xs
xsm
sm
md
lg

ฝันสลายคนเลี้ยงกุ้ง"จ้อก้อ"คำมั่นแม้วสุดท้ายตลกคาเฟ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ... ย้อนรอย แก้จนอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ตอน 2

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ความฝันของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตำบลหน่อม และใกล้เคียงในอำเภออาจสามารถ "ล่มสลาย" หลังคาราวานแก้จนของทักษิณเคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่ คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่อาชีพผู้เลี้ยงกุ้งก็ลับหายไปกับคณะหม่ำโชว์ จากจำนวนผู้เลี้ยงครึ่งร้อยเหลืออยู่ไม่กี่ราย เจ้าของบ่อบางรายต้องแบกหนี้นับล้านเพราะหลงลมปาก "แม้ว" ต้องเลิกเลี้ยงกุ้งปลูกข้าว-อนุบาลปลานิลขายใช้หนี้

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านจ้อก้อ ต.หน่อม ต้องฝันสลายและกลายเป็นหนี้ร่วมล้านบาท หลังฝันความหวังกับคาราวานแก้จนของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2549 ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพบปะเกษตรกรด้วยตนเอง พร้อมให้รับปากจะช่วยฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของชาวจ้อก้อให้เฟื่องฟู อีกครั้ง

ภายหลังเรียลิตี้โชว์สิ้นสุด การสานต่อความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ขาดหาย เกษตรกรหลายรายต้องเลิกเลี้ยงกุ้ง หันไปปลูกข้าวและเลี้ยงปลาแทนเพื่อความอยู่รอด และปลดหนี้สิน

“บ้านจ้อก้อ” ขึ้นชื่อมากว่ากุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ และมีรสชาติอร่อย ที่ใครมาถึงร้อยเอ็ดแล้วไม่ได้ลิ้มรสกุ้งก้ามกรามถือว่า “ยังมาไม่ถึง” จ.ร้อยเอ็ด อาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของเกษตรกรแถบนี้ เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2525 ม.ล.ประทีป (ไม่ทราบนามสกุล) นายอำเภออาจสามารถ ในขณะนั้นเป็นผู้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงกุ้ง เพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ สภาพน้ำเหมาะต่อการเลี้ยงกุ้ง และเริ่มเลี้ยงกันมากนับร้อยรายในปี 2536-2537 นอกจากบ้านจ้อก้อแล้ว ยังมีบ้านกลอย บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านแมดที่เลี้ยงกุ้งกันมาก

แรกๆการเลี้ยงกุ้งสร้าง รายได้ดีมากกว่าการทำนาทำไร่ ราคาขายส่งสูงสุดในสมัยนั้นสูงถึงกิโลกรัมละ 190 บาท แต่เมื่อคนเริ่มเลี้ยงเยอะขึ้น พ่อค้ามีบ่อกุ้งให้เลือกมากราคาเริ่มลดลง ราคาขายส่งเหลือ 140-150 บาท อีกทั้งค่าหัวอาหารและพันธุ์ลูกกุ้งมีราคาแพง ชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งจำนวนไม่น้อยได้เลิกทำบ่อกุ้ง หันไปทำนา บางส่วนเข้ากรุงเทพฯหางานทำแทน

บรรจง ขันแข็ง หนึ่งในบรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านจ้อก้อ ต.หน่อม ตัดสินใจลงทุนขยายบ่อเลี้ยงกุ้งเพิ่มจากเดิมที่ทำอยู่แล้ว 25 ไร่ เป็น 70 ไร่ ทันที หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเยี่ยมถึงที่บ้าน เพื่อฟังปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างใกล้ชิด โดยอดีตนายกฯ รับปากที่จะช่วยเหลือทุกด้านที่ผู้เลี้ยงกุ้งร้องขอ พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าบ้านจ้อก้อจะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งไม่เพียงจะฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงกุ้งให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ยังเป็นการพลิกชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นด้วย

บรรจง ขันแข็ง เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง บ้านจ้อก้อ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด บอกว่าพวกเขาที่ยึดอาชีพเลี้ยงกุ้งมีความหวังมากตอนท่านทักษิณมาเยี่ยมและรับปากจะส่งเสริมการทำฟาร์มกุ้งอย่างเต็มที่ จะให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำถิ่น ใครมาร้อยเอ็ดหากไม่ได้มารับประทานกุ้งที่จ้อก้อถือว่ามาไม่ถึง แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดใดเลย เงินที่นำมาลงทุนก็ต้องหากู้เอง แรกๆก็ยังหวังว่าลงทุนจะไม่เสียเปล่า ต่างก็สู้กันเต็มที่ แต่ทำกันไปได้ไม่นานก็ท้อ เพราะค่าอาหารกุ้งแพงมาก

บรรจง ในวัยย่าง 55 ปี เล่าด้วยความขมขื่นว่าการตัดสินใจขยายบ่อ เพื่อเพิ่มจำนวนกุ้งของเขา กลับพบความล้มเหลวจากปัญหาหลายด้าน ทั้งการขาดการช่วยเหลือเรื่องน้ำชลประทานอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทำให้ กุ้งตายจำนวนมาก สภาพน้ำในบ่อเน่าเสีย และต้นทุนหัวอาหารและพันธุ์ลูกกุ้งมีราคาสูงมาก

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่อดีตนายกฯเคยสั่งการให้เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งก็หายหน้าไป ไม่เคยมาเหลียวแล หายไปพร้อมกับคณะของอดีตนายกฯที่มาสาธิตแก้จนที่อาจสามารถ

