xs
xsm
sm
md
lg

สิบล้อบุกกรุง 17 มิ.ย.จี้รัฐช่วย-แท็กซี่มิเตอร์จ่อขึ้นค่าโดยสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สิงห์รถบรรทุกทั่วประเทศงัดมาตรการหยุดเดินรถกดดันรัฐบาล "หุ่นเชิด" แก้ปัญหาน้ำมันแพง ขีดเส้นตาย 17 มิ.ย.นี้หากยังเฉย พาเหรดเข้ากรุงฯ ด้านคมนาคมขอเวลาเจรจาพลังงาน ขณะที่ รถร่วมฯบขส.เฮ ศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ระงับขึ้นค่าธรรมเนียม คนกรุงช้ำเพิ่ม ขบ.ชงคมนาคมพิจารณาขึ้นราคาแท็กซี่

วานนี้ (11 มิ.ย.) ตั้งแต่เวลา 05.30 น. ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสมาชิกของสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้หยุดวิ่งและนำรถมาจอดชุมนุมพร้อมกันตามถนนสายสำคัญทั่วประเทศ โดยภาคเหนือมีการนำรถมาจอดเรียงรายบนถนนสายเอเชีย ภาคใต้ ริมถนนเพชรเกษมและถนนพระราม 2 ภาคตะวันออก บริเวณท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ภาคอีสาน บริเวณถนนมิตรภาพ และภาคกลาง ในส่วนของกรุงเทพฯ บริเวณถนนบางนา-ตราด และลาดกระบัง โดยสหพันธ์ฯ ได้กำหนดจุดยืนเบื้องต้นว่าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือเป็นรูปธรรมจะมีการจัดคาราวานรถบรรทุกเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ จากทั่วทุกภูมิภาคเข้ามากรุงเทพฯ วันที่ 17 มิ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

นายทองอยู่ คงขันธ์ เลขาธิการสหพันธ์ฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือกรณีที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานยืนยันว่า พร้อมจะหามาตรการช่วยเหลือ แม้จะไม่ได้ทุกข้อตามที่ต้องการ แต่เห็นว่าสามารถแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะสลายการชุมนุมไปก่อนเพื่อรอมาตรการแก้ไขของภาครัฐที่จะออกมาถึงวันที่ 17 มิ.ย.นี้ แต่หากถึงกำหนดดังกล่าวแล้ว ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือออกมาชัดเจน ผู้ประกอบการกำหนดที่จะเคลื่อนไหวโดยนำรถบรรทุกสมาชิกของสหพันธ์ขับเป็นคาราวานมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ

ทั้งนี้แกนนำของสหพันธ์ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้ภาครัฐออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลืออย่างน้อย 3 ข้อประกอบด้วย

1. ขอให้จัดหาน้ำมันดีเซลราคาพิเศษ เพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบการ โดยได้ส่วนลดราคาหน้าปั๊มลง 3 บาทต่อลิตรเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ที่มีประมาณ 400,000 คันทั่วประเทศ ภาครัฐจัดหาน้ำมันให้วันละไม่น้อย 400,000 ลิตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างน้อยร้อยละ 2-3

2. ขอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกู้ยืมไปเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเอ็นจีวี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน และ 3. ขอให้กระทรวงพลังงานหารือร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดหาก๊าซเอ็นจีวีและสถานีบริการในเส้นทางเดินรถให้เพียงพอต่อความต้องการใช้

คมนาคมขอเวลาเจรจาพลังงาน

ด้าน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการรถบรรทุก รอผลการเจรจาของกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อขอจัดสรรน้ำมันดีเซลที่จัดจำหน่ายให้ผู้ประกอบการในราคาถูกกว่าตลาด 3 บาทต่อลิตรมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงคมนาคม ไปเจรจา เพื่อพิจารณาดูว่าจะสามารถจัดสรรน้ำมันช่วยเหลือได้อย่างไร โดยเฉพาะการนำน้ำมันที่ได้รับส่วนลดสำหรับรถโดยสาร จำนวน 122 ล้านลิตร ในระยะเวลา 6 เดือนนั้นจะนำมาใช้ได้หรือไม่

หยุดวิ่งแสดงพลังให้เห็นว่าเดือดร้อนจริง

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานชมรมผู้ประกอบการรถบรรทุกจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงการหยุดวิ่งให้บริการรถบรรทุกสินค้าตามมติของสมาคมฯในวันนี้ว่า เป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นที่ต้องการให้รัฐบาลหันมาใส่ใจแก้ปัญหาให้โดยมีรถบรรทุกหยุดวิ่งให้บริการเพียงบางส่วนราว 20-30% หรือกว่า 100 คันเท่านั้น ยังไม่ได้หยุดวิ่งทั้งหมด รถบรรทุกกว่า 100 คันที่หยุดวิ่งต่างจอดบริเวณด้านหน้าสมาคมฯที่นครราชสีมา

“หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการรถบรรทุกในภาคอีสานที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมฯกว่า 4,000 คันก็จะหยุดให้บริการและพากันเข้าไปชุมนุมที่กรุงเทพฯในวันที่ 17 มิ.ย.นี้”

นายอภิชาติ ระบุว่า ผู้ประกอบการขนส่งได้รับผลกระทบจากราค่าน้ำมันมาตั้งแต่ราคาดีเซลแตะระดับ 20 กว่าบาท/ลิตรแล้ว ต้นทุนเพิ่ม รายได้ลดลง หลายรายขาดทุน ซึ่งทางผู้ประกอบการก็พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองมาตลอด เช่น ลดเที่ยววิ่งลง และหาสินค้าจากปลายทางบรรทุกกลับต้นทางเพื่อหารายได้ทดแทนชดเชยต้นทุนน้ำมัน แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก ยิ่งราคาดีเซลตอนนี้เกิน 40 บาท/ลิตร ยิ่งขาดทุนกันหนักมากขึ้น

นอกจากหาทางลดราคาต้นทุนน้ำมันในอัตราพิเศษแล้ว ระยะยาวต้องการให้ช่วยเหลือด้านพลังงานทางเลือกให้ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการขนส่ง เช่นพัฒนาระบบเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊ส NGV ในราคาถูก ขยายสถานีบริการแก๊ส NGV ของ ปตท.ให้มีมากขึ้นกว่าปัจจุบันหรือให้สามารถนำรถบรรทุกเข้าสู่กระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจต่อไปได้

จวก"รบ.หุ่นเชิด"หนีปัญหาบ้าแก้ รธน.

ผู้ประกอบการสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน ได้นำรถบรรทุก ทั้งรถบรรทุก 10 ล้อ รถพ่วง 18 ล้อกว่า 200 คัน มาจอดยึดริมถนนราชสีมา-จักราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทั้ง 2 ฝั่งถนนบริเวณหน้าสำนักงานสมาคมฯ เป็นระยะทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนสายหลักอีกเส้นทางหนึ่งในการสัญจรระหว่าง จ.นครราชสีมา กับจังหวัดภาคอีสานล่าง เข้าสู่กรุงเทพฯ

พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องขยายเสียงเปิดเวทีปราศรัยบนท้ายรถพ่วง 18 ล้อ โดยมีแกนนำของสมาคมฯ สลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีการแก้ปัญหาของรัฐบาล รวมทั้งมีการติดป้ายข้อความประท้วงและเรียกร้องต่อรัฐบาล เช่น รัฐอย่าหนีปัญหา บ้าแต่แก้รัฐธรรมนูญ จูนหาแต่ผลประโยชน์ เป็นต้น

โดยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำแพงอย่างต่อเนื่องใน 3 ประเด็น คือ 1.ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันราคาแพงสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ด้วยการลดราคาพิเศษลิตรละ 3 บาทจากราคาหน้าโรงกลั่น 2.ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.5% สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รถบรรทุกไปใช้ระบบแก๊ส NGV และ 3.กำหนดเงื่อนไขเงินกู้ ให้สามารถใช้รถบรรทุกอายุไม่เกิน 15 ปี เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินมาลงทุนได้

นายปราโมทย์ กงทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า พวกเราจะทำการหยุดเดินวิ่งรับส่งสินค้าและนำรถบรรทุกมาจอดริมถนนสายหลักดังกล่าวเป็นเวลา 1 วัน หากรัฐยังเมินเฉยที่จะแก้ปัญหาให้เหมือนที่ผ่านมาวันที่ 17 มิ.ย.นี้ รถบรรทุกสินค้าภาคอีสานทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคันจะมารวมตัวกันที่โคราช ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนรถบรรทุกสิบล้อทั้งหมดไปตามถนนมิตรภาพ เข้าสู่กรุงเทพฯ

ตอ.เกือบพันคันร่วมหยุดประท้วง

นายสงบ กิ่งทอง ประธานชมรมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบัง พร้อมสมาชิกนำรถบรรทุกและรถตู้คอนเทรนเนอร์มาจอดบริเวณไหล่ทาง ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่บริเวณหน้าการท่าเรือแหลมฉบัง ยาวกว่า 5 กิโลเมตรทั้ง 2 ฝั่งโดย ได้เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลจัดหาน้ำมันราคาพิเศษ ให้ภาคขนส่งทางบก 2.การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน(รถบรรทุก) 3.ขอสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.5% ต่อปี เพื่อการใช้พลังงานทดแทน 4.การลดภาษีรถบรรทุกใหม่เครื่องยนต์ NGV เหลือ 10% 5.ขอเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้พลังงานทดแทน

