xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นไทยดีดกลับต่างชาติซื้อจับตาค่าเงินสหรัฐน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหุ้นไทยดีดกลับ หลังต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิ ดันดัชนีบวกไปเกือบ 8 จุด และมูลค่าซื้อขาย 3 วันทำการล่าสุดสูงถึง 56,368.70 ล้านบาท โบรกฯ เชื่อค่าเงินสหรัฐฯ เป็นตัวแปรสำคัญกับตลาดหุ้นนับจากนี้ เหตุกระทบความผันผวนของ Fund Flow รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พร้อมจับตาตลาดหุ้นต่างประเทศและราคาน้ำมัน คาดเปิดตลาดสัปดาห์นี้ดัชนีอาจปรับตัวลงตามดาวโจนส์ที่ร่วงแรงเกือบ 400 จุด โดยประเมินกรอบที่ 800-840 จุด พร้อมแนะจับตาการเมือง ราคาน้ำมันดิบ เหตุคาดเดายาก ขณะที่ตลาด AFET วันศุกร์ที่ผ่านมาทำนิวไฮท์ 1,649 สัญญา

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 มิ.ย.) ปิดที่ 817.33 จุด บวกเพิ่มขึ้น 7.51 จุด คิดเป็น 0.93% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 19,533.79 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,067.12 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 310.12 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศขายสุทธิ 1,377.24 ล้านบาท ขณะที่เมื่อ 5 มิ.ย. ดัชนีปิดที่ 809.82 จุด เพิ่มขึ้น 0.90 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.11% มูลค่าซื้อขาย 16,372.47 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,347.19 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,457.76 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,889.44 ล้านบาท ส่วนเมื่อ 4 มิ.ย. ดัชนีปิดที่ 808.92 จุด เพิ่มขึ้น 0.26 % ด้วยมูลค่าซื้อขายรวม 20,462.44 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าซื้อขายรวม 3 วันเท่ากับ 56,368.70 ล้านบาท

แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มคลายความกังวล โดยเฉพาะแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อนแล้ว ขณะที่ต่างชาติแม้จะเทขายมาก่อนหน้า แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็แรงซื้อเข้ามา ดันให้ดัชนีหุ้นปิดบวกไปเกือบ 8 จุด

จับตาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ -ตลาดหุ้นนอก

ทีมวิเคราะห์ทางเทคนิคและกลยุทธ์การลงทุน บล.ไอร่า เปิดเผยว่า ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวแปรสำคัญหลังจากนี้ จากการที่เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายมาตลอดตั้งแต่ปี 49 ที่ 5.25% จนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่ 2% ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง และต้องยอมรับว่าสาเหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีน้ำหนักมากในการผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ทะยานขึ้นจากปี 49 ที่บริเวณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปทำจุดสูงสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่เกือบ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยก่อนหน้านี้ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรักษาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ให้อ่อนค่าเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ สิ่งนี้ทำให้ทางประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB ) ส่งสัญาณว่าแนวโน้มการตรึงดอกเบี้ยก่อนหน้านี้ไม่แน่นอน บางธนาคารอาจสนันสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ความผันผวนของค่าเงินส่งผลให้เกิดความผันผวนของ Fund Flow ไหลเข้าออกแหล่งต่างๆ เพื่อปกป้องค่าเงินสหรัฐฯที่อ่อนค่า รวมถึงตลาดโภคภัณฑ์ต่าง ๆ

ขณะที่นับจาก พ.ค.47 ที่ต่างชาติเริ่มซื้อสะสมสุทธิเพิ่มขึ้นมาตลอดและทำ ALL TIME HIGH มาตลอดสอดคล้องกับค่าเงินสหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงมาตลอด การทำ ALL TIME HIGH เริ่มเปลี่ยนเป็นเคลื่อนตัวออกด้านข้างนับแต่กลางปี50 เป็นต้นมา หากแนวโน้มค่าเงินบาทเริ่มเปลี่ยนทิศทางเป็นอ่อนค่าลง ก็จะส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นแน่นอน สำหรับภาวะตลาดหุ้นระยะยาวจะผันผวนตามทิศทางค่าเงินและโภคภัณฑ์ ระยะสั้น-ระยะกลาง มองการรีบาวน์รอบนี้ที่บริเวณ 828 จุดก่อน

อย่างไรก็ตาม ดัชนีอาจไม่ได้ปรับขึ้นแบบ V-SHAPE รีบาวน์ทีเดียวก็ได้ อาจลงมาทำรูปแบบ DOUBLE BOTTOM แล้ว รีบาวน์ต่อก็ได้ตามความผันผวนและจากท่าทีต่างชาติที่กลับมาซื้อสุทธิเพียงเล็กน้อย 310 ล้านบาท จากที่ขายมาก่อนหน้านี้อย่างหนัก และค่าเงินบาทก็อ่อนตัวเข้าใกล้แนวต้านที่บริเวณ 33.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีโอกาสที่ต่างชาติจะหยุดขายระยะสั้นๆได้ แต่ยังไม่มีสัญญาณกลับตัวยืนยัน ทั้งนี้ต้องติดตามแนวโน้มค่าเงินสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งล่าสุดดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง และผลักดันราคาน้ำมันดิบกลับไปที่ 138 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กดดันดัชนีดาวน์โจนส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาลบไปเกือบ 400 จุด รวมทั้งอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยเปิดสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงได้

