xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประชุมซัมมิตวิกฤตอาหารโลก เลขาฯUNเร่งรัดให้เพิ่ม“ผลผลิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ – การประชุมสุดยอดวิกฤตอาหารโลกเปิดขึ้นที่กรุงโรมเมื่อวานนี้(3) โดยเลขาธิการยูเอ็น บันคีมุน เรียกร้องให้เพิ่มการผลิตอาหารขึ้นอย่างมโหฬาร พร้อมกับหาทางช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้ชาวโลกร่วม 1,000 ล้านคนต้องเผชิญกับภาวะอดอยากหิวโหย
เลขาธิการสหประชาชาติบอกว่า ผลผลิตอาหารจะต้องเพิ่มขึ้นราว 50% ภายในปี 2030 จึงจะสามารถสนองความต้องการที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ทั้งนี้จะต้องมีการเพิ่มงบประมาณให้แก่เกษตรกรรม ตลอดจนกำจัด “นโยบายทางการค้าและนโยบายทางภาษีที่เป็นการบิดเบือนตลาด”
“เรามีโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะฟื้นฟูชุบชีวิตเกษตรกรรม” บันกล่าวกับบรรดาผู้นำรัฐและรัฐบาลราว 50 คนที่มาร่วมการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 3 วัน ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)
“ผมเรียกร้องพวกท่านให้ดำเนินจังหวะก้าวที่ห้าวหาญและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขบรรดาสาเหตุรากเหง้าของวิกฤตอาหารโลกคราวนี้”
จากการที่ราคาอาหารพุ่งไปอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 30 ปี เลขาธิการยูเอ็นเตือนว่า ขณะที่โลกจะต้อง “รับมืออย่างฉับพลันทันที” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความอดอยากเฉพาะหน้า โลกก็ยังต้องมีโฟกัสในระยะยาว ในเรื่อง “การปรับปรุงยกระดับด้านความมั่นคงทางอาหารให้ดีขึ้น” ด้วย
ทางด้าน ฌากส์ ดิอุฟ ผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอ ได้กล่าวในการเปิดประชุมคราวนี้เช่นกันโดยชี้ว่า บรรดาชาติร่ำรวยกำลังใช้จ่ายเงินนับพันล้านหมื่นล้านดอลลาร์ไปในการอุดหนุนด้านการเกษตร และการบริโภคอาหารอย่างสิ้นเปลืองและมากเกินไป ตลอดจนใช้จ่ายไปในด้านอาวุธ
“... การบริโภคอย่างล้นเกินของผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนในโลกสิ้นค่าใช้จ่ายราว 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งยังจะต้องนำมาบวกกับค่าใช้จ่ายทางอ้อมอีก 100,000 ล้านดอลลาร์ที่เป็นผลจากการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ตลอดจนโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน” ผู้อำนวยการเอฟเอโอซึ่งเป็นชาวเซเนกัลบอก
ขณะที่ธนาคารโลกและบรรดาองค์กรความช่วยเหลือทั้งหลายประมาณการว่า ราคาอาหารที่กำลังพุ่งลิ่วอาจจะทำให้พลโลกอีกถึง 100 ล้านคนต้องเผชิญความอดอยาก หลังจากที่มีประชากรในโลกประมาณ 850 ล้านคนอยู่ในภาวะเช่นนั้นเรียบร้อยแล้ว
บรรดาองค์กรต่างๆ ของยูเอ็นได้เปิดการเรียกร้องขอเงินบริจาคมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาวิกฤตอาหาร โดยที่ทางซาอุดีอาระเบียประกาศให้เงิน 500 ล้านดอลลาร์แก่ทางโครงการอาหารโลก(WFP) ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ออกซ์แฟม องค์การการกุศลชื่อดังของอังกฤษ ได้วิพากษ์กล่าวว่าประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพวกชาติพัฒนาแล้ว ว่ากำลังใช้จ่ายแค่ “เศษเงิน” มาสนับสนุนเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา เมื่อเปรียบเทียบกับการอุดหนุนอย่างมหาศาลที่ทุ่มเทให้แก่พวกเกษตรกรในประเทศตะวันตก
ออกซ์แฟมยังย้ำว่า นโยบายด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของยุโรปและอเมริกาเหนือ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในปัจจัยจำนวนมาก ที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นในเวลานี้
คาดหมายกันว่า การถกเถียงเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพมีส่วนสร้างวิกฤตอาหารแค่ไหน จะกลายเป็นประเด็น “ร้อน” ประเด็นหนึ่งในการประชุมซัมมิตคราวนี้ โดยเวลานี้มีผู้ให้ตัวเลขเอาไว้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว กล่าวคือ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าการที่นำเอาธัญญาหาร เช่น ข้าวโพด ไปใช้ทำเชื้อเพลิงชีวภาพ มีส่วนอยู่ถึง 30% ในราคาอาหารที่แพงขึ้น ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯกล่าวว่า มีส่วนอยู่ไม่ถึง 3%
การประชุมสุดยอดคราวนี้ นอกจากจะดุเดือดร้อนรุ่มด้วยวาระของการหารือในเรื่องวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับพลโลกจำนวนมากแล้ว ยังมีความร้อนเร่าทางการเมืองเข้ามาผสมด้วย เนื่องจากมีผู้นำประเทศซึ่งสร้างความขัดแย้งรุนแรงมาร่วมด้วยถึง 2 คน ได้แก่ ประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ แห่งซิมบับเว และประธานาธิบดีมาห์มูด อาหมัดดิเนจัด แห่งอิหร่าน
รัฐมนตรีดูแลด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษ ดักลาส อเลกซานเดอร์ กล่าวว่าการเข้าร่วมของมูกาเบถือเป็นเรื่อง “น่าขยะแขยง” โดยเขาบอกว่า “นี่คือบุคคลผู้ที่ทำให้ประเทศชาติของเขาเองต้องอดอยากยากจน ประเทศที่เมื่อก่อนเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของแอฟริกา แต่เวลานี้ประชากรของเขาเอง 4 ล้านคนต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือด้านอาหาร”
ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองชาวอิตาลี วางแผนที่จะประท้วงการปรากฏตัวของประธานาธิบดีอิหร่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น