ผู้จัดการรายวัน - น้ำมันขึ้นราคารายวัน เชลส์นำร่องขึ้นดีเซลอีก 70 ส.ต./ลิตร เบนซิน 50 ส.ต./ลิตร ภาคเอกชนสวดรัฐบาลไร้กึ๋นแก้ปัญหาแถมลอยตัวทั้งที่มีหน้าที่เยียวยาปากท้องชาวบ้าน จวกดันทุรังแก้ไข รธน.มุ่งแต่การเมือง ระบุดีเซลทะลุ 40 เป็นการเข้าสู่ยุคเผาจริง สิ้นปีได้เห็นโรงงานทยอยเจ๊ง รถบรรทุกอีสานกระอักจอดสนิทกว่า 4,000 คัน เลิกกิจการขายรถทิ้งร่วม 50 ราย จ่อหยุดวิ่งอีก 1,000 คัน ส่วนผู้รับเหมาอัดพาณิชย์ปล่อยผู้ค้าเหล็กโก่งราคา ขณะที่ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่ม 4 พันล้าน อนาถน้ำมันโลกล่าสุดทำนิวไฮแตะ 134 เหรียญต่อบาร์เรล
รายงานข่าวจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) แจ้งว่า บางจากได้แจ้งนำปรับขึ้นดีเซลอีก 50 สตางค์ต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันนี้ (23 พ.ค.) เป็นต้นไปส่งผลให้ดีเซลบางจากอยู่ที่ 36.44 บาทต่อลิตร ต่อมา เชลล์ได้แจ้งนำปรับราคาขายปลีกน้ำมันทิ้งห่างไปอีก โดยเบนซินปรับขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ดีเซล 70 สตางค์ต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันนี้ (23 พ.ค.) เป็นต้นไปส่งผลให้ราคาน้ำมันทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง โดยส่งผลให้เบนซิน 95 เป็น 39.59 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 เป็น 38.49 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 35.59 บาทต่อลิตร และดีเซล 37.64 บาทต่อลิตร ซึ่งการปรับราคาขายปลีกครั้งนี้ถือเป็นการปรับขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.เป็นต้นมา
ปตท.จ่อปรับ 50 สต.มีผลวันเสาร์
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันบมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.ยังตรึงราคาน้ำมันไว้ก่อนและจะปรับขึ้นทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตรมีผลในวันเสาร์ที่ 24 พ.ค. เป็นต้นไปโดยดีเซลจะเป็นระดับ 36.44 บาทต่อลิตรซึ่งก็ยังต่ำกว่าค่ายต่างชาติอยู่ ซึ่งสาเหตุการปรับเนื่องจากค่าการตลาดดีเซลติดลบแล้วถึง 3.30 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซินบวก 20 สตางค์ ขณะที่ราคาปิดตลาดสิงคโปร์ได้ปรับขึ้น 5-6 เหรียญต่อบาร์เรลซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก ดังนั้นขณะนี้เบนซินปตท.จึงยังต่ำกว่าค่ายต่างชาติ 50 สตางค์ต่อลิตรและดีเซลจะต่ำกว่าถึง 1.70 บาทต่อลิตร
อัดรัฐเพิกเฉยแก้ปัญหาน้ำมัน
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากปัญหาน้ำมันแพง โดยเฉพาะกลุ่มประมงซึ่งหากปล่อยปัญหาไว้อีกระยะหนึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตสินค้ากลุ่มอาหาร โรงงานปลาป่น โรงน้ำแข็ง ห้องเย็น ฯลฯ ซึ่งเอกชนเห็นว่ารัฐค่อนข้างจะเพิกเฉยต่อปัญหาน้ำมันแพงทั้งที่เป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านแต่กลับไปมุ่งเน้นแก้ปัญหาการเมืองโดยเฉพาะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
“ผมคิดว่ารัฐไม่ควรจะเพิกเฉยต้องระดมทีมเศรษฐกิจมองภาพรวมจะเอานโยบายการเงิน การคลังอะไรออกมาช่วยก็ต้องรีบ เพราะเวลานี้ทั้งน้ำมัน วัตถุดิบ ค่าแรงกดดันต้นทุนภาคการผลิต ราคาสินค้าก็ขยับไม่ได้แม้ขยับได้บางรายการก็ขายไม่ออกเพราะแรงซื้อประชาชนลดลงไปมาก ถ้าดีเซลแตะ 40 บาทต่อลิตรเศรษฐกิจเราจะก้าวสู่วิกฤติและถ้ายังไม่หยุดนิ่งปีนี้อาจเห็นโรงงานปิดตัว”นายทวี กล่าว
นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังไม่หยุดนิ่งและยังสูงต่อเนื่องจนส่งผลให้ดีเซลของไทยต้องขยับไปกว่า 40 บาทต่อลิตรเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะวิกฤติในช่วงปลายปีและต่อเนื่องไปในต้นปี 2552 หากรัฐไม่มีมาตรการใดๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบัน รวมถึงมาตรการดูแลปัญหาการขาดดุลทางการค้าจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
“วันนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ได้คนยังไม่ว่างงานเพราะรายได้ยังพอสูสีกับรายจ่ายแต่ถ้าน้ำมัน ค่าครองชีพขึ้นไปอีกกว่านี้โดยเฉพาะถ้าดีเซลถึง 50 บาทต่อลิตรจับตาดูว่าจะเริ่มเห็นปัญหามากขึ้นในสิ้นปีนี้จะเริ่มวิกฤติแน่ “นายเกียรติพงศ์ กล่าว
สำหรับมาตรการลดผลกระทบจากปัญหาน้ำมันเข้าใจว่าการตรึงราคาเป็นไปได้ยากแต่เรื่องการหันไปยังพลังงานทดแทนต้องเร่งให้เร็วขึ้นและจริงจัง รวมไปถึงมาตรการด้านประหยัดที่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะกระตุ้นให้คนไทยออกมาร่วมมือได้ ดังนั้นมาตรการประหยัด 11 มาตรการที่กระทรวงพลังงานออกมานั้นต้องมีการวัดผลหากไม่ได้ผลต้องปรับใหม่ ส่วนการบังคับนั้นบางอย่างอาจจำเป็นเพราะเหมือนแม่รักลูกต้องบังคับให้เรียนแม้ว่าลูกไม่อยากเรียนก็ตามเช่นการปิดป้ายโฆษณาหลังเที่ยงคืน และสำคัญสุดต้องวางโครงสร้างระบบขนส่งใหม่เน้นสาธารณะมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันไม่เช่นนั้นอาจเห็นการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น
"ติ้ง" ย้ำอีก ไม่ต้องการบังคับ
พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ถึงราคาน้ำมันตลาดโลกที่ทำสถิติกว่า 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ว่ากระทรวงพลังงานได้พยายามหามาตรการลดผลกระทบเพิ่มเติม นอกเหนือจาก 11 มาตรการ ที่ได้ประกาศไปแล้ว และขอย้ำว่ายังไม่มีมาตรการบังคับเพิ่มเติม เพราะไม่ต้องการสร้างผลกระทบให้ประชาชนอีก
กระอักพิษน้ำมันรถบรรทุกอีสานเจ๊ง!
นายปราโมทย์ กงทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า จากภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากที่ผู้ประกอบการขนส่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯจำนวน 449 ราย มีรถบรรทุกขนสินค้าในสังกัดกว่า 10,000 คันนั้น ขณะนี้อยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่อย่างมาก ต้องหยุดวิ่งรถรับส่งสินค้าชั่วคราวไปแล้วร่วม 40% หรือประมาณ 4,000 คันและผู้ประกอบการอีกกว่า 10% หรือร่วม 50 ราย จำเป็นต้องเลิกกิจการขายรถทิ้งให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ยังมีสายป่านยาว และหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นเนื่องจากทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า หากราคาน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซลยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องแตะที่ลิตรละ 40 บาท ผู้ประกอบการด้านการขนส่งจะต้องหยุดการวิ่งรถเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,000 คัน หรือกว่า 50% ของจำนวนรถบรรทุกที่มีอยู่ จากเดิมที่หยุดวิ่งแล้วรวมเป็นกว่า 5,000 คันอย่างแน่นอน
สำหรับ ผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเลิกไม่ได้และเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ประกอบการเพียงแค่การบรรทุกขนส่งสินค้า ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างอื่นที่มาจุนเจือกัน อีกทั้งผู้ประกอบการเองพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทุกอย่าง ทั้งเรื่องการปรับองค์กรภายใน ลดจำนวนคน, การบริหารจัดการรถวิ่งเที่ยวเปล่า ด้วยการลดเที่ยววิ่งลง การใช้รถบรรทุกที่เหมาะกับปริมาณสินค้า และ การขอปรับค่าขนส่งจากผู้ว่าจ้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เพิ่มเพลาเพื่อให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น และสุดท้ายก็ คื การหันไปใช้เชื้อเพลิงที่เป็น พลังงานทดแทน
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาอยู่อีก คือผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ที่จะให้การสนับสนุนเนื่องจากการติดตั้งแก๊ส NGV และ ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ นั้น ต้องลงทุนค่อนข้างสูง เฉพาะติดตั้งแก๊ส NGV และนำเครื่องยนต์เก่ามาดัดแปลง ค่าใช้จ่ายประมาณ 5-6 แสนบาท ต่อรถบรรทุก 1 คัน แต่หากเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็นเครื่อง CNG พร้อมติดตั้งแก๊ส ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1-1.2 ล้านบาท/คัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของสถานีบริการแก๊ส NGV ไม่ครอบคลุมเส้นทางเพียงพอ และคุณภาพแก๊สที่ไม่คงที่
ทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน กรณีการที่จะให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์และติดตั้งระบบแก๊ส NGV แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเลย อย่างไรก็ตามหากรัฐช่วยเหลือไม่ได้ทั้งหมด ก็ควรที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือบ้างในบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ดิ้นรนต่อสู้ไปได้อีก
ผู้ประกอบการใต้จี้รัฐบาลตื่นตัว
นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลา และเจ้าของกิจการประมงขนาดใหญ่ กล่าวว่า จากภาวะราคาน้ำมันแพงและสัตว์น้ำในอ่าวไทยมีน้อย ทำให้เรือประมงขนาดใหญ่เสี่ยงลักลอบหาปลาในน่านน้ำต่างประเทศเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าแต่ละปีจะถูกปล้น จับกุมและปรับเงินเสียเป็นร้อยล้านก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ทางออกที่ดีของชาวประมง
สำหรับธุรกิจประมงที่ตนทำซึ่งยังอยู่ได้ในภาวะเช่นนี้ เพราะได้ทำจ้อยส์เวนเจอร์ซึ่งอาศัยความเชื่อถือกันกับนักธุรกิจเอกชนของประเทศอินโดนีเซีย 5 ลำ และมาเลเซียอีก 8 ลำ เพื่อทำประมงในน่านน้ำประเทศเหล่านั้น ซึ่งต้องนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือพร้อมกับจ่ายภาษีราว 60,000 บาท/ลำ และขายสัตว์น้ำป้อนสู่โรงงานที่นั่นให้ทั้งหมด ซึ่งในแต่ละเดือนมีรายได้ราวเดือนละ 1.5-2.0 ล้านบาท/ลำ เพราะทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ และประเทศอินโดนีเซียไม่นิยมทำประมงพื้นบ้าน แต่จะหันมาลงทุนธุรกิจต่อเนื่องและส่งสินค้าออกสู่ประเทศสิงคโปร์จึงมีความต้องการให้ประมงต่างชาติเข้ามามากขึ้น
ส่วนที่ประเทศมาเลเซียนั้นมีข้อได้เปรียบที่หากโควตาน้ำมันราคาถูก ซึ่งหากนำปลาขึ้นท่าเทียบเรือได้เดือนละ 3 ตันก็สามารถซื้อน้ำมันได้ราว 20,000-30,000 ลิตรซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ที่ลิตรละ 14 บาท รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้เร่งเจรจาช่วยเหลือประมงรายอื่นๆ ได้มีช่องทางทำกินต่อไป
ชี้ไม่เกิน 2 เดือนประมงตายสนิท
นายประพร เอกอุรุ เผยว่า ประมงไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันตั้งแต่ประกาศลอยตัวราว 3 ปีก่อน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นทุกเดือน ทำให้อาชีพประมงก้าวสู่ขั้นวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนอกจากปัจจัยราคาน้ำมันที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ยังมีปัญหาสัตว์น้ำในอ่าวไทยเหลือน้อย อุปกรณ์ประมงปรับราคาขึ้นอีก 30% และยังมีปัญหาถูกกดราคาปลาเป็ดอีกด้วย ด้วยการรับซื้อถูกผูกขาดราคาด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียวว่าจะให้ราคาเท่าไหร่ และไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องชาวประมง โดยปัจจุบันราคาปลาเป็ดยังคงอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-4 บาทเท่านั้น ทั้งที่ควรจะปรับขึ้นเป็น 7-8 บาท เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น
ผู้ประกอบการใต้เล็งปรับค่าขนส่ง
นายธีรศักดิ์ ชื่นจิตพิทักษ์ เจ้าของบริษัททักษิณขนส่ง จำกัด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และบริษัทในเครือซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าผ่านกรุงเทพฯ-มาเลเซียทั้งทางบกและรถไฟ กล่าวยอมรับว่าในขณะนี้ผู้ประกอบการหลายรายเตรียมที่จะปรับค่าขนส่งเช่นเดียวกันตน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนเอาไว้ได้ทั้งหมดแล้ว เฉพาะในส่วนของทักษิณขนส่งเจ้าเดียวก็มีรถบรรทุกรับส่งสินค้าวันละ 30 - 40 คัน ใช้น้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร ซึ่งแบกรับต้นทุนน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 11 บาทนับจากการขอปรับราคาครั้งล่าสุดประมาณ 10% เมื่อราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 26 บาท
อัดพาณิชย์ปล่อยพ่อค้าโก่งราคาเหล็ก
