xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันโลกดิ่งต่อ!14ค่ายรถจวกอี85

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคาน้ำมันโลกลดลงต่อเนื่อง วานนี้ลงมาอีก 2 เหรียญต่อบาร์เรล ด้านเมืองไทยค่ายรถยนต์สุดจะเซ็งกระทรวงอุตฯ-พลังงานชิงกันเรียกหารือรายวัน หวั่นแค่หาเสียงท้ายสุดไม่จริงจัง “สุวิทย์” ถก 14 ค่ายรถถูกรุมยำนโยบายจูงใจผลิตต่ำไปแถมไม่มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน แย้มอาจมองสิทธิประโยชน์บีโอไอเอื้อได้ ด้านฮอนด้าชี้น้ำมันเบนซินต่ำกว่า 30 บาทผลิตไปก็ไม่คุ้ม

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงร่วงต่อลงมาอีก 2 ดอลลาร์เศษ จนอยู่ในระดับ 122 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายหลังตัวเลขน้ำมันตามคลังเก็บของสหรัฐฯแสดงว่าราคาที่พุ่งลิบลิ่วกำลังทำให้อุปสงค์ความต้องการใช้ของชาว อเมริกันลดฮวบฮาบ เช่นเดียวกับอินเดียและมาเลเซียก็ต้องลดมาตร-การอุดหนุนและขึ้นราคาพลังงาน ซึ่งมีหวังทำให้การบริโภคลดต่ำลง
สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูด ของตลาดไนเม็กซ์แห่งนิวยอร์ก ปิดวันพุธ (4) โดยลงมาอีก 2.01 ดอลลาร์ อยู่ที่ 122.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากในวันอังคารก็ถอยลง 3.45 ดอลลาร์แล้ว ส่วนสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ ของลอนดอน ปิดวันพุธก็ต่ำลงมา 2.48 ดอลลาร์ อยู่ที่ 122.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดำดิ่งภายหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯแถลงตัวเลขน้ำมันตามคลังเก็บทั่วสหรัฐฯประจำสัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเบนซินมีปริมาณเพิ่มขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรล สูงลิ่วกว่าที่ตลาดคาดหมายไว้ว่าจะเพิ่มเพียง 825,000 บาร์เรล และก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า อุปสงค์ความต้องการใช้ในประเทศซึ่งบริโภคน้ำมันสูงที่สุดของโลกแห่งนี้ กำลังชะลอตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคชักจะสู้ราคาเบนซินซึ่งแพงลิ่วไม่ไหว
ขณะเดียวกัน อินเดียกับมาเลเซียก็เป็น 2 ชาติเอเชียล่าสุด ที่ประกาศลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงภายในประเทศ และปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยอินเดียขึ้นไปราว 10% ส่วนมาเลเซียปล่อยขึ้นถึง 40% ทั้งนี้หลังจาก ไต้หวัน, ศรีลังกา, และอินโดนีเซีย ต่างมีการทบทวนมาตรการอุดหนุนของพวกตนกันไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว
ยิ่งกว่านั้น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ(โออีซีดี) ซึ่งเป็นคลังสมองของกลุ่ม 30 ประเทศอุตสาหกรรม ก็ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสมาชิกโออีซีดีลงมา ในรายงานล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ
ทั้งหมดเหล่านี้ คือเครื่องยืนยันว่า อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันไม่ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศเศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นใหม่ ต่างก็ลดถอยลงถ้วนหน้า
แต่นอกจากปัจจัยนี้แล้ว ราคาดอลลาร์ก็กำลังแข็งค่าขึ้นจนอยู่ในระดับเกือบสูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อวานนี้ ภายหลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เบน เบอร์นันกี ออกมาแสดงความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และเรื่องที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนปวกเกินไป เนื่องจากน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซื้อขายกันด้วยสกุลดอลลาร์ เมื่อค่าเงินตราอเมริกันขยับแข็งขึ้น พวกเทรดเดอร์จึงมองว่า ทำให้น้ำมันมีราคาแพงในสายตาของผู้ใช้เงินตราสกุลอื่น ตลอดจนพวกกองทุนที่เคยใช้ตลาดน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นเครื่องประกันความเสี่ยง จากภาวะเงินเฟ้อ ก็ต้องรู้สึกว่าตลาดนี้มีความน่าสนใจลดลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้หลังจากที่ในช่วงซื้อขายของแถบเอเชีย ราคาน้ำมันยังคงลดต่ำต่อมาจนกระทั่ง ไลต์สวีตครูดอยู่แถวๆ 122.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงบ่ายที่สิงคโปร์ พอถึงการซื้อขายทางยุโรป ปรากฏว่าเริ่มมีแรงซื้อล่าของถูกเข้ามา ทำให้ไลต์สวีตครูดขยับขึ้นไปอยู่ที่ 122.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากตอนปิดวันพุธ 57 เซ็นต์ เมื่อเวลาใกล้เที่ยงที่ลอนดอน ส่วนเบรนต์ก็เพิ่มขึ้น 50 เซ็นต์ อยู่ที่ 122.60 ดอลลาร์

