xs
xsm
sm
md
lg

สภารับร่างกม.ฟันนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (11มิ.ย.) ได้ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ นัดแรก มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าวาระได้มีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯประกาศพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2551 รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง นายชวรัตน์ ชาญวีระกูล เป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ เป็น รมช.สาธารณสุข และรับทราบพระบรมราชโอการ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
พร้อมกันนี้ ยังรับทราบที่ศาลฎีกาได้มีหนังสือแจ้งการรับคำร้อง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.บุรีรัมย์แล้ว ส่งผลให้ นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และนายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ต้องยุติการทำหน้าที่ จึงไม่นับทั้ง 2 คนเป็นสมาชิก จนกว่าการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่ศาลฎีกาเป็นผู้เสนอ โดยสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 27 ส.ค.นี้ โดยนายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้แจงว่า หลักการเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบฯ ปี 42 เพื่อให้มีบทบัญญัติรองรับรัฐธรรมนูญ 50 อาทิ การกำหนดให้ศาลฯ พิจารณาคดีที่มีมูลแห่งคดี เป็นการกล่าวหาผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ รวมถึงการที่ผู้ดำรงตำแหน่งฯ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือจงใจยื่นเท็จหรือปกปิด หรือเพิ่มวิธีการอุทธรณ์ของผู้ถูกดำเนินคดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นต้น
จากนั้นสมาชิกฝ่ายค้าน และรัฐบาลได้สลับกันอภิปราย โดยในส่วนฝ่ายค้านได้สนับสนุนร่างดังกล่าว และ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ต้องนิยาม คำว่า "ผู้เสียหาย"ให้ชัด และคณะกรรมการไต่สวน กรณี ป.ป.ช.ร่ำรวยผิดปกติ น่าจะเปิดกว้างให้ผู้พิพากษาทุกระดับเข้ามาได้ รวมถึง ควรกำหนดเวลาการไต่สวนของผู้ไต่สวนอิสระให้ชัด อาจกำหนด 1 ปี ถ้าไม่เสร็จก็ให้ขอขยายเวลาได้ และควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ไต่สวนอิสระรวมถึงจำนวนผู้ไต่สวนอิสระให้ชัด เพราะมีผลต่อการลงมติ และควรมีกระบวนการการตรวจสอบผู้ไต่สวนอิสระ รวมถึงควรปรับปรุงกฎหมายทุก 5 ปี ให้ทันสถานการณ์
นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ในช่วงที่ประเทศไทย และประชาชนรู้สึกโดดเดี่ยวจากการเลือกปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอัยการ จึงทำให้ศาลยังเป็นที่พึ่งหวังเดียวของประชาชน เพราะเห็นได้ชัดเจน ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่อดีตผู้นำของประเทศไทย ซึ่งถูกกล่าวหาด้วยเรื่องร้ายแรง แต่เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะรมว.มหาดไทย กลับเดินทางไปให้การต้อนรับเต็มที่ถึงสนามบิน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนร่างฯ โดยระบุว่า กรณีนายสุนัย ประชาชนหดหู่ใจและไม่เชื่อต้นทางกระบวนการยุติธรรม ส่วนอัยการ คตส.ยื่นสำนวนสอบไป ก็มีปัญหา นอกจากนี้ในอดีต มีการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. , กกต. หรือวุฒิสภาบางส่วน การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถทำได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ เปิดให้ผู้เสียหายสามารถยื่นศาลฎีกา เพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระได้โดยตรง ถือเป็นความก้าวหน้า และสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายลักษณะนี้ จึงขอสนับสนุน

**รัฐบาลสันหลังหวะเรื่องแจ้งบัญชี
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ลุกอภิปรายคัดค้าน และตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายจุด อาทิ การไม่รายงานทรัพย์สิน จะต้องถูกดำเนินคดี จุดนี้น่าจะเขียนว่า เฉพาะเมื่อมีเจตนาพิเศษ จงใจปกปิด เพราะนักการเมืองหลายคนมีทรัพย์สินเยอะ อาจหลงลืม ส่วนการให้มีผู้ไต่สวนอิสระ ถือว่าเป็นการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นซ้ำซ้อน ไม่เป็นไปตามหลักการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย เป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร เพิ่มอำนาจตุลาการมากขึ้น จึงไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนตบหน้า ป.ป.ช. และยังเหมือนกับการที่ คมช. ตั้ง คตส. นอกจากนี้ การตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ที่กำหนดว่า ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง จุดนี้มีปัญหาว่าเอาอะไรมาวัด และยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้ไต่สวนอิสระให้ชัด
"ถ้าศาลฎีกาสามารถตั้งผู้ไต่สวนหรือพนักงานสอบสวน จะเป็นการแทรกแซงดุลอำนาจสามฝ่าย หรือเพิ่มอำนาจมากกว่าศาลฎีกา สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 50ต้องการให้มีตุลาการภิวัฒน์ เพื่อจัดการกับนักการเมือง จะขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 50ยังได้มีการต่ออายุ 6 ปี หรือ 9 ปี ให้กับ องค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. , กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการชัดๆ" นายนิสิตกล่าว
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน อภิปรายว่าร่างกฎหมายเขียนชัดเจน เป็นเรื่องการเมืองเพราะเป็นการเปิดช่องให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระและเขียนสำนวนได้เอง ทำไมไม่เปิดให้มีการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อขึ้นศาล ควรให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ใน 30 วันก่อนศาลตัดสิน แต่เขียนยังไม่ชัดเจน ยังมีเงื่อนไขว่า คนจะยื่นอุทธรณ์ จะต้องมีหลักฐานใหม่ชี้ชัดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงคดีได้ ตรงนี้ไม่เห็นด้วย ควรให้มีการอุทธรณ์ และมีเงื่อนเวลาชัดเจนอาจ เป็น180 วัน ก็ต้องเขียนให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุดได้มีมติรับหลักการด้วยเสียง 339 ไม่เห็นด้วย 2 เสียง พร้อมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 36 คน พิจารณาแปร ญัตติภายใน 7 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น