xs
xsm
sm
md
lg

เสนาะฟันธงแก้รธน.เหลวปูดนายเก่าทรท.-บิ๊กพปช.สั่งถอนญัตติยังดันทุรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช 1 ในพรรคร่วมรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เรากำลังเกิดวิกฤติหลายอย่าง ทั้งราคาข้าว ราคาน้ำมัน ที่สร้างความเดือดร้อน ให้ทุกภาคส่วนทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าปัญหาปากท้องประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะปี 2540 ที่บอกว่าดีเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้ดีทั้งหมด ยังมีการเปิดช่องให้กับผู้มีอำนาจ มาย่ำยีประเทศ จนเกิดการปฏิวัติขึ้น เท่านี้บ้านเมือง ก็บอบช้ำมากพอแล้ว ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ผ่านการทำประชามติด้วยเสียงของประชาชน 14 ล้านเสียง
“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้นำพรรคพลังประชาชน จึงไม่มีบารมี เพียงพอที่จะขับเคลื่อนพรรคให้อยู่ในความสามัคคีกลมเกลียว แต่ผมก็เห็นใจ เพราะอีกฝ่าย ก็พยายามที่จะทำอะไรเอาใจนายเก่า โดยไม่คำนึงถึงหลักการและเหตุผล จะเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้แทน 50 ไม่ได้ เพราะแบบนี้เท่ากับว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปเลย และการทำประชามติก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ไม่เคยได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชาชน และผมได้คุยกับผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น ก็ไม่ได้รับการติดต่อเช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ออกมาโวยวายตั้งแต่เรื่องตั้งประธานสภาฯแล้ว”
นายเสนาะ กล่าวว่า ตนได้ประสานไปยังนายเก่าของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเขาก็เห็นด้วยว่าไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ ร่วมถึงผู้ใหญ่ระดับสูงมาก และส.ส. ในพรรคพลังประชาชนเองไม่ต่ำกว่า 50 คน ก็ไม่เห็นด้วย ตนจึงต้องการจะบอกไปยังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ให้กลับบ้านไปเถอะ ตนรู้ว่า ทุกคนมีจิตวิญาณที่ต้องการที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดี แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่สำเร็จแน่ ตนเอาหัวเป็นประกันได้ เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการถอนญัติติออก หรือ ไม่หากมีการนำเข้าสู่สภาฯญัตตินี้ก็ต้องตกไป การที่พันธมิตรฯบอกกว่าจะต่อสู่ จะสู้กับใคร เพราะเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น
“ผมเชื่อว่าเขาต้องถอน เพราะเรื่องนี้ผู้ใหญ่ในพรรคไม่มีใครเห็นด้วย และผมได้คุยกับผู้นำของพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา เชื่อว่าคงจะมีการสั่งการให้ถอนญัตติแล้ว แต่ไม่รู้ว่าทำไมยังไม่ถอน หรือว่ายังดื้อยา เพราะถ้าเดินหน้าต่อ ก็จะมีแต่ยิ่งทำให้ขายหน้ามากยิ่งขึ้น เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีทางผ่านแน่นอน ส่วนตอนนี้ที่ยังไม่ออกมาแถลงว่าจะถอนญัตติ เพราะกลัวหน้าหงาย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ได้มีการหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วหรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่า ไม่ต้องลงลึก แต่คนอย่างเขา ไม่โง่พอที่จะเอาตัวเองมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะหากเขาไปเกี่ยว คนที่โดนด่าก็คือเขา การที่เขาได้กลับมาสู้คดีก็พอใจมากแล้ว และตนก็เห็นใจนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพราะคนที่ทำเรื่องนี้ก็เหลือเกิน แต่ตนดูแล้วคนกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ตนไม่ได้ดูถูก แต่พวกที่มาลงชื่อแก้ ก็ไม่เห็นมีผู้ ใหญ่ซักคน
ส่วนที่นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช ซึ่งเป็นลูกชาย ที่ร่วมลงชื่อในญัตติด้วยนั้น นายเสนาะ กล่าวว่า มีการรวบรวมรายชื่อเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า นายสรวงศ์ จะเข้าใจผิด เหมือน ส.ส.และ ส.ว.ที่ถอนชื่อไป และเมื่อนายสรวงศ์ เดินทางกลับจากต่างประเทศจะต้องถอนชื่อออกจากญัตติแน่นอนและเมื่อญัตตินี้ผ่านเข้าสู่สภา ตนจะเป็นคนหนึ่งที่จะอภิปรายไม่เห็นด้วย
นายเสนาะ กล่าวว่าการใช้เงินทำประชามติ 2 พันล้านบาท ควรนำเงินไปสร้างแหล่งน้ำ ให้เกษตรกรทำกินจะดีกว่า เสียทั้งเงิน และผิดกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ทหารจะไม่ปฎิวัติแน่นอนเพราะยิ่งทำให้เกิดความเสึยหายกับบ้านเมือง อย่าไปซ้ำเติมบ้านเมืองเลย
นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าได้ทำรายงานเสนอประธานสภาฯถึงยอดล่าสุดของ ส.ส.และ ส.ว.ที่ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เหลือ 134 เกินจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพียง 9 คน และขณะนี้ยังมีกระแสข่าวว่าจะมีผู้ถอนชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับประธานสภาฯว่าจะสั่งบรรจุในวาระการประชุมสภาฯ หลังการเปิดสมัยประชุมวิสามัญภายใน 15 วันหรือไม่
“ระหว่างที่ยังไม่มีการบรรจุเข้าสู่วาระสามารถถอนชื่อได้ตลอด ที่ผ่านมามี ส.ว.ที่ลงชื่อในญัตติ 30 คน ถอนชื่อไปแล้ว 20 คน ส่วนฝ่าย ส.ส.ถอนชื่อไป 2 คน”
วันเดียวกัน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นตัวแทนจัดแถลงการณ์เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปให้พ้นการเมือง แบบ 2 ขั้ว เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแบบ 2 ขั้วที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในปัจจุบัน
รศ.สมชาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ประสบความล้มเหลวในการสร้าง กติกาทางการเมืองขึ้นใหม่ และยังนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสืบเนื่องมาจนปัจจุบันรวมทั้งมีแนวโน้มที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจ นอกระบบเข้ามาภายใต้ข้ออ้างเพื่อยุติความรุนแรง
ในขณะที่พรรคพลังประชาชน พยายามที่จะพลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในสังคม เนื่องจากข้อเสนอ ในการแก้ไขปัญหาของพรรคพลังประชาชน มุ่งให้ความสำคัญกับปัญหาความยุ่งยาก ที่พรรคของตน กำลังประสบอยู่ และไม่ยอมรับฟังข้อท้วงติงจากฝ่ายอื่นๆ หวังแก่เพื่อ่เอื้อประโยชน์ต่อเพียงพรรคการเมือง และโดยอาศัยขั้นตอนที่อยู่ในอำนาจของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็จะขาดการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมจากสังคมที่กว้างขวาง เพียงพอต่อการสร้างความชอบธรรมและการสร้างบทบัญญัติที่ดีให้กับรัฐธรรมนูญ
รศ.สมชาย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของนักวิชาการ 137 คน ขอเสนอหลักการสำคัญ 4 ประการ ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คือ
1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นการนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ไขในมาตราหนึ่งมาตราใดเท่านั้น 2.ตัองมีการตั้งคณะทำงาน หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญอิสระที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกลุ่ม องค์กรต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่เป็นองค์กรข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ นักการเมือง แต่ต้องประกอบไปด้วยกลุ่มคนอันหลากหลายทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพศและชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย
3. การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดโอกาสให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็น ผลักดัน แลกเปลี่ยนข้อมูลและความต้องการของแต่ละกลุ่ม ให้เป็นไปอย่างเสรีและกว้างขวางที่สุด เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น จากฐานของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายสามารถ เข้าถึงสื่อได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชนทุกประเภท
และ 4.ประการสุดท้าย หลังจากที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จสิ้นลงจะต้องเปิดให้มีการลงประชามติโดยที่ไม่มีการแทรกแซงจากทุกฝ่ายเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา
ด้าน รศ.สมเกียรติ ตั้งนโมกล่าวว่าการเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครั้งนี้เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแบบ 2ขั้วที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยหวังว่าคนในสังคมจะเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ส่วนระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมานั้นคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี เนื่องจากจะต้องดึงเอาการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างกว้างขวางและทั่วถึงกว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น