xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียคุมเข้มอุตสาหกรรมน้ำมัน ร่วมส่วนทำให้ราคาโลกทะยานลิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ราคาน้ำมันโลกทะยานทำลายสถิติครั้งแล้วครั้งเล่า โดยสาเหตุพื้นฐานประการหนึ่งคือความวิตกเรื่องซัปพลายในโลกกำลังหดหาย และการที่อุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซียกำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วง ก็ร่วมส่วนทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดโลกลดน้อยลง"

ตอนที่ราคาน้ำมันทำนิวไฮทะลุ 122 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 6 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ชี้ว่าสาเหตุเฉพาะหน้าเลย มาจากการโจมตีท่อขนส่งน้ำมันในไนจีเรียและเหตุการณ์วุ่นวายในอิรัก การที่ซัปพลายเมื่อขาดไปแม้เพียงเล็กน้อย สามารถดันให้ราคาน้ำมันทะยานได้ ก็เนื่องจากซาอุดีอาระเบีย เป็นชาติเดียวที่มีศักยภาพในการผลิตชดเชยส่วนซึ่งหดหาย ทว่าประเทศนี้ยังคงแสดงท่าทีไม่คิดที่จะทำเช่นนั้น
อย่างไรก็ดี หากจะสืบสาวหาสาเหตุว่า ทำไมซัปพลายน้ำมันจึงได้เกิดขาดแคลนกันถึงขนาดนี้แล้ว เราคงต้องหันไปพิจารณาสภาพของอุตสาหกรรมน้ำมันในรัสเซีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
จากข้อมูลของซิตี้แบงก์ ช่วง 7 ปีที่ผ่าน 80% ของการขยายตัวของศักยภาพการผลิตน้ำมันนอกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มาจากรัสเซีย กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษนี้ของแดนหมีขาวรองรับการเติบโตของดีมานด์จากจีนและอินเดียได้เกือบจะบาร์เรลต่อบาร์เรลเลยทีเดียว
ทว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมา การผลิตของรัสเซียลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะนี้ผลิตต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) กว่า 2% ซ้ำก่อนหน้านั้น การขยายตัวของกำลังผลิตแดนหมีขาวยังลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่านี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราวแล้ว
ลีโอนิด เฟดุน รองประธานลุคออยล์ บริษัทน้ำมันชั้นนำแดนหมีขาว บอกว่ากำลังการผลิตน้ำมันของประเทศจะไม่มีวันขึ้นถึงระดับ 10 ล้านบีพีดี จากการค้นพบว่ารัสเซียไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงสำหรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะนี่แหละ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักราคาน้ำมันเดินหน้าทำลายสถิติ
น้ำมันและก๊าซเป็นรากฐานสำคัญที่รองรับระบอบของวลาดีมีร์ ปูติน อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของรัสเซีย ทั้งยังเป็นภารกิจสำคัญของดิมิทรี เมดเดเวฟ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและอดีตประธานกรรมการก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่แดนหมีขาว รายได้เป็นกอบเป็นกำจากน้ำมันและก๊าซ สร้างบรรยากาศของเสถียรภาพและปิดบังบาดแผลเศรษฐกิจที่พุพองอยู่ภายใน ทั้งยังทำให้รัสเซียมีอิทธิพลบนเวทีโลกเพิ่มขึ้น กระนั้น อุตสาหกรรมสำคัญที่สุดของประเทศนี้กลับหนีไม่พ้นการทำร้ายจากฝีมือมนุษย์
โดยหลักการแล้ว รัสเซียน่าจะนอนตีพุงกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากน้ำมันไปอีกหลายปี เพราะมีแหล่งน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 7 ของโลกถึงราว 80 ล้านบาร์เรล โรเบิร์ต ดัดลีย์ นายใหญ่ของทีเอ็นเค-บีพี กิจการร่วมทุนในรัสเซียของบีพีจากอังกฤษ ยังคาดว่ามีน้ำมันซุกซ่อนรอการค้นพบอีก 100,000 ล้านบาร์เรลในแดนหมีขาว เสียแต่ว่ามาตรการด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลในการควบคุมอุตสาหกรรมนี้กำลังทำให้กำลังผลิตลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
แอนิสา เรดแมน นักวิเคราะห์ของเอชเอสบีซีขานรับว่า ภาษีคือปัญหาหนักของอุตสาหกรรมน้ำมัน เครมลินขูดภาษีการส่งออกสูงลิบถึง 65% ของราคาขายที่สูงกว่า 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนั้น ยังมีภาษีการผลิตและสวัสดิการสังคม รวมๆ แล้วรัฐบาลตักตวงผลกำไรไปจากอุตสาหกรรมนี้ถึง 92% ผู้บริหารของทีเอ็นเค-บีพียังโอดครวญว่า ต้นทุนทั้งหมดของอุตสาหกรรมน้ำมันจะทำให้การลงทุนในรัสเซียหากำไรไม่เจอ นอกจากรัฐจะแก้ไขมาตรการภาษี
ปัจจุบัน มอสโกยอมยกเว้นