xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก “สื่อ”ที่ทำร้ายสังคม

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมที่ดูเหมือนจะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย “สื่อ” กำลังกลายเป็น “ผู้ต้องหา” ที่ถูก “นักวิชาการ” ปรักปรำว่า เป็น ผู้ที่มีส่วนในการกระทำผิดตัวจริง

ผมก็ว่า จริง แต่ถามกลับว่า แล้วสื่อประเภทไหนที่เป็น “ผู้ต้องหาที่แท้จริง”

แต่ก่อนจะถึงเรื่องนั้น ผมก็อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า “สังคมไทยขัดแย้งกันจริงหรือ”

คำตอบที่ผมได้คือ คนไทยไม่ขัดแย้งกัน ถ้าไม่หยิบเรื่อง “ทักษิณ” มาเป็นหัวข้อของการสนทนา

คนปักษ์ใต้ที่ส่วนใหญ่นิยมพรรคประชาธิปัตย์สามารถเดินทางไปเที่ยวที่ภาคอีสานซึ่งนิยมทักษิณได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะมีใครมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบคนต่างเผ่าในรวันดา เช่นเดียวกันคนอีสานที่ยังไปทำมาหากินในปักษ์ใต้ได้อย่างมีความสุข ถ้าผมเดินบนถนนแล้วหกล้มลงคนที่มาพยุงผมให้ลุกขึ้นอาจเป็นพวกคนรักทักษิณ จากนั้นก็เอ่ยคำขอบคุณในน้ำใจไมตรีที่มีต่อกัน

ดังนั้นจะมีใครปฏิเสธบ้าง ถ้าผมจะสรุปว่า คนไทยไม่ขัดแย้งกัน ถ้าไม่หยิบเรื่อง "ทักษิณ"มาเป็นหัวข้อในการสนทนา และ คนไทยมีความขัดแย้งกัน ถ้าหยิบเรื่อง "ทักษิณ"มาเป็นหัวข้อในการสนทนา

แล้วสื่อประเภทไหนที่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคม

ระหว่างสื่อที่เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของระบอบทักษิณทุกรูปแบบ เรียกร้องให้สังคมลุกขึ้นมาต่อต้าน กระทั่งขึ้นมาเป็นผู้นำประชาชนในการขับไล่รัฐบาลที่ฉ้อฉลเสียเอง

กับสื่อที่บอกสังคมว่า ฝ่ายที่ลุกขึ้นมาเปิดโปงความฉ้อฉลของระบอบทักษิณนั้น กำลังทำให้สังคมเกิดความแตกแยก แม้ระบอบทักษิณจะทุจริตก็มาจากวิถีในระบอบประชาธิปไตย

สื่อประเภทไหนที่สร้างทัศนคติให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมว่า โกงก็ยอมรับได้ ถ้าทำงานเป็น สื่อประเภทไหนที่ทำให้คนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ขอเพียงแต่ตัวเราเองไม่เดือดร้อน สื่อประเภทไหนที่ทำให้คนยึดถือ “วาทกรรม” มากกว่า “เหตุผล”

ผมคิดว่า ทุกวันนี้คนทำงานสื่อและอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงเชื่อว่า ระบอบทักษิณฉ้อฉล แต่แทนที่เขาจะบอกกับสังคมว่า ระบอบทักษิณฉ้อฉลอย่างไร สื่อมวลชนที่เอนเอียงไปทางระบอบทักษิณ (เพราะมีผลประโยชน์) ก็พยายามสร้างวาทกรรมประสานไปกับลิ่วล้อในระบอบทักษิณ ให้คนในสังคมเชื่อว่า ไม่มีคดีไหนที่จะเอาผิดทักษิณได้ และสื่อไปในนัยที่ทำให้คนเชื่อว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า ทักษิณโกงนั้น จึงไม่เป็นความจริง

หรือไม่สื่อบางพวกก็อำพรางตนเพื่อเรียกร้องให้คนเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง อ้างความสมานฉันท์ อ้างบรรยากาศการลงทุน เพื่อให้สื่ออีกกลุ่มยุติกระบวนการเปิดโปงรัฐบาลที่ฉ้อฉล

ดังนั้นปัญหาของสังคมจึงไม่ใช่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะแยกแยะความผิดชอบชั่วดีไม่ได้ แต่เพราะประชาชนบางกลุ่มไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแยกแยะความผิดถูกชั่วดีได้ เพราะสื่อให้ข้อมูลที่บิดเบือนกับสังคม

ถ้าทุกคนในสังคมทุกชนชั้นรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกันว่า ระบอบทักษิณโกงอย่างไร สังคมจะเกิดความแตกแยกกันไหม สังคมจะเกิดการเผชิญหน้ากันไหม ผมคิดว่า คงไม่ ถ้าหากเรายังเป็นสังคมที่มีหิริโอตตัปปะ ซึ่งผมเชื่อว่า สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น และสังคมไทยก็ยังเป็นเช่นนั้น

