xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยรูดหลุด800จุด"ฟอร์ซเซล"ซ้ำเติมวิกฤตเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - นักลงทุนต่างชาติหวั่นวิกฤตเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยบานปลาย ทิ้งหุ้นไทยต่ออีก 1.4 พันล้านบาท ผสมโรงโบรกเกอร์บังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซลล์) ฉุดดัชนีตลาดหุ้นหลุด 800 จุด ก่อนจะปิดที่ 791.94 จุด ระบุระยะเวลาแค่ 12 วันต่างชาติทิ้งหุ้นไทยแล้วเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ด้านบล.ทีเอสเอฟซี ชี้ตลาดหุ้นดิ่งติดต่อ 2 วัน ขณะที่ "อาชว์" ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังดี แม้ต้องเจอมรสุมการเมืองฉุดจีดีพีโตไม่ถึง 5% และเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.พุ่งแตะ 8%

ภาวการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (10มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตลาดหลังจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างประเทศยังคงขายหุ้นออกมาต่อเนื่องผสมแรงขายของนักลงทุนที่ถูกบังคังขาย (force sell) ฉุดให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงต่ำกว่า 800 จุด

โดยดัชนีปิดที่ 791 .94 จุด ลดลง 13.64 จุด หรือลดลง 1.69% ระหว่างวันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 807.39 จุด ต่ำสุด 788.86 จุด มูลค่าการซื้อขาย 18,976.13 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,462.70 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 208.83 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,671.53 ล้านบาท

หากพิจารณาการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศจะพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2551 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 28,344.85 ล้านบาท และจากตั้งปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิ 28,957.47 ล้านบาท ขณะที่การเปรียบเทียบกับดัชนีสูงสุดในปี 51 เมื่อวันที่ 21 พ.ค. อยู่ที่ 884.19 จุด กับล่าสุด ดัชนีลดลงแล้วกว่า 92.25 จุด หรือลดลง 10.43%

นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างแรง โดนเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ในประเทศเองยังต้องเผชิญปัจจัยเรื่องของการเมืองที่ยังอึมครึมอยู่

"ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ประชาชนลดการใช้จ่ายลง รวมถึงกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่จะค่อยๆ ลดลง แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแบบทันทีทันใด"

สำหรับกรณีที่นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นออกมาต่อเนื่องนั้น หากนักลงทุนต่างประเทศมีการปรับพอร์ตถึงจุดหนึ่งแล้วแรงขายต่างประเทศน่าจะลดลง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นออกมา เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทุกประเทศได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ในประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการเมืองพ่วงเข้าไปด้วย

"ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ทำให้ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อของทุกประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต่อเนื่องและกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว"
นายสุชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากดัชนีตลาดหุ้นลดลงต่ำกว่า 800 จุด บริษัทได้เรียกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) เข้ามาวางหลักประกันเพิ่ม แต่ยังไม่ถึงขึ้นต้องบังคับขายหุ้น

หุ้นดิ่งโบรกสั่งฟอร์ซเซล

นายวีระชัย อาภรณ์พัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด หรือ (TSFC) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาแรงติดต่อกัน 2 วัน ทำให้ลูกค้ามาร์จิ้นจะถูกบังคับขายออกมาบ้าง ซึ่งทางบริษัทมีการบังคับให้ลูกค้าที่กู้ยืมเงินจากบริษัทมีการขายหุ้นออกมา แต่ไม่สามารถตอบได้ว่ามีจำนวนเท่าไร และบริษัทอะไร เพราะข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นความลับ

ทั้งนี้ การที่บริษัทมีการสั่งบังคับขายหุ้นนั้นก็เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำหนดไว้ โดยในปีที่ผ่านบริษัทได้มีการปล่อยวงเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์จำนวน 6,500 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นไทย

หุ้นต่างชาติดิ่งหนักหวั่นเงินเฟ้อ

นางบุญพร บริบุรณ์ส่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการสายงาน บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยนอกประเทศ ทั้งเรื่องของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง เช่น ตลาดหุ้นฮ่องกอง ลดลง 1,000 จุด อินเดีย ลดลง 400 จุด เวียดนามลดลง 250 จุด ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คือ การเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง

"นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง แต่จะมีแรงขายฟอร์ซเซลล์ออกมาของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในหุ้นเก็งกำไร สังเกตหุ้นเก็งกำไรปรับตัวลดลง 15% แรก ที่เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่การตลาดเริ่มโทรเรียกวงเงินเพิ่มจากลูกค้า แต่เชื่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่นำเงินมาใส่เพิ่มไม่ทัน ทำให้ช่วงบ่ายจึงถูกบังคับขายออกมา ผสมโรงกับการตัดสินใจเทขายหุ้นของลูกค้าเองด้วย เพื่อตัดขาดทุน จึงทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มเก็งกำไรปรับตัวลดลงมาก"

อย่างไรก็ตาม ส่วนของบล.กิมเอ็งแล้วไม่ได้มีการปล่อยวงเงินมาร์จินในหุ้นกลุ่มเก็งกำไรเลย โดยทางบริษัทได้มีทีมงานที่ปล่อยวงเงินมาร์จินให้ลูกค้าซึ่งจะมีเครื่องมือของทางบริษัทเอง ซึ่งจะอิงจากมูลค่าการซื้อขาย ราคาหุ้น และขนาดมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์ (มาร์เกตแคป) ซึ่งในเดือนนี้บริษัทไม่ปล่อยมาร์จิ้นหุ้น 4-5 บริษัท ให้แก่ลูกค้า

ซับไพรม์ยังคงกดดันหุ้น

นางสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศยังเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยวานนี้ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน 257 จุด และตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวลดลง 1026 จุด เนื่องจากมาตรการที่รัฐบาลจีนสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ในจีนเพิ่มวงสำรองในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ 0.5% และในวันที่ 25 มิ.ย. อีก 0.5% เพราะกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจมีมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์) ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุน หลัง บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ แจ้งว่าไตรมาส 2/51 อาจประสบผลขาดทุนจากซับไพรม์ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจจำเป็นต้องเพิ่มทุน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์กันไว้ เมื่อรวมกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง กดดันภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวได้ ทำให้บรรยากาศการลงทุนวานนี้ไม่ค่อยดี

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อ ซึ่งจะต้องติดตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯตลาดหุ้นภูมิภาค ค่าเงินบาท และราคาน้ำมันดิบ แต่หากปรับตัวลดลงเชื่อว่าปรับตัวไม่เกิน 10 จุด โดยประเมินแนวรับ 780 จุด แนวต้านที่ระดับ 800 จุด ซึ่งเชื่อว่าภายในเดือนนี้ดัชนีจะรีบาวน์ได้ โดยกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มแบงก์ที่ลดลงมามากในช่วงที่ผ่านมา

ต่างชาติทิ้งหุ้นกดค่าบาทอ่อน

นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะทำงานสื่อสารองค์กร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาที่นักลงทุนต่างประเทศได้เทขายหุ้นทิ้ง ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังโชคดีที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศหลักๆ ที่ต่างชาติยังให้ความสนในการลงทุนเป็นอันดับที่สองรองลงมาจากประเทศเวียดนาม ซึ่งโดยภาพรวมแล้วยังดีอยู่

สำหรับปัญหาที่น่าห่วงมากที่สุดขณะนี้คือ ปัญหาเรื่องการเมืองที่ยังมีการชุมนุม ยืดเยื้อ และปัญหาเรื่องการที่รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนน้ำมันขึ้นมาด้วย

ขณะที่เงินบาทที่อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาทนั้น ถือว่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่ว่าปัจจุบันนี้ค่าเงินบาทยังไม่มีเสถียรภาพเท่าใด มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วเกินไป ทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะเข้ามาดูแลให้ดีกว่านี้

"ปีนี้หากปัญหาการเมืองยังมีอยู่ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมว่า ค่าจีดีพีคงได้ไม่ถึง 5% จากเดิมที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.5-5.5% อย่างเก่งตอนนี้ก็คงไม่น่าจะเกิน 5% แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อเมื่อเดือนที่แล้วสูงถึง 7.6% คาดว่าในเดือนต่อไป น่าจะสูงขึ้นมากถึง 8% ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องรู้จักหาวิธีการเข้ามาดูแลให้ดีขึ้น" นายอาชว์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น