14 ค่ายรถรุมยำรัฐไม่ชัดเจนอี85

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ช่วงเย็นนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรมได้แจ้งไปยังบริษัทรถยนต์ทั้งหมดให้เดินทางมาร่วมหารือเกี่ยวกับความพร้อมผลิตรถอี 85 ที่รร.รอยัล คลิปบีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งนายสุวิทย์มีแผนเดินทางไปเป็นประธานเปิดการสัมมนาปีแห่งการลงทุน 2551-2552 ส่งผลให้ผู้บริหารต้องเดินทางแต่เช้าตรู่เพื่อมาให้ทันการหารือในช่วงเวลา 8.30 น.วานนี้(5มิ.ย.) ขณะที่กระทรวงพลังงานเองเดิมได้ระบุที่จะหารือร่วมกับค่ายรถวันเดียวกันแต่ปรากฏว่าพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงานไม่ว่างจึงเลื่อนหารืออีกครั้งวันนี้ (6 มิ.ย.)
แหล่งข่าวจากค่ายรถยนต์รายหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความชัดเจนที่จะประสานงานกันในเรื่องการส่งเสริมอี 85 ที่จำเป็นต้องหารือร่วมทุกฝ่ายให้ไปทางเดียวกันทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม พลังงาน คลังในฐานะที่ต้องดูแลเรื่องภาษีแทนที่จะเรียกไปเรียกมาอยู่เช่นนี้และต่างฝ่ายต่างก็ทำจนไม่แน่ใจว่าท้ายสุดนโยบายนี้จะเป็นเพียงการหาเสียงจากฝ่ายการเมืองในช่วงวิกฤติน้ำมันแพงหรือไม่ ดังนั้นรัฐต้องมอบให้รอบด้านทั้งฝ่ายผลิตรถ ผู้ผลิตเอทานอล ผู้ค้าน้ำมัน รวมไปถึงเกษตรกรที่จะป้อนวัตถุดิบผลิตเอทานอลอีกด้วย

เล็งอัดสิทธิประโยชน์เท่าอีโคคาร์

รายงานข่าวจากบีโอไอแจ้งว่า กรณีการสนับสนุนมาตรการเพิ่มเติมนั้นบีโอไอสามารถเปิดประเภทกิจการใหม่ เหมือนกับที่เคยใช้กับอีโคคาร์มา ในส่วนของรถยนต์นั้นอีโคคาร์ได้รับสิทธิ์ประโยชน์สูงสุด อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 8 ปีในทุกเขตที่ตั้ง ดังนั้นหากให้สิทธิประโยชน์กับอี 85 เช่นเดียวกับอีโคคาร์เชื่อว่าจะช่วยให้เอกชนมาลงทุนอี 85 มากขึ้น เพราะการลดภาษีสรรพสามิตรถอี 85 กระทรวงการคลังให้ 25%-35% ตามขนาดของเครื่องยนต์ มีระดับภาษีสูงกว่าอีโคคาร์ที่อยู่ 17%

ชี้น้ำมัน 40 บาท ผลิตอี85 จะคุ้ม

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารบริษัทเอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การลงทุนอีโคคาร์นั้นมีการประหยัดน้ำมันอยู่แล้วซึ่งหากจะหันไปใช้อี 85 ก็ยิ่งประหยัดเพิ่มขึ้นซึ่งการปรับเทคโนโลยีให้ใช้อี 85 ได้ก็ลงทุนไม่มากแต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่หลายปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดโดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยขณะที่ในระดับ 40 บาทต่อลิตรถือว่าการผลิตยังมีความคุ้มทุนกว่าแต่หากต่ำไปกว่านี้โดยเฉพาะต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตรก็ผลิตไม่คุ้มทุนแน่นอนเพราะอี 85 มีความสูญเสียพลังงานมากกว่าดังนั้นผู้ผลิตก็จะต้องไปประเมินสถานการณ์น้ำมันให้ชัดเจนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะไปทิศทางใดแต่เชื่อว่าคงจะอยู่ในระดับแพงแต่ไม่มั่นใจว่าจะอยู่เฉลี่ยระดับใด
“ แผนผลิตอีโคคาร์ที่จะเริ่มออกมาในช่วงก.ย. 2552 นั้นขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะเลือนการผลิตกันแต่อย่างใด และการที่รัฐลดภาษีสรรพสามิตชิ้นส่วนมานั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะโจทย์ของรัฐคือการประหยัดน้ำมันหากต้องนำเข้ารถทั้งคันมาก็ต้องเสียดุลการค้าไปอีกจึงไม่เกิดประโยชน์อะไร “นายอดิศักดิ์กล่าว

NGV Roadmapกำหนดปี52 มีปั๊มทุกจว.

พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วานนี้( 5 มิ.ย) คณะกรรมการเร่งรัดการก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้รายงานแผน NGV ROADMAP โดยกำหนดเป้าหมายให้ปี 2552 จะมีสถานีNGVครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีปั๊มNGVอยู่ 45 จังหวัด
โดยสิ้นปีนี้ที่จะมีปั๊มNGV เพิ่มขึ้นจาก 355 แห่ง เป็น 450 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาสถานีบริการไม่เพียงพอ รวมทั้งจะมีการขยายสถานีแม่และสถานีแนวท่อเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาปั๊มไม่มีแก๊สเติมให้ลูกค้า
ในปีนี้ ปตท.ยืนยันว่าจะมีก๊าซNGV ป้อนปริมาณ 5,465 ตัน/วัน ปี 2552 จะเพิ่มเป็น 7,395 ตัน/วัน ปี 2553 เพิ่มเป็น 10,015 ตัน/วัน ปี 2554 จำนวน 12,950 ตัน/วัน และปี 2555 จำนวน 16,450 ตัน/วัน เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ NGV ในภาคการขนส่งที่มีการประเมินว่าจะปริมาณการใช้NGVในปีนี้ 2,460 ตัน/วัน ปี 2552 จำนวน 4,875 ตัน/วัน ปี 2553 จำนวน 7,210 ปี 2554 ปริมาณ 9,540 และปี 2555 ปริมาณ 12,220 ตัน/วัน
“ยืนยันว่าเดือนก.ค.นี้ การใช้ NGVจะสะดวกและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ โดยจะมีปั๊มให้บริการอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นจากพ.ค. 200 แห่ง กำลังการผลิต 1,670 ตัน/วัน เพิ่มเป็น 245 สถานีในก.ค. มีกำลังการผลิต 2,881 ตัน/วัน พร้อมทั้งมอบหมายให้นายณอคุณ ไปจัดแผนปฏิบัติและรายละเอียดเพิ่มขึ้น รวมถึงการประสานงานกับปตท.ไป”
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายการใช้ NGV ทดแทนการน้ำมันในภาคขนส่งปีนี้ 6% คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1.94 หมื่นล้านบาท และภายในปี 2555 จะทดแทนการใช้น้ำมันได้ 20% หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 9.45 หมื่นล้านบาท