นายพันธุ์เทพ ทานชิติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมคเคอร์โฮม จำกัด และนายกสมาคมรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากภาวะราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นแบบรายวัน จากเดิมที่ตัวแทนจำหน่ายค้าวัสดุจะแจ้งการปรับขึ้นราคาล่วงหน้าก่อน 2-3 เดือน แต่ปัจจุบันจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เฉพาะนับจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันราคาขึ้นแล้วกว่า 5% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างอย่างมาก โดยเฉพาะผู้รับเหมาที่รับงานมาแล้วแต่ยังไม่ลงมือก่อสร้าง
“สำหรับในส่วนของบริษัทขณะนี้มีงานก่อสร้างบ้านในสต๊อก 7 หลัง ประมาณ 40 ล้านบาท ที่เป็นความเสี่ยงในเรื่องของต้นทุนก่อสร้างที่ปรับขึ้น แต่แน่นอนทำให้เราขาดทุนกำไรและต้องแบกรับอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือรับเหมารายย่อยที่รับงานมาในราคาถูกคิดกำไรต่ำๆ จะลำบาก ขณะนี้หลายบริษัทหยุดงานเพื่อเจรจาเรื่องราคาก่อสร้างใหม่ ”
นายกสมาคมฯ กล่าวคาดว่า ภายในเดือนพ.ค.นี้ บริษัทรับสร้างบ้านหรือผู้รับเหมาจะเริ่มปรับขึ้นราคาค่าก่อสร้างอีกอย่างน้อย 5% ภายหลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นมาแล้วในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามการขึ้นราคาอีก 5% ยังไม่สามารถระบุได้ว่าครอบคลุมกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ยังคงเติบโตได้อีก เพราะตลาดดังกล่าวลูกค้ามีที่ดิน มีเงินออม และมีความจำเป็นต้องสร้างบ้าน นอกจากนี้ตัวเลขของการสร้างบ้านเองในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 30,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีบริษัทรับสร้างบ้านเพียงไม่กี่ราย ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่ยังใหญ่มากและเกินกว่ากำลังการก่อสร้างที่บริษัทรับสร้างบ้านในตลาดมีอยู่
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายเหล็กทุกชนิดเพื่อการก่อสร้างได้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันที โดยราคาเหล็กได้พุ่งขึ้นจาก 18,000-19,000 บาทต่อตันเป็น 48,000-58,000 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นรวดเดียว 20-40% ผลกระทบดังกล่าว ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างมีการปิดตัวไปจำนวนหลายราย ทำให้อุตฯก่อสร้างทั้งระบบเกิดความสูญเสียไปแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท จากตลาดการก่อสร้างโดยรวม ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
"การปรับขึ้นราคาเหล็ก ซึ่งบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างกำลังเผชิญอยู่นี้ เกิดจากบริษัทผู้ผลิตนำเข้ากับบรรดายี่ปั้ว ซึ่งมีอยู่กว่า 100 ราย สุมหัวกันขึ้นราคากันเอง โดยกำหนดเงื่อนไขลวง คือ ปล่อยให้สินค้าขาดตลาด หรือมีการกันตุน บีบบริษัทรับเหมา จ่ายเงินสดแทนการใช้เครดิต มิฉะนั้น จะไม่รับประกันจะว่าจะได้รับสินค้าหรือไม่ "แหล่งข่าวกล่าวและว่า ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ ดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าในโกดังทั้งภายในโรงงานและโกดังต่างๆ เป็นการเร่งด่วน และเมื่อพบการกระทำ ควรจัดการอย่างเด็ดขาด
ค่าก่อสร้างรถไฟสีน้ำเงินเพิ่ม 4 พันล้าน
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ (22 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายกรอบวงเงินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กม.ขึ้นอีก 8.47% จากค่าก่อสร้างเดิม 48,821 ล้านบาทเป็น 52,956 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ4,135 ล้านบาท โดยปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาน้ำมันรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 3.8% ด้วย โดยจะเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และหากได้รับความเห็นชอบกระทรวงการคลังจะรับหน้าที่ในการหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นเงินกู้จากเจบิก จากนั้น รฟม.จะกำหนดขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้างต่อไป
สำหรับการเดินรถนั้นในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปจะมีการหารือว่าแนวทางใดมีความเหมาะสม ซึ่งมีทั้ง รฟม.เป็นผู้ดำเนินการเดินรถเองหรือให้เอกชนเข้ามาเดินรถ โดยเบื้องต้นมูลค่างานระบบและรถไฟฟ้าประมาณ 27,000 ล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) แจ้งว่า บางจากได้แจ้งนำปรับขึ้นดีเซลอีก 50 สตางค์ต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันนี้ (23 พ.ค.) เป็นต้นไปส่งผลให้ดีเซลบางจากอยู่ที่ 36.44 บาทต่อลิตร ต่อมา เชลล์ได้แจ้งนำปรับราคาขายปลีกน้ำมันทิ้งห่างไปอีก โดยเบนซินปรับขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ดีเซล 70 สตางค์ต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันนี้ (23 พ.ค.) เป็นต้นไปส่งผลให้ราคาน้ำมันทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง โดยส่งผลให้เบนซิน 95 เป็น 39.59 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 เป็น 38.49 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 35.59 บาทต่อลิตร และดีเซล 37.64 บาทต่อลิตร ซึ่งการปรับราคาขายปลีกครั้งนี้ถือเป็นการปรับขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.เป็นต้นมา
ปตท.จ่อปรับ 50 สต.มีผลวันเสาร์
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันบมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.ยังตรึงราคาน้ำมันไว้ก่อนและจะปรับขึ้นทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตรมีผลในวันเสาร์ที่ 24 พ.ค. เป็นต้นไปโดยดีเซลจะเป็นระดับ 36.44 บาทต่อลิตรซึ่งก็ยังต่ำกว่าค่ายต่างชาติอยู่ ซึ่งสาเหตุการปรับเนื่องจากค่าการตลาดดีเซลติดลบแล้วถึง 3.30 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซินบวก 20 สตางค์ ขณะที่ราคาปิดตลาดสิงคโปร์ได้ปรับขึ้น 5-6 เหรียญต่อบาร์เรลซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก ดังนั้นขณะนี้เบนซินปตท.จึงยังต่ำกว่าค่ายต่างชาติ 50 สตางค์ต่อลิตรและดีเซลจะต่ำกว่าถึง 1.70 บาทต่อลิตร
อัดรัฐเพิกเฉยแก้ปัญหาน้ำมัน
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากปัญหาน้ำมันแพง โดยเฉพาะกลุ่มประมงซึ่งหากปล่อยปัญหาไว้อีกระยะหนึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตสินค้ากลุ่มอาหาร โรงงานปลาป่น โรงน้ำแข็ง ห้องเย็น ฯลฯ ซึ่งเอกชนเห็นว่ารัฐค่อนข้างจะเพิกเฉยต่อปัญหาน้ำมันแพงทั้งที่เป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านแต่กลับไปมุ่งเน้นแก้ปัญหาการเมืองโดยเฉพาะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
“ผมคิดว่ารัฐไม่ควรจะเพิกเฉยต้องระดมทีมเศรษฐกิจมองภาพรวมจะเอานโยบายการเงิน การคลังอะไรออกมาช่วยก็ต้องรีบ เพราะเวลานี้ทั้งน้ำมัน วัตถุดิบ ค่าแรงกดดันต้นทุนภาคการผลิต ราคาสินค้าก็ขยับไม่ได้แม้ขยับได้บางรายการก็ขายไม่ออกเพราะแรงซื้อประชาชนลดลงไปมาก ถ้าดีเซลแตะ 40 บาทต่อลิตรเศรษฐกิจเราจะก้าวสู่วิกฤติและถ้ายังไม่หยุดนิ่งปีนี้อาจเห็นโรงงานปิดตัว”นายทวี กล่าว
นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังไม่หยุดนิ่งและยังสูงต่อเนื่องจนส่งผลให้ดีเซลของไทยต้องขยับไปกว่า 40 บาทต่อลิตรเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะวิกฤติในช่วงปลายปีและต่อเนื่องไปในต้นปี 2552 หากรัฐไม่มีมาตรการใดๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบัน รวมถึงมาตรการดูแลปัญหาการขาดดุลทางการค้าจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
“วันนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ได้คนยังไม่ว่างงานเพราะรายได้ยังพอสูสีกับรายจ่ายแต่ถ้าน้ำมัน ค่าครองชีพขึ้นไปอีกกว่านี้โดยเฉพาะถ้าดีเซลถึง 50 บาทต่อลิตรจับตาดูว่าจะเริ่มเห็นปัญหามากขึ้นในสิ้นปีนี้จะเริ่มวิกฤติแน่ “นายเกียรติพงศ์ กล่าว
