xs
xsm
sm
md
lg

จ้างเอกชนรีดภาษี "ประดิษฐ์"บี้ขาใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” ไอเดียกระฉูดสั่งกรมสรรพากรจ้างเอาท์ซอร์สรีดภาษีบริษัทขนาดใหญ่เน้นยักษ์ข้ามชาติ หวังอุดช่องโหว่หลังพบครึ่งหนึ่งของรายได้มาจากกลุ่มนี้แต่มักเลี่ยงภาษี ด้านยอดจัดเก็บเดือนพฤษภาคมเกินเป้ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท รับอานิสงส์กลุ่มแบงก์ตั้งสำรองครบ "ศานิต" เผยอายัดภาษีโอ๊คเอมยังไม่คืบ

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรศึกษาแนวทางในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บภาษีมาเป็นที่ปรึกษาให้กับกรมสรรพากรเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ได้พบปัญหาการที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้พยายามหาช่องทางเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรจำนวนถึง 50% มาจากการจัดเก็บจากธุรกิจขนาดใหญ่หากสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจะส่งผลดีต่อภาครัฐ

"ไม่เฉพาะต่างชาติเท่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ในไทยเองก็หลีกเลี่ยง เบื้องต้นผมมีความเห็นว่าการจ้างที่ปรึกษาเขามาช่วยกรมสรรพากรดูแลในเรื่องนี้แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายจากการจ้างที่ปรึกษาเกิดขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงผลการจัดเก็บรายได้ที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บได้ถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากในปัจจุบันการทำธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทั้งการตั้งเป็นโฮลดิ้ง และบริษัทลูกที่ทำให้โครงสร้างการเสียภาษีเปลี่ยนแปลงไปและสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมาย"

รมช.คลังย้ำว่า ถึงเวลาที่กรมสรรพากรต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเพราะภาคเอกชนมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว การจ้างที่ปรึกษาที่มีความชำนาญด้านภาษีให้เข้ามาช่วยดูแลถือว่ามีความจำเป็นเพราะภาคเอกชนต่างใช้ช่องโหว่ของกฎหมายที่ยังไม่มีการแก้ไขในปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่ควรจะต้องเสีย ในระหว่างที่กฎหมายยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ จำเป็นต้องตั้งที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดูแลในจุดนี้

แหล่งข่าวที่ปรึกษากฎหมายกรมสรรพากรกล่าวถึงกรณีที่ รมช.คลังสั่งกรมสรรพากรแต่งตั้งที่ปรึกษาเพิ่มยอดจัดเก็บภาษี ว่า จะต้องทบทวนดูว่าปัญหาในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีปัจจุบันมีความโปร่งใสและมีช่องโหว่หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องภาษีมีความขัดแย้งกันทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้ที่ต้องการให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษี ที่สำคัญบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 4 ราย พร้อมให้คำปรึกษาอยู่แล้ว ไม่ควรสิ้นเปลืองเงินงบประมาณอีก

หากกรมสรรพากรต้องการก็สามารถทำหนังสือเชิญมาได้ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีสรรพากรอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถ ที่กรมสรรพากรจะเชิญเข้ามาทำงานได้

"ปัญหาเรื่องภาษีที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายรัฐที่สวนทางกัน ซึ่งหากต้องการส่งเสริมการลงทุนก็ควรจะหารือกับผู้จัดเก็บภาษีให้ชัดเจนก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้การทำงานของกรมสัมฤทธิ์ผล ถ้าหากกรมฯ จ้างบริษัทใดบริษัทหนึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเขาก็จะไปลอกงานของบริษัทอื่นมา ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร และสิ้นเปลืองงบประมาณ" แหล่งข่าวกล่าว

ยอดจัดเก็บภาษี พ.ค.ทะลุเป้า

สำหรับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายประดิษฐ์เปิดเผยว่า กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้จำนวน 2.53 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% และสูงกว่าประมาณการจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอดการจัดเก็บที่สูงกว่าประมาณการดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีการตั้งสำรองตามมาตรฐานทางบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้การยื่นเสียภาษีมีจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีการขยายตัวที่ดีเช่นกันตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งจากการนำเข้าวัตถุดิบ การบริโภค และราคาน้ำมันส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจากปีก่อนถึง 14%

สำหรับยอดการจัดเก็บภาษีในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2551 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 8.2 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 9.85 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.6% และสูงกว่าเอกสารประมาณการ 4.4 หมื่นล้านบาทหรือ 5.7% โดยคาดว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณจะสามารถจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับประมาณการที่ตั้งไว้

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมานั้นในเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ในส่วนของกรมสรรพากรหายไป 4.2 หมื่นล้านบาท แต่จากตัวเลขการจัดเก็บที่ออกมาเชื่อว่าในสิ้นปีงบประมาณจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ใกล้เคียงกับประมาณการ ซึ่งเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแม้ว่าประเทศเรามีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองแต่ก็ยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า หากบ้านเมืองสงบการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลน่าจะออกมาดีกว่านี้” นายประดิษฐ์กล่าว

อายัดทรัพย์"โอ๊ค-เอม"ยังไม่คืบ

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเรียกเก็บภาษีหุ้นจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทจากนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ว่า ถึงขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ และยังรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ยังไม่ทราบว่าจะมีการพิจาณาเมื่อใด อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็จะดำเนินการไปตามขั้นตอนทางกฏหมายของกรม ซึ่งจะไม่เกี่ยวพันกับเรื่องคดีที่ตนโดนฟ้องและการตีความเรื่องอำนาจของ คตส.ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเรื่องดังกล่าวกรมสรรพากรดำเนินการไปตามขั้นตอนตามกฏหมายประมวลรัษฎากร

"การประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์นั้นจะมีเป็นประจำทุกเดือน แต่จะมีเรื่องที่รอเข้าสู่การพิจารณาจำนวนมาก เรื่องของคดีนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการจัดเตรียมสำนวนทุกอย่างให้พร้อม ซึ่งผมไม่ทราบว่าในระดับเจ้าหน้าที่มีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน แต่ยืนยันว่าขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้ล่าช้า หรือรวดเร็วไปกว่าคดีอื่นๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ" นายศานิตกล่าวและว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในแง่ของอำนาจ ที่มาที่ไปและอายุของ คตส.ว่า จะไม่ส่งผลใดๆ กับคดีภาษีของบุคคลทั้งสอง เนื่องจากการดำเนินการในการประเมินภาษีนั้นเป็นไปตามอำนาจของกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากรที่มีต่อผู้เสียภาษี

ส่วนความคืบหน้าคดีที่นายพานทองแท้ ชินวัตรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตน และสรรพากรภาค 1 และภาค 5 รวม 3 คน ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จากกรณีที่กรมสรรพากรมีคำสั่งยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์สินของโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องการซื้อหุ้นของโจทก์นั้นไม่ต้องเสียภาษี นั้น นายศานิตกล่าวว่า คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง และอัยการรับเป็นทนายให้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำไปตามหน้าที่ ซึ่งตนก็ไม่ได้รู้สึกกังวลใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายแถลงต่อศาลขอเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ออกไปก่อน ศาลจึงนัดใหม่เป็นวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น