6.ขอให้สร้างสถานี NGV ครอบคลุมแต่ละภูมิภาคและมีความเพียงพอสำหรับ รถบรรทุก 7.ขอให้มีการปรับปรุงคุณภาพของ NGV ให้มีความสะอาดและมีมาตรฐานค่าความร้อนคงที่ 8.การวางแผนนโยบายการใช้ NGV อย่างต่อเนื่องทั้งระยะปานกลางและระยะยาวและเป็นรูปธรรม 9.แก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง และ 10.จัดระบบการเทียบเรือให้มีการสมดุลแต่ละท่า

ส่วนที่บริเวณถนนสาย 3191 ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถพ่วง 18 ล้อกว่า 100 คัน นำรถมาจอดรถบริเวณริมถนนทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ทั้งนี้ กลุ่มรถบรรทุกและรถพ่วง 18 ล้อใน จ.ระยองได้ยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รวม 4 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลจัดหาน้ำมันราคาพิเศษให้ภาคการขนส่งทางบก 2.ให้รถบรรทุกสามารถแปลงทรัพย์สินเป็นทุน เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันสินเชื่อ 3.ให้รัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้การเปลี่ยนแปลงพลังงาน 4.ให้รัฐกำหนดนโยบายก๊าซ เอ็นจีวี อย่างชัดเจนต่อเนื่องและยั่งยืน

นายกำพล เพชรกำแพง เลขาธิการสมาคมขนส่งทางบก กล่าวว่า สมาคมฯ มีสมาชิกเป็นรถบรรทุกใน 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวนทั้งสิ้น 7,205 คัน แต่การรวมตัววันนี้เป็นการส่งรถบรรทุกเข้าร่วมเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยที่ยังคงมีการเดินรถตามปกติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงพลังให้เห็น โดยหากภายใน 7 วันนับจากนี้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ขอให้รัฐบาลเข้ามาเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกยังไม่ได้รับความชัดเจนใดๆ ก็พร้อมที่จะระดมสมาชิกรถบรรทุกทั้งหมดเข้าไปรวมตัวประท้วงที่กรุงเทพฯต่อไป

นายพิสิทธิ์ แซ่โง้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งภาคใต้ตอนล่าง เปิดเผยว่า ในส่วนของรถบรรทุกในภาคใต้ตอนล่างวันนี้รถยังคงวิ่งปกติและวันนี้เช้า (12) ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมกับทางสมาคมขนส่งแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ประกอบการขนส่งทั่วประเทศ ที่กรุงเทพฯ เพื่อหาแนวทางว่าจะเอายังไง

คมนาคมขอดูต้นทุนก่อน

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม ฝ่ายการขนส่ง กล่าวว่า การหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถบรรทุกนั้นได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ทางกระทรวงคมนาคมได้ให้สมาคมฯรถบรรทุกทำรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนเที่ยววิ่งการให้บริการ และรายละเอียดทั้งหมดส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคม อย่างเร่งด่วนเพื่อจะนำเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณา ซึ่งผู้ประกอบการรับปากจะทำข้อมูลส่งให้กระทรวงได้ภายในวันที่ 13 มิ.ย. นี้ ส่วนการจัดหาน้ำมันราคาถูกนั้นต้องให้ทางคณะกรรมการบริหารพลังงาน ( กบง.) พิจารณา ซึ่งทางสมาคมฯอีสานนั้นขอน้ำมันจำนวน 400,000 ลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือราคาน้ำมันเป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น 6 เดือนเท่านั้น

เพิ่มกำลังผลิต NGV รองรับที่ขอนแก่น-สระบุรี

พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้บมจ.ปตท. ได้เพิ่มกำลังผลิตเพื่อจ่าย NGV ของสถานีหลักหรือสถานีแม่แก่งคอย จังหวัดสระบุรีแล้วเสร็จ มีกำลังการจ่ายก๊าซ NGV เพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน รวมถึงการติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันเพิ่มเติมในสถานีหลักน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพิ่มกำลังผลิตได้อีก25 ตันต่อวัน ทำให้ปัจจุบันกำลังผลิตการจ่าย NGV ของสถานีบริการหลักทั้ง 2 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 320 ตัน/วัน จากความสามารถเดิมที่จ่ายได้เพียง 145 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ยังปรับปรุงขยายสถานีแม่ที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 8 แห่ง จากทั้งหมด 11 แห่ง และ เพิ่มสถานีแม่แห่งใหม่อีกจำนวน 5 แห่ง รวมถึงเพิ่มจำนวนรถขนส่ง NGVจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 439 คัน เพิ่มขึ้นเป็น900 คัน ในสิ้นปี 2551 ซึ่งปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการ NGV จำนวนถึง 202 แห่ง (รวมสถานีจ่ายก๊าซหลักหรือสถานีแม่ 11 แห่ง) ทั่วประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 355 แห่งในสิ้นปี 2551

ศาลปกครองยกเลิกคำสั่งเบรคขึ้นค่าธรรมเนียมรถร่วม บขส.