สำหรับมาตรการลดผลกระทบจากปัญหาน้ำมันเข้าใจว่าการตรึงราคาเป็นไปได้ยากแต่เรื่องการหันไปยังพลังงานทดแทนต้องเร่งให้เร็วขึ้นและจริงจัง รวมไปถึงมาตรการด้านประหยัดที่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะกระตุ้นให้คนไทยออกมาร่วมมือได้ ดังนั้นมาตรการประหยัด 11 มาตรการที่กระทรวงพลังงานออกมานั้นต้องมีการวัดผลหากไม่ได้ผลต้องปรับใหม่ ส่วนการบังคับนั้นบางอย่างอาจจำเป็นเพราะเหมือนแม่รักลูกต้องบังคับให้เรียนแม้ว่าลูกไม่อยากเรียนก็ตามเช่นการปิดป้ายโฆษณาหลังเที่ยงคืน และสำคัญสุดต้องวางโครงสร้างระบบขนส่งใหม่เน้นสาธารณะมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันไม่เช่นนั้นอาจเห็นการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น
"ติ้ง" ย้ำอีก ไม่ต้องการบังคับ
พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ถึงราคาน้ำมันตลาดโลกที่ทำสถิติกว่า 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ว่ากระทรวงพลังงานได้พยายามหามาตรการลดผลกระทบเพิ่มเติม นอกเหนือจาก 11 มาตรการ ที่ได้ประกาศไปแล้ว และขอย้ำว่ายังไม่มีมาตรการบังคับเพิ่มเติม เพราะไม่ต้องการสร้างผลกระทบให้ประชาชนอีก
กระอักพิษน้ำมันรถบรรทุกอีสานเจ๊ง!
นายปราโมทย์ กงทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า จากภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากที่ผู้ประกอบการขนส่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯจำนวน 449 ราย มีรถบรรทุกขนสินค้าในสังกัดกว่า 10,000 คันนั้น ขณะนี้อยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่อย่างมาก ต้องหยุดวิ่งรถรับส่งสินค้าชั่วคราวไปแล้วร่วม 40% หรือประมาณ 4,000 คันและผู้ประกอบการอีกกว่า 10% หรือร่วม 50 ราย จำเป็นต้องเลิกกิจการขายรถทิ้งให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ยังมีสายป่านยาว และหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นเนื่องจากทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า หากราคาน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซลยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องแตะที่ลิตรละ 40 บาท ผู้ประกอบการด้านการขนส่งจะต้องหยุดการวิ่งรถเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,000 คัน หรือกว่า 50% ของจำนวนรถบรรทุกที่มีอยู่ จากเดิมที่หยุดวิ่งแล้วรวมเป็นกว่า 5,000 คันอย่างแน่นอน
สำหรับ ผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเลิกไม่ได้และเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ประกอบการเพียงแค่การบรรทุกขนส่งสินค้า ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างอื่นที่มาจุนเจือกัน อีกทั้งผู้ประกอบการเองพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทุกอย่าง ทั้งเรื่องการปรับองค์กรภายใน ลดจำนวนคน, การบริหารจัดการรถวิ่งเที่ยวเปล่า ด้วยการลดเที่ยววิ่งลง การใช้รถบรรทุกที่เหมาะกับปริมาณสินค้า และ การขอปรับค่าขนส่งจากผู้ว่าจ้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เพิ่มเพลาเพื่อให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น และสุดท้ายก็ คื การหันไปใช้เชื้อเพลิงที่เป็น พลังงานทดแทน
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาอยู่อีก คือผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ที่จะให้การสนับสนุนเนื่องจากการติดตั้งแก๊ส NGV และ ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ นั้น ต้องลงทุนค่อนข้างสูง เฉพาะติดตั้งแก๊ส NGV และนำเครื่องยนต์เก่ามาดัดแปลง ค่าใช้จ่ายประมาณ 5-6 แสนบาท ต่อรถบรรทุก 1 คัน แต่หากเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็นเครื่อง CNG พร้อมติดตั้งแก๊ส ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1-1.2 ล้านบาท/คัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของสถานีบริการแก๊ส NGV ไม่ครอบคลุมเส้นทางเพียงพอ และคุณภาพแก๊สที่ไม่คงที่
ทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน กรณีการที่จะให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์และติดตั้งระบบแก๊ส NGV แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเลย อย่างไรก็ตามหากรัฐช่วยเหลือไม่ได้ทั้งหมด ก็ควรที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือบ้างในบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ดิ้นรนต่อสู้ไปได้อีก
