัวเรือน พบผลงานของ รบ.ลูกกรอก ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งในทุกนโยบายเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ร้อยละ 87.8 หวั่นอนาคตประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง รองลงมา ปัญหาอาชญากรรม และการปฏิวัติ รัฐประหาร ตามลำดับ

วันนี้ (11 พ.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า สำนักวิจัยได้คัดเลือกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลที่เคยแถลงต่อรัฐสภา ก่อนการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ มาเป็นกรณีศึกษาวิจัยผลงานรัฐบาล ในช่วง 3 เดือนผ่านมา ทางความคิดเห็นของหัวหน้าครัวเรือน ภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม อุดรธานี ชลบุรี อยุธยา นนทบุรี นครปฐม ลพบุรี สุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต จำนวนทั้งสิ้น 3,404 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา พบว่า

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของหัวหน้าครัวเรือนต่อผลงานรัฐบาล รอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ตามนโยบายเร่งด่วนที่เคยแถลงต่อรัฐสภา โดยคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า หัวหน้าครัวเรือนในต่างจังหวัด ให้คะแนนเฉลี่ยโดยรวมสูงกว่ากลุ่มหัวหน้าครัวเรือนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ในทุกนโยบายเร่งด่วน เรียงลำดับดังนี้

อันดับแรก การจัดสรรงบประมาณตามขนาดประชากร (SML) ให้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชน คนต่างจังหวัดให้ 4.65 คะแนน คนกรุงเทพฯ ให้ 3.83 คะแนน รองๆ ลงไป ได้แก่ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คนต่างจังหวัดให้ 4.54 คนกรุงเทพฯ ให้ 3.97 มาตรการลดปัญหาโลกร้อน คนต่างจังหวัด ให้ 4.42 คน กรุงเทพฯ ให้ 3.91 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ 4.43 ต่อ 3.82 ด้านการท่องเที่ยวได้ 4.41 ต่อ 3.95 ด้านการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจนได้ 4.40 ต่อ 4.03 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ นโยบายเร่งด่วน ที่ได้คะแนน 3 อันดับสุดท้าย จากผลงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือนแรก ได้แก่ เรื่องการลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่คนต่างจังหวัดให้ 3.91 คนกรุงเทพฯ ให้ 3.54 เรื่องการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย คนต่างจังหวัดให้ 3.79 คนกรุงเทพฯ ให้ 3.16 และเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนต่างจังหวัดให้ 3.50 คะแนน ขณะที่คนกรุงเทพฯ ให้ 2.85 คะแนน ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวว่า ค่าคะแนนที่ค้นพบจากการประเมินครั้งนี้ ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งในทุกนโยบายเร่งด่วน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจะพอรับได้ สำหรับช่วงเวลา 3 เดือนแรก ของรัฐบาลที่เพิ่งจะเริ่มเข้ามาทำงานในห้วงเวลาที่ไม่ปกติของประเทศ แต่ก็เป็นเสมือนข้อมูลเบื้องต้นไว้เปรียบเทียบผลงานรัฐบาลเมื่อทำงานครบแต่ละวงรอบต่อไป

นอกจากนี้ หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.8 ระบุถึงอนาคตประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ว่า จะเกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง (สินค้าราคาสูงขึ้นแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต) รองลงมา คือ ร้อยละ 80.1 ระบุจะเกิดปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมากขึ้น ร้อยละ 55.6 ระบุอาจเกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร ร้อยละ 54.9 ระบุยังจะรู้สึกอบอุ่นใจที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 54.6 ระบุ จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดฝันขึ้นในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 53.6 ระบุ จะยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ร้อยละ 44.1 ระบุคนไทยส่วนใหญ่จะยังคงรักสามัคคีกัน และร้อยละ 21.3 ระบุ บ้านเมืองสงบสุขแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อถามว่า คาดว่าอีกกี่ปีที่ประเทศไทยจะมีเสถียรภาพมั่นคง โปร่งใส บริสุทธิ์ ประชาชนเข้มแข็ง ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผลสำรวจพบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า โดยค่าสูงสุดอยู่ที่ อีก 90 ปีข้างหน้า และค่าต่ำสุดอยู่ที่อีก 1 ปีข้างหน้า

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อถามถึงทางเลือกของหัวหน้าครัวเรือนว่า เลือกที่จะหวังและก้าวต่อไปข้างหน้า หรือเลือกที่จะกลัว และกังวลต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศไทย ผลสำรวจพบว่า หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 58.8 ยังคงกังวลและกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศไทย ขณะที่ร้อยละ 41.2 เลือกที่จะหวังและก้าวต่อไปข้างหน้า

ผู้ที่ระบุว่าเลือกที่จะหวัง ก้าวต่อไปข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจ สถานการณ์บ้านเมืองน่าจะดีขึ้น ชีวิตต้องสู้ มีกำลังใจที่ดี เชื่อมั่น มั่นใจในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเป็นบ้านเกิด เป็นต้น ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่ากังวลและกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลบริหารประเทศไม่ดี ค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพง น้ำมันแพง การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ความไม่แน่นอนในการทำงานของคณะรัฐบาล ความแตกแยกของคนในประเทศ บ้านเมืองวุ่นวาย ทะเลาะกัน เป็นต้น

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อหัวหน้าครัวเรือนประเมินการทำงาน 3 เดือนแรกของ นายสมัคร สุนทรเวช จำแนกหัวหน้าครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด พบว่า หัวหน้าครัวเรือนในต่างจังหวัดร้อยละ 55.8 ให้ นายสมัคร สุนทรเวช สอบผ่าน ซึ่งมากกว่า หัวหน้าครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ร้อยละ 41.8 หรืออาจกล่าวได้ว่า คนต่างจังหวัดที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ให้นายกรัฐมนตรีสอบผ่าน แต่คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 58.2 ให้นายกรัฐมนตรีสอบไม่ผ่าน ในการทำงานช่วง 3 เดือนแรกของรัฐบาล และผลสำรวจยังพบด้วยว่า คนที่เคยเลือก ส.ส. แบบสัดส่วนพรรคพลังประชาชนส่ วนใหญ่ หรือร้อยละ 74.7 ยังคงให้ นายสมัคร สุนทรเวช สอบผ่าน ในขณะที่คนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 84.5 และคนที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ ร้อยละ 56.7 ให้นายกรัฐมนตรีสอบไม่ผ่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น