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับบรรยากาศการลงทุนยังคงเป็นปัจจัยเดิมเหมือนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ประการแรก ปัญหาการเมืองในประเทศ เมื่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ประการที่สอง ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลกระทบกับราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งมีน้ำหนักกับตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก ประการสุดท้าย ทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ

แม้วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย แต่ยังไม่เห็นสัญญาณซื้อสุทธิที่ชัดเจน เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนยังถูกกดดันจากปัจจัยลบที่ชัดเจน อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 7.6% แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น บวกกับปัญหาการเมืองในประเทศที่คาดว่าจะไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ คาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีแนวรับที่ 800 จุด และแนวต้านที่ 840 จุด โดยประเมินว่าเมื่อดัชนียืนเหนือ 820 จุด มีโอกาสที่จะมีแรงขายออกมา ส่วนกลยุทธ์การลงทุน นักลงทุนระยะสั้นระวังแรงขายทำกำไรบริเวณ 820 จุด ขณะที่นักลงทุนระยะยาวแนะนำ"ทยอยซื้อ "แต่ต้องถือยาว ในกลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัวที่ราคาปรับลดลงมามาก และกลุ่มที่มีความปลอดภัยเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นสูง

นางสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ เชื่อว่าดัชนีจะปรับขึ้นต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาดัชนีปรับลดลงมาแรงและเร็ว เพื่อรับข่าวลบต่าง ๆ ไปพอสมควรแล้ว เมื่อดัชนีลงมาใกล้ 800 จุด ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจลงทุน ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาประกอบ ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้น่าจะค่อย ๆ ขยับขึ้น

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ คือ การชุมนุมของพันธมิตรของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบกับท่าทีของรัฐบาล ขณะที่น้ำหนักของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะลดลงแล้ว เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะรับรู้แล้วว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น พร้อมกันนี้ยังต้องติดตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ที่ยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร โดยประเมินแนวรับที่ 807-813 จุด และแนวต้านที่ 830 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุน หากเปิดตลาดมาดัชนีปรับเพิ่มขึ้นแรงๆ "ไม่แนะนำเข้าซื้อ" สำหรับกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัวที่ราคาหุ้นลดลงมามาก กลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ PTTEP และ BANPU

AFET ทำนิวไฮท์ 1,649 สัญญา

นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET เปิดเผยว่าเมื่อวานที่ศุกร์ที่ผ่านมา (6 มิ.ย.) การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าข้าวขาว 5% (BWR5) มีปริมาณซื้อขายสูงสุดนับแต่เปิดซื้อขาย โดยมีปริมาณซื้อขาย 1,263 สัญญา และสัญญายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) จำนวน 386 สัญญา ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายรวมทำ New High เท่ากับ 1,649 สัญญา โดยสัญญาข้าวที่มีการซื้อขายมากสุด คือ สัญญาข้าวส่งมอบเดือนกรกฏาคม 972 สัญญา ส่วนสัญญายางส่งมอบเดือนมกราคม จำนวน 293 สัญญา

สำหรับสาเหตุที่มีการซื้อขายข้าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจากการปรับตัวของสภาวะตลาดและการคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายข้าวของภาครัฐ ส่วนราคายางพาราเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและการอ่อนค่าของเงินเยน ทั้งนี้บรรยากาศการซื้อขายในช่วงเช้าคึกคัก สัญญาข้าวได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีแรงซื้อขาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายรวมเกือบแตะ 1,000 สัญญา อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากความร้อนแรงของราคาข้าวตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ราคาสูงขึ้นถึง 1.50 บาท/กก. อันเป็นการปรับตัวจนชนราคาเพดานของตลาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

ส่วนสินค้ายางพาราก็ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบ่าย ส่งผลให้มีปริมาณการซื้อขายรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการปรับตัวของราคานี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 127 ดอลลาร์ ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอีกครั้งในรอบ 3 เดือน กดดันให้ราคายางพาราในช่วงเดือนส่งมอบ ธ.ค. 51 และ ม.ค.52 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นชนราคาเพดาน(Ceiling price) อย่างไรก็ตามในระยะนี้ราคาซื้อขายใน AFET ยังมีการแกว่งตัวตามภาวะตลาด จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนและผู้ประกอบการในการสร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยงจากกลไกการซื้อขายล่วงหน้าใน AFET
กำลังโหลดความคิดเห็น