xs
xsm
sm
md
lg

Commodity Corner:"เงินเฟ้อและการเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย้อนกลับไปสัก 2-3 ปีก่อนที่กระแส Commodity Boom เริ่มเป็นจุดสนใจในตลาดการลงทุนไทย จะพบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มอง การเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดียเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามประเด็นถกเถียงสำคัญในตลาดตอนนี้ได้เปลี่ยนจากเดิมไปเป็น บทบาทของ งทุนประเภทสถาบันขนาดใหญ่ และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่ถูกพาดพิงบ่อยครั้งว่า เป็นตัวการปลุกปั่นราคาสินค้าผ่านตลาดล่วงหน้า จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าเทียม หรือ ภาวะฟองสบู่ของราคาสินค้า ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสัญญาอันตรายของการลงทุนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างถึง อัตราเงินเฟ้อ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย

ในบางประเทศเช่น อินเดีย มีความวิตกกังวลว่าการเก็งกำไรจะเพิ่มแรงกดดันให้แก่อัตราเงินเฟ้อ ทำให้ ตลาดล่วงหน้าในประเทศ (MCX และ NCDEX) ต้องประกาศหยุดการซื้อขายสัญญา Futures ของสินค้า 4 ประเภท ได้แก่ ยางพารา น้ำมันถั่วเหลือง มันฝรั่ง และเมล็ดชาน่า เป็นเวลา 4 เดือน หลังจากที่ธัญพืชสำคัญ อย่าง ข้าว และ ข้าวสาลี ได้ถูกปลดออกจากตลาดล่วงหน้าโดยสิ้นเชิงตั้งแต่เดือน มกราคม 2551

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปว่าอัตราการขยายตัวของเม็ดเงินลงทุนในตลาด Commodity เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ดังที่เห็นบ่อยในปัจจุบัน อาจเป็นมุมมองที่ค่อนข้างลำเอียงไปซักหน่อย

ภาพประกอบข้างต้นคือดัชนีสินค้า CRB Spot Index ซึ่ง เป็นดัชนีวัดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมอย่างมากและถูกใช้เป็นดัชนีวัดอัตราเงินเฟ้ออย่างคร่าวๆ โดย ดัชนี CRB ถูกสร้างขึ้นมาจากราคาสินค้าที่ซื้อขายอยู่ในตลาดจริงทั้งสิ้น 23 ชนิด โดยไม่รวมสินค้ากลุ่มพลังงานและทองคำจะเห็นได้ว่าดัชนี CRB มีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันอย่างไรก็ตาม ราคาที่เห็นนี้เป็นราคาสินค้าที่ไม่มีนักลงทุน หรือ กองทุนมาเกี่ยวข้อง เพราะทั้งหมดเป็นราคาสินค้าในตลาด Spot อีกทั้งสินค้าหลายชนิดยังเป็นสินค้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอีกด้วย ดังนั้น ข้อสรุปที่ได้ก็คือ ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเก็งกำไรของนักลงทุนเสมอไป

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1970 - 1980 เป็นช่วงที่ราคาสินค้าต่างๆรวมถึงน้ำมัน และทองคำมีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน หรือ จะเรียกว่าเป็น Commodity Boom ครั้งแรกก็ได้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุนต่างๆ ในขณะนั้นแทบจะเทียบไม่ได้ กับเม็ดเงินจำนวน 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกองทุน Commodity ตามที่ Standard & Poors รายงานอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้นราคาสินค้ารวมถึงอัตราเงินเฟ้อก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงในปัจจุบัน อาจไม่ใช่สภาวะทางเศรษฐกิจที่ดูเกินจริง แต่เป็นผลลัพธ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก

อุปสงค์ที่มากกว่าปกติอาจทำให้ราคาสินทรัพย์สูงเกินกว่าที่ควร ซึ่งหมายความว่าสินทรัพย์ที่เป็นที่ต้องการสำหรับกองทุน เช่น น้ำมันดิบ อาจมีราคาที่สูงกว่าควรจะเป็น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งแต่การที่จะทำให้ราคาผิดไปจากความเป็นจริงในระยะยาวก็ทำได้ยากถึงแม้จะเป็นเฮดจ์ฟันด์ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น