แต่ที่น่าจะอันตรายกว่านั้น ก็คือ เมื่อสื่อทุกสื่อรู้ว่า ระบอบทักษิณฉ้อฉลอย่างไร แต่กลับมีบางสื่อเพิกเฉยที่จะพูดถึงความฉ้อฉลนั้น สื่อบางสื่อขุดคุ้ยความฉ้อฉลของระบอบทักษิณ เพื่อส่งข่าวประกวดชิงรางวัล แต่ในค่ายเดียวกันมีคนเขียนเชียร์ทักษิณเต็มไปหมด

การที่สื่อมวลชนรายงานข่าวเพียงผิวเผิน และเชื่อคำพูดของนักการเมืองว่า เป็นการโยกย้ายตามปกติ เมื่อมีการโยกย้ายนายตำรวจคนหนึ่งที่เป็นรองประธานกกต. และรองผู้ว่าฯอีกคนหนึ่งที่เป็นประธานกกต.ออกไปจากจังหวัด เพราะไปให้ใบแดงฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ โดยไม่มีสื่อและคนในสังคมออกมาปกป้องคนที่ทำความดีและความถูกต้อง

การที่สื่อมวลชนมองไม่เห็นว่า การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การแก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เป็นสิ่งที่ต้องคัดค้าน สังคมก็จะต้องมืดบอดและมองเห็นคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ถูกต้องเป็นปัญหาของสังคมต่อไป

นี่คือ บรรทัดฐานที่ผิดๆใช่หรือไม่ เหมือนกับเสียงเรียกร้องที่ว่า สื่อต้องเป็นกลาง และควรเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ผมต้องถามกับตัวเอง ว่า แล้วเราจะเป็นสื่อไปทำไม

ผมถามว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนรู้กันโดยถ้วนทั่วใช่ไหมว่า ความพยายามเร่งรัดในการแก้รัฐธรรมนูญคือ ความพยายามฟอกตัวเองให้พ้นผิด แต่สิ่งที่สื่อมวลชนบางคนซึ่งสนับสนุนระบอบทักษิณกำลังพยายามบอกสังคมคืออะไร เขาบอกว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่เขาก็ยึดถือแบบความเป็นกลางด้วยการรายงานเพียงว่า ใครโต้แย้งกันอย่างไร โดยไม่พูดถึงข้อเท็จจริงที่รัฐบาลพยายามแก้รัฐธรรมนูญ

แน่นอนครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร แต่ทำไมไม่บอกสังคมให้ครบถ้วนว่า เหตุผลที่แท้จริงในการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญคืออะไร แล้วเปรียบเทียบให้เห็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 40 กับ ปี 50 นั้น ถ้าไม่พูดถึงที่มา ใครดีเลวกว่ากันแน่

ถ้าสื่อไม่อธิบายให้สังคมรู้ว่า ใครทำอะไร เพื่ออะไร และกำลังจะทำอะไรต่อไป ถ้าสื่อไม่บอกกับสังคมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือความชั่วร้ายเลวทราม เพราะกลัวว่า สังคมจะเกิดความขัดแย้ง

คำถามก็คือว่า สื่อมวลชนจะต่างกับแมสเซนเจอร์ตรงไหน สื่อมวลชนจะต่างกับบุรุษไปรษณีย์ตรงไหน ถ้าเราเป็นเพียงคนนำสาร ที่ไม่บอกอะไรกับสังคม เราจะเป็นสื่อมวลชนไปทำไม

ดังนั้นสิ่งที่ต้องถามก็คือ สื่อมวลชนจะถูกกล่าวหาว่า ผลิตความเกลียดชังและความกลัว สื่อมวลชนทำให้คนหันหน้าเข้ามาประหัตประหารกันหรือไม่ ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ไม่เปิดพื้นที่ให้ความชั่วกับความเลว

น่าประหลาดว่า นักวิชาการจำพวกหนึ่งมองไม่เห็นว่า ปัญหาของสื่อ คือ พวกที่ไม่ยอมพูดความจริงกับสังคม ไม่รายงานข้อเท็จจริงกับสังคม บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสังคม แต่กลับชี้ว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากสื่อที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล และปลุกให้คนในสังคมลุกขึ้นมาต่อต้าน

เมื่อคนในสังคมกลุ่มหนึ่งที่ได้รับข้อมูลข่าวสารตื่นรู้ ผู้มีอำนาจกลับปลุกปั่นคนอีกกลุ่มขึ้นมาปะทะคะคาน แทนที่สื่อจะเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจยุติการกระทำดังกล่าว กลับตั้งคำถามกับผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องความถูกต้องว่า ทำไมสื่อที่ลุกขึ้นมาให้คนในสังคมคัดค้านความไม่ถูกต้อง ไม่ยุติปัญหาที่อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ผมเห็นด้วยที่จะเรียกร้องสื่อ “มืออาชีพ” และ “มีอารยะ” แต่ต้องไม่ใช่สื่อที่เป็นกลางและเปิดพื้นที่ให้ถูกฝ่ายเท่าเทียมกันโดยไม่แยกดีหรือเลว และต้องเป็นสื่อที่กล้าลุกขึ้นมาเป็นผู้นำสังคม กล้าชี้ว่า อะไรถูก อะไรผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น