xs
xsm
sm
md
lg

อานันท์ชี้สมานฉันฑ์อยากเหตุฝ่ายหนึ่งแก้รธน.เพื่อให้พ้นผิด-อีกกลุ่มค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ ความไม่สงบของบ้านเมืองในปัจจุบันว่า เรื่องนี้มีคนพูดมาเยอะแล้ว ขอเงียบๆดีกว่า อย่างไรก็ตามในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองก็มอง สถานการณ์ ด้วยความห่วงใยแต่ในหลักการณ์ของตนคิดว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะต้องมีความเห็นที่แตกต่าง แต่มันก็ควรจะอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุยกันได้ หาทางออกร่วมกันได้ และไม่ควรที่จะนำไปสู่การให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กำลัง ควรเป็นการคุยโดยสันติภาพ อหิงสา ถ้าหากความเห็นแตกต่างกันนี้มันจะนำไปสู่ความแตกหักนั้น มันคงไม่สวยงาม แต่ปัจจุบันนี้มันแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน มันเกินขอบเขต ส่วนความสมานฉันท์จะเข้ามามีบทบาทอะไรได้บ้างในขณะนี้ ก่อนที่จะมีความสมานฉันท์กันได้ก็ต้องมองไปถึงเหตุที่มีความคิดที่แตกต่างกันมากกว่า อย่างไรก็ตามตนไม่กังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าทั้ง2 ฝ่ายควรยุติความขัดแย้งลงก่อนหรือไม่ นายอานันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันในสังคมไทยที่มีความแตกแยกออกเป็น 2 ขั้วมันเกิดจากการที่ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจกัน ถ้าเกิดแบบนี้มันก็ต้องมีอะไรบางอย่าง เพื่อให้ความไม่ไว้ใจดังกล่าวลดน้อยลงไปก่อน โดยถ้าเป็นสังคมที่มีระบอบประชาธิปไตย ก็สามารถใช้กลไกทางรัฐสภาสกัดปัญหา หรือลดความเข้มข้นของปัญหานี้ลงได้ แต่ถ้าสภาฯของเราไม่ทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ข้อขัดแย้งมันจะลงไปสู่ถนนหนทาง ในทุกๆ แห่งทุกประเทศ ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาในสภาฯได้ มันก็ต้องออกมานอกสภาฯ ปัจจุบันที่เห็นๆ กันอยู่ ข้าวยากหมากแพง น้ำมันขึ้นราคา ก็มีการออกมาชุมนุม ทุกหนทุกแห่งในโลก และนี่มันก็เป็นปรากฎการณ์ธรรมดา แต่ตราบใดที่การชุมนุมบนท้องถนนทำไปด้วยความสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง มันก็เป็นสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อเสนอของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ให้อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวกลางประสานทั้ง 2 ฝ่ายนั้น นายอานันท์ กล่าวว่า ตนแก่แล้ว ขอพักผ่อนบ้าง ขอให้เป็นคนหนุ่มไป ตนรู้สึกงงๆ ยังไม่ทราบเพราะยังไม่ได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ จึงไม่รู้ว่า นพ.ประเวศมีแนวคิดอย่างไร แต่เรื่องตัวกลางนั้นได้มีการพูดมาหลายสมัยแล้ว แต่การที่จะมีตัวกลางได้นั้นมันต้องให้ 2 ฝ่ายเป็นผู้เสนอมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ระบุว่าเลยขีดความสมานฉันท์นั้นหมายถึงว่าเลยขีดที่ 2 ฝ่ายจะคุยกันไม่ได้เลยหรือไม่ นายอานันท์ กล่าวว่า ตนคิดว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะฝ่ายหนึ่งไม่รู้เรื่อง ถ้าจะสมานฉันท์ได้มันต้องอยู่บนพื้นฐานที่ใกล้เคียงกันในบางประเด็นเสียก่อน
สมมติฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องเอาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอย่าไปแทรกแซง แล้วถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมตอบประเด็นนี้ มันก็พูดกันต่อไปลำบาก เราไม่ได้บอกว่าฝ่ายไหนถูกหรือฝ่ายไหนผิด แต่พยายามจะวิเคราะห์ว่าฝ่ายหนึ่ง เขาต้องการอะไร และอีกฝ่ายหนึ่งตอบประเด็นนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่ยอมตอบประเด็นนั้นอย่างตรงไปตรงมา หรือไปยกประเด็นอื่นขึ้นมามันก็เหมือนกับพูดสวนทางกัน นี่มันไม่ได้เป็นพื้นฐานของความสมานฉันท์ มันต้องพูดในเรื่องเดียวกันด้วย เช่นถ้าผมถามว่าคุณไปไหนมา แต่คุณตอบว่าสามวาสองศอก มันจะไปสมานฉันท์ได้อย่างไร คุณจะต้องสร้างพื้นฐานการนำไปสู่ความสมานฉันท์มากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าท่าทีของรัฐบาลก็ปล่อยให้มีการชุมนุมทำต่อไปในลักษณะนี้นั้น นายอานันท์ กล่าวว่า ตนก็ชมรัฐบาลที่อย่างน้อยก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และคิดว่าต่อๆไปก็คงจะไม่ใช้ความรุนแรง ก็ต้องให้เครดิตกับรัฐบาลและหน่วยราชการ แต่การที่บุคคลอื่นๆจะออกมาพูด