“ที่ผมได้มาจากการสนับสนุนของทางการคือ เครื่องผลิตหัวอาหารเครื่องเล็กๆ เมื่อเทียบกับปริมาณบ่อกุ้งที่เลี้ยงมันไม่พอ ก็ต้องซื้ออาหารจากนายทุนเหมือนเดิม คลองส่งน้ำที่เคยรับปากว่าจะขุดลอกให้ลึกให้น้ำไหลเข้าบ่อกุ้งได้คล่องก็ไม่ได้ เคยเป็นยังไงก็อยู่อย่างนั้น”บรรจงกล่าวและเล่าต่อว่า การเลี่ยงกุ้งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าคนที่เลี้ยงไม่เอาจริงเอาจัง เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องมีเวลาให้กับบ่อกุ้งเต็มที่และมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายมากพอ

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อทุก 3 เดือนต่อครั้ง เพื่อรักษาสภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ หากไม่เช่นนั้นจะมีปัญหากุ้งตาย ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต่างถอดใจเลิกเลี้ยงเพราะขาดทุน น้ำที่ใช้เปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้ง เจ้าของบ่อต้องซื้อจากสถานีส่งน้ำบ้านท่าคร้อ ปล่อยให้ไหลมาตามคลองส่งน้ำ เจ้าของบ่อต้องจ่ายในอัตรา 70 บาท/ชั่วโมง จนกว่าน้ำในบ่อจะได้ระดับที่พอเหมาะ แต่ละครั้งที่เปลี่ยนน้ำใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง คิดเป็นเงินแต่ละบ่อเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่ละครั้งหลักพันบาทขึ้นไป มีบ่อกุ้งมากต้องจ่ายค่าน้ำมากขึ้นตาม

เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ บรรจงจึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงกุ้ง เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา พร้อมต้องยอมรับสภาพที่ต้องแบกภาระหนี้สินร่วมล้านบาทที่กู้ยืมมาจาก ธ.ก.ส. ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีจากความเฟื่องฟูของกุ้งจ้อก้อตามคำพูดอดีตนายกรัฐมนตรี ต้องพังทลายลงไป ทิ้งไว้แต่ความทุกข์และหนี้สินล้นพ้นตัว

“ผมผิดหวังมาก ตั้งความหวังไว้มาก ลงทุนไปมาก ก็เจ็บหนัก กว่าล้านบาทที่ลงทุนไปกับการขยายบ่อเลี้ยงกุ้ง ขาดทุนยับ ตอนนี้ต้องหาเงินไปใช้หนี้ ทุกอย่างมันพังทลาย เหมือนคนถูกหลอก มันพูดไม่ถูก” บรรจงกล่าวย้ำ

สำหรับข้อเสนอที่ขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้ง นั่นคือ ให้ช่วยจัดทำระบบชลประทานเพื่อให้มีน้ำเลี้ยงกุ้งสะดวกขึ้น พร้อมกับหาแนวทางจัดสร้างโรงงานผลิตอาหารกุ้ง อาหารปลาในจังหวัดร้อยเอ็ด จำหน่ายให้เกษตรกรในราคาถูก หรือแนวทางอื่นๆ ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อ 2ปีที่แล้วอดีตนายกฯก็รับปากว่าจะช่วยเหลือเต็มที่ที่จะฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงกุ้งให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง พร้อมกับหยอดคำหวานว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ต.หน่อม จะกลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ จากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บรรจงต้องหันเหชีวิตมาปลูกข้าวและเลี้ยงปลาแทน เช่นเดียวกับชาวจ้อก้ออีกหลายคนที่ต้องหันไปทำการเกษตรอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต จากผู้เลี้ยงกุ้งกว่า 70 รายค่อยๆ ลดลงเหลือ 40 และทุกวันนี้เหลือไม่ถึง 15 ราย

บรรจงเล่าว่า หลังจากเลิกเลี้ยงกุ้งแล้วเปลี่ยนมาปลูกข้าวแทน ก็ใช่ว่าจะมีรายได้มากมายแม้ราคาข้าวจะสูง แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ เพราะกว่าจะได้เก็บเกี่ยวราคาข้าวก็ตกแล้ว เท่ากับไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาข้าวแพงแต่อย่างใด มาถึงวันนี้รู้สึกอนาถกับชีวิตเกษตรกรไทยที่ไม่เคยได้ผลกำไรหรือสุขสบายจากการขายผลผลิตเลย นายทุนหรือพ่อค้าคนกลางจะได้ประโยชน์มากกว่า

“บางส่วนของบ่อเลี้ยงกุ้ง ได้ปรับใช้เป็นบ่ออนุบาลทับทิม เพื่อขายต่อให้กับเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง รายได้จากการขายปลาอนุบาลก็พยายามสะสมใช้หนี้ ส่วนจะกลับไปเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอีกเมื่อไหร่นั้น คงต้องรอให้พร้อมกว่านี้ก่อน ไม่อยากหวังอะไรมากอีกแล้ว”บรรจงบอก

อย่างไรก็ตามในฐานะตัวแทนเกษตรที่เคยได้สะท้อนปัญหาต่อหน้าอดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีหน่วยงานราชการรอขานรับอย่างใกล้ชิด จึงยังหวังที่จะได้เห็นการเหลียวแลอย่างจริงจังจากรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อให้มีสักวันที่ชาวบ้านจ้อก้อ จะได้กลับมาเลี้ยงกุ้งอย่างคึกคักเหมือนเดิม และสามารถพูดได้อย่างเต็มปากอีกครั้งว่า ใครมาถึงร้อยเอ็ดแล้วไม่ได้ลิ้มรสกุ้งบ้านจ้อก้อ ถือว่า “ยังมาไม่ถึง” จ.ร้อยเอ็ด
กำลังโหลดความคิดเห็น