เปิดทาง ปตท.ฮุบท่อก๊าซฯ 3 เส้น

พลโทหญิง พูนภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจัดส่งNGVทั่วถึง จะมีการลงทุนการสร้างท่อก๊าซ 3 เส้น ใช้เงินลงทุนรวม 5.16 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1. ท่อสายเอเชีย จากวังน้อย-นครสวรรค์ ระยะทาง 250 กม. ใช้เงินลงทุน 1.91 หมื่นล้านบาท 2.ท่อสายมิตรภาพจากสระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 170 กม. ใช้เงินลงทุน 1.38 หมื่นล้านบาท และ 3.ท่อสายเพชรเกษม จากราชบุรี- ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 270 กม. ใช้เงินลงทุน 1.87 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2554-2555 ซึ่งการลงทุนท่อก๊าซNGV ดังกล่าวนี้ทางปตท.จะเป็นผู้ลงทุน โดยมองว่าปตท.จะได้ประโยชน์หากกรณีที่ผู้ใช้รถปรับเปลี่ยนมาใช้NGV มากรวมถึงการปรับเปลี่ยนจากใช้ก๊าซหุงต้ม(LPG) มาเป็นNGV จะทำให้เครือปตท.ได้ประโยชน์สามารถส่งออกLPG ในราคาตลาดโลกได้ จากปัจจุบันที่ห้ามการส่งออกLPG และถูกกำหนดราคาขายต่ำที่ 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน

เล็งวางแผนแม่บทพัฒนาใหม่

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารค่ายรถยนต์ 14 ค่ายถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อรองรับการใช้น้ำมันอี 85 (ผสมเอทานอล 85%) วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่า การหารือเพื่อสอบถามถึงความพร้อมของค่ายรถในการผลิตรถอี 85 ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีความสนใจจะผลิตเนื่องจากรถที่ใช้อี 85 จะสามารถใช้น้ำมันเบนซินได้ทุกประเภททั้งเบนซิน95,เบนซิน 91 แก๊สโซฮอล์ รวมไปถึงอี 20 ด้วยทำให้ตลาดค่อนข้างน่าสนใจแต่ภาคเอกชนต้องการเห็นไทยเป็นฐานการผลิตรถอี 85 ที่สำคัยของโลกจึงต้องการความชัดเจนของนโยบายรัฐในระยะยาวเพราะเอกชนต้องวางแผนลงทุนและมาตรการจูงใจที่มากกว่าปัจจุบัน
“ เอกชนมองว่ามาตรการที่รัฐออกมาในขณะนี้นั้นดีแล้วแต่ยังไม่สร้างแรงจูงใจเพียงพอที่จะเร่งผลิตรถอี 85 ในประเทศได้ผมจึงต้องการเร่งให้มีการผลิตเพื่อให้เป็นฐานผลิตที่สำคัญของโลกซึ่งคงจะต้องมาหารือกันในรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่งว่าเขาต้องการสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากภาษีที่คลังลดไปแล้ว และหลังจากนั้นคงต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติที่จะต้องมองในเรื่องของพลังงานทดแทนในระยะยาวทั้งอี 85 รถยนต์ไฮบริดจ์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า รถไฮโดรเจนที่ต้องให้ชัดเจนไปว่าจะไปทางไหน”นายสุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ส่วนของการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากลหรืออีโคคาร์นั้นจากการสอบถามเอกชนได้ระบุชัดเจนว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ทุกค่ายพร้อมจะเดินหน้าต่อไป แต่หากเอกชนจะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาใช้อี 85 ก็คงต้องมาหารือกันเพราะท้ายสุดเชื่อว่าอยู่ที่ความต้องการของตลาดเป็นตัวสนับสนุนและการนำเข้ารถสำเร็จรูปที่ใช้อี 85 นั้นทางรัฐไม่ได้กีดกั้นแต่อย่างใดเพราะเทคโนโลยีอี 85 ปัจจุบันมีอยู่แล้วทั้งในสหรัฐอเมริกา บราซิล และยุโรป ซึ่งสามารถนำเข้ารถทั้งคันมาหรืออุปกรณ์ที่จะใช้อี 85 มาประกอบเหมือนกับอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ เอ็นจีวีได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น