หรือพฤติกรรมทางด้านอื่นก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน สำคัญต้องพูดให้รู้เรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าต้องเห็นด้วยทั้ง 2 ฝ่าย มันต้องพูดเรื่องเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าตัวกลางสามารถช่วยอะไรได้หรือไม่ นายอานันท์ กล่าวว่า ตัวกลางจะไปทำอะไรได้ เพราะไม่สามารถบอกว่าคุณต้องพูดอย่างนี้ อย่างนั้น คนกลางเป็นเพียงแค่ผู้ที่จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการแก้ปัญหา เหมือนเป็นผู้แทนคนหนึ่ง ทั้งนี้ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ไว้ใจที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ถอนไปแล้วก็เสนอขึ้นมาใหม่ได้
ถ้าผมเป็นคนธรรมดา และสมมติว่าถ้ารัฐบาลประกาศในสภาฯว่า จะไม่ ดำเนินการเรื่องนี้อีกแล้ว อันนั้นก็คงจะพอพูดคุยกันได้ แต่ผมไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะรับได้ หรือไม่ แต่ในแง่ของคนทั่วๆไป คนที่อยู่ข้างนอก รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาไม่เชื่อใจตรงนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลอ้างว่าจะทำประชามติก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอานันท์ กล่าวว่า ขอถามว่าจะประชามติเรื่องอะไร อย่าไปคิดว่าประชามติมันจะออกมาง่ายๆ แค่ตอบว่าเอาไม่เอา แก้ไม่แก้ มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ตนก็คงจะลงมติไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ในข้อ 1,2,3,4,5 มันก็ง่ายที่จะตัดสินใจว่าจะสนับสนุนหรือไม่ มันสมเหตุสมผลมากว่าเพราะอย่างน้อยก็รู้ว่าจะแก้ประเด็นไหน แต่แค่บอกว่าแก้ไม่แก้ ตนมองว่ามันไร้สาระ
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่างบประมาณเกือบ 3 พันล้านบาทในการทำประชามติ ไม่มีประโยชน์ นายอานันท์ กล่าวว่า คิดว่าไม่มีประโยชน์ ตนก็ไม่ได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ50 มันแก้ไขไม่ได้ และก็ไม่ได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 40 มันวิเศษเลิศลอย เห็นว่าทั้ง 2 อันมันแก้ได้ทั้งนั้น แต่จะแก้ประเด็นใด แต่ถ้าบอกว่าจะไปแตะต้องในประเด็นที่มันสำคัญตนก็ไม่อยากให้แก้ ควรจะแก้ประเด็นที่มันแก้ได้ เช่นส.ส.หรือรัฐมนตรีต้องเป็นผู้มีปริญญา นั้น มันจะอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับไหนตนก็อยากให้แก้ เพราะคิดว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นมันต้องพูดให้ชัดว่าถ้าจะแก้แล้วจะแก้อะไร
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แนะให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อคลี่คลายวิกฤตปัญหา บ้านเมืองว่า สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย แต่เป็นเรื่องของการใช้เสียงข้างมากแล้วไปกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งการโยกย้ายคน ที่เคยเกี่ยวข้องกับการทำคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการออกหมายจับเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปมปัญหา ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องช่วยกันทำให้กระบวนการยุติธรรม รักษาความเป็นอิสระได้ ขณะเดียวกัน ขอเรียกร้องให้ตำรวจรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำทุกอย่างให้ตรงไปตรงมา
นายอภิสิทธิ์ ยังแนะนำให้ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการถูกโยกย้าย ไปฟ้องศาลปกครอง เชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและ เวลานี้มีความพยายามใช้ อำนาจหน้าที่ของตำรวจในการดำเนินการกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จึงอยากให้ลด ละ เลิก เพราะจะทำให้รัฐบาลทำงานตามวิถีทางประชาธิปไตยได้เต็มที่
ขอฝากไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า ต้องทำตัวเหมือนคนอื่น ต้องพร้อม เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และพร้อมพิสูจน์ตัวเอง อย่าใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะดีสำหรับบ้านเมืองและน่าจะดีที่สุด ส่วนข้อเสนอของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอให้ อดีตนายกรัฐมนตรีมาปรึกษาหารือกันเพื่อวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น คิดว่า สามารถพูดคุยระดมความเห็นกันได้ แต่ไม่ทราบว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น