นายณัฐ รัฐอมฤต ตุลาการศาลปกครองสูงสุด อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งให้ทุเลาขึ้นค่าธรรมเนียมรถร่วม บขส. โดยวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีมติกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง และให้ยกเลิกคำขอทุเลาขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทำให้รถร่วม บขส. ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมได้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นแนวทางปฏิบัติและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอยู่แล้ว

นายวิโรจน์ วงศ์ธีเรศ เลขาธิการสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า จะเดินทางไปพบอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อแจ้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คาดว่า จะสามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมรถร่วม บขส. ได้วันที่ 12 หรือ 13 มิถุนายน 2551 และไม่จำเป็นต้องมีมติอีก สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมรถร่วมปรับอากาศ บขส. มีตั้งแต่อัตรา 40 - 180 % ของค่าโดยสาร ตามประเภทของรถโดยอัตราที่ปรับขึ้นจะคิดตามร้อยละของค่าโดยสารที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ คือ 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร

แท็กซี่จ่อขึ้น ขบ.ชงคมนาคมตัดสิน

นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)กล่าวว่า วานนี้ (11 มิ.ย.) กลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้เข้าพบเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าโดยสาร แต่การหารือยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะเสนอทางเลือกให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ในวันนี้ (12 มิ.ย.) ระหว่างคงระยะเริ่มต้น 35 บาทและปรับตามระยะทางประมาณ 50 สตางค์ ถึง 1 บาท หรือ ปรับอัตราเริ่มต้นเป็น 40 บาท และปรับตามระยะทางประมาณ 50 สตางค์ นอกจากนี้ จะกำหนดให้ใช้ราคามิเตอร์ในทุกพื้นที่และวิ่งไปต่างจังหวัดและให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม

ที่ผ่านมา ขบ.ได้ศึกษาอัตราค่าโดยสารของแท็กซี่และได้ข้อสรุปว่า ระยะเริ่มต้นให้คงไว้ 2 กิโลเมตรแรก 35 บาท แต่ระยะทางหลังจากนี้กิโลเมตรที่ 2-12 คิดค่าโดยสาร กิโลเมตรละ 4.50 บาท, กิโลเมตรที่ 12-20 คิดกิโลเมตรละ 5.29 บาท,กิโลเมตรที่ 20-40 คิดกิโลเมตรละ 5.79 บาท ,กิโลเมตรที่ 40-60 คิดกิโลเมตรละ 6.90 บาทกิโลเมตรที่ 60-80 คิดกิโลเมตรละ8.51 บาท และกิโลเมตรที่ 80 ขึ้นไปคิดค่าโดยสารกิโลเมตรละ 9.31 บาท

ในขณะที่ผู้ประกอบการรถแท็กซี่เห็นว่า 2 กิโลเมตรแรก น่าจะปรับขึ้นจาก 35 บาท เป็น 40 บาท ส่วนกิโลเมตรหลังจากนั้นคิดกิโลเมตรละ 6 บาท หากไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นค่าโดยสาร ขอให้รัฐช่วยเหลือ เช่น ยืดอายุรถแท็กซี่ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี ให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย

"ทรงศักดิ์ "รับขึ้นแบบลดระยะทาง

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้รับรายงานผลการหารือเรื่องการพิจารณาค่าโดยสารรถแท็กซี่แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่าให้ปรับราคาแบบ ลดระยะทางในการเก็บค่าโดยสาร เมื่อเริ่มใช้บริการ จากเดิม 2 กม.แรก 35 บาท จะเหลือเพียง 1 กม. และหลังจากนั้น จะจัดเก็บ เพิ่มขึ้น ในทุกกม.ๆละ 50 สตางค์

สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่ จะอยู่ที่ 1 กม.แรก 35 บาท ระยะทาง 2-12 กม. เก็บในอัตรา กม.ละ 5.50 บาท, 12-20 กม.เก็บ กม.ละ 6 บาท ,20-40 กม. เก็บอัตรา กม.ละ 6 บาท ,40-60 กม. จัดเก็บกม.ละ 6.50 บาท, 60-80 กม. เก็บ กม.ละ 7.50 บาท และตั้งแต่ 80 กม.ขึ้นไป เก็บในอัตรา กม.ละ 8.50 บาท อย่างไรก็ตามแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวจะนำเข้าหารือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคมอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการกำหนดวัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น