ผู้ประกอบการใต้จี้รัฐบาลตื่นตัว
นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลา และเจ้าของกิจการประมงขนาดใหญ่ กล่าวว่า จากภาวะราคาน้ำมันแพงและสัตว์น้ำในอ่าวไทยมีน้อย ทำให้เรือประมงขนาดใหญ่เสี่ยงลักลอบหาปลาในน่านน้ำต่างประเทศเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าแต่ละปีจะถูกปล้น จับกุมและปรับเงินเสียเป็นร้อยล้านก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ทางออกที่ดีของชาวประมง
สำหรับธุรกิจประมงที่ตนทำซึ่งยังอยู่ได้ในภาวะเช่นนี้ เพราะได้ทำจ้อยส์เวนเจอร์ซึ่งอาศัยความเชื่อถือกันกับนักธุรกิจเอกชนของประเทศอินโดนีเซีย 5 ลำ และมาเลเซียอีก 8 ลำ เพื่อทำประมงในน่านน้ำประเทศเหล่านั้น ซึ่งต้องนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือพร้อมกับจ่ายภาษีราว 60,000 บาท/ลำ และขายสัตว์น้ำป้อนสู่โรงงานที่นั่นให้ทั้งหมด ซึ่งในแต่ละเดือนมีรายได้ราวเดือนละ 1.5-2.0 ล้านบาท/ลำ เพราะทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ และประเทศอินโดนีเซียไม่นิยมทำประมงพื้นบ้าน แต่จะหันมาลงทุนธุรกิจต่อเนื่องและส่งสินค้าออกสู่ประเทศสิงคโปร์จึงมีความต้องการให้ประมงต่างชาติเข้ามามากขึ้น
ส่วนที่ประเทศมาเลเซียนั้นมีข้อได้เปรียบที่หากโควตาน้ำมันราคาถูก ซึ่งหากนำปลาขึ้นท่าเทียบเรือได้เดือนละ 3 ตันก็สามารถซื้อน้ำมันได้ราว 20,000-30,000 ลิตรซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ที่ลิตรละ 14 บาท รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้เร่งเจรจาช่วยเหลือประมงรายอื่นๆ ได้มีช่องทางทำกินต่อไป
ชี้ไม่เกิน 2 เดือนประมงตายสนิท
นายประพร เอกอุรุ เผยว่า ประมงไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันตั้งแต่ประกาศลอยตัวราว 3 ปีก่อน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นทุกเดือน ทำให้อาชีพประมงก้าวสู่ขั้นวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนอกจากปัจจัยราคาน้ำมันที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ยังมีปัญหาสัตว์น้ำในอ่าวไทยเหลือน้อย อุปกรณ์ประมงปรับราคาขึ้นอีก 30% และยังมีปัญหาถูกกดราคาปลาเป็ดอีกด้วย ด้วยการรับซื้อถูกผูกขาดราคาด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียวว่าจะให้ราคาเท่าไหร่ และไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องชาวประมง โดยปัจจุบันราคาปลาเป็ดยังคงอยู่ที่กิโลกรัมละ 3-4 บาทเท่านั้น ทั้งที่ควรจะปรับขึ้นเป็น 7-8 บาท เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น
ผู้ประกอบการใต้เล็งปรับค่าขนส่ง
นายธีรศักดิ์ ชื่นจิตพิทักษ์ เจ้าของบริษัททักษิณขนส่ง จำกัด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และบริษัทในเครือซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าผ่านกรุงเทพฯ-มาเลเซียทั้งทางบกและรถไฟ กล่าวยอมรับว่าในขณะนี้ผู้ประกอบการหลายรายเตรียมที่จะปรับค่าขนส่งเช่นเดียวกันตน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนเอาไว้ได้ทั้งหมดแล้ว เฉพาะในส่วนของทักษิณขนส่งเจ้าเดียวก็มีรถบรรทุกรับส่งสินค้าวันละ 30 - 40 คัน ใช้น้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร ซึ่งแบกรับต้นทุนน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 11 บาทนับจากการขอปรับราคาครั้งล่าสุดประมาณ 10% เมื่อราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 26 บาท
อัดพาณิชย์ปล่อยพ่อค้าโก่งราคาเหล็ก
นายพันธุ์เทพ ทานชิติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมคเคอร์โฮม จำกัด และนายกสมาคมรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากภาวะราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นแบบรายวัน จากเดิมที่ตัวแทนจำหน่ายค้าวัสดุจะแจ้งการปรับขึ้นราคาล่วงหน้าก่อน 2-3 เดือน แต่ปัจจุบันจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เฉพาะนับจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันราคาขึ้นแล้วกว่า 5% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างอย่างมาก โดยเฉพาะผู้รับเหมาที่รับงานมาแล้วแต่ยังไม่ลงมือก่อสร้าง
“สำหรับในส่วนของบริษัทขณะนี้มีงานก่อสร้างบ้านในสต๊อก 7 หลัง ประมาณ 40 ล้านบาท ที่เป็นความเสี่ยงในเรื่องของต้นทุนก่อสร้างที่ปรับขึ้น แต่แน่นอนทำให้เราขาดทุนกำไรและต้องแบกรับอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือรับเหมารายย่อยที่รับงานมาในราคาถูกคิดกำไรต่ำๆ จะลำบาก ขณะนี้หลายบริษัทหยุดงานเพื่อเจรจาเรื่องราคาก่อสร้างใหม่ ”
นายกสมาคมฯ กล่าวคาดว่า ภายในเดือนพ.ค.นี้ บริษัทรับสร้างบ้านหรือผู้รับเหมาจะเริ่มปรับขึ้นราคาค่าก่อสร้างอีกอย่างน้อย 5% ภายหลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นมาแล้วในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามการขึ้นราคาอีก 5% ยังไม่สามารถระบุได้ว่าครอบคลุมกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ยังคงเติบโตได้อีก เพราะตลาดดังกล่าวลูกค้ามีที่ดิน มีเงินออม และมีความจำเป็นต้องสร้างบ้าน นอกจากนี้ตัวเลขของการสร้างบ้านเองในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 30,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีบริษัทรับสร้างบ้านเพียงไม่กี่ราย ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่ยังใหญ่มากและเกินกว่ากำลังการก่อสร้างที่บริษัทรับสร้างบ้านในตลาดมีอยู่
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายเหล็กทุกชนิดเพื่อการก่อสร้างได้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันที โดยราคาเหล็กได้พุ่งขึ้นจาก 18,000-19,000 บาทต่อตันเป็น 48,000-58,000 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นรวดเดียว 20-40% ผลกระทบดังกล่าว ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างมีการปิดตัวไปจำนวนหลายราย ทำให้อุตฯก่อสร้างทั้งระบบเกิดความสูญเสียไปแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท จากตลาดการก่อสร้างโดยรวม ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
"การปรับขึ้นราคาเหล็ก ซึ่งบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างกำลังเผชิญอยู่นี้ เกิดจากบริษัทผู้ผลิตนำเข้ากับบรรดายี่ปั้ว ซึ่งมีอยู่กว่า 100 ราย สุมหัวกันขึ้นราคากันเอง โดยกำหนดเงื่อนไขลวง คือ ปล่อยให้สินค้าขาดตลาด หรือมีการกันตุน บีบบริษัทรับเหมา จ่ายเงินสดแทนการใช้เครดิต มิฉะนั้น จะไม่รับประกันจะว่าจะได้รับสินค้าหรือไม่ "แหล่งข่าวกล่าวและว่า ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ ดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าในโกดังทั้งภายในโรงงานและโกดังต่างๆ เป็นการเร่งด่วน และเมื่อพบการกระทำ ควรจัดการอย่างเด็ดขาด
ค่าก่อสร้างรถไฟสีน้ำเงินเพิ่ม 4 พันล้าน
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ (22 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายกรอบวงเงินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กม.ขึ้นอีก 8.47% จากค่าก่อสร้างเดิม 48,821 ล้านบาทเป็น 52,956 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ4,135 ล้านบาท โดยปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาน้ำมันรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 3.8% ด้วย โดยจะเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และหากได้รับความเห็นชอบกระทรวงการคลังจะรับหน้าที่ในการหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นเงินกู้จากเจบิก จากนั้น รฟม.จะกำหนดขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้างต่อไป
สำหรับการเดินรถนั้นในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปจะมีการหารือว่าแนวทางใดมีความเหมาะสม ซึ่งมีทั้ง รฟม.เป็นผู้ดำเนินการเดินรถเองหรือให้เอกชนเข้ามาเดินรถ โดยเบื้องต้นมูลค่างานระบบและรถไฟฟ้าประมาณ 27,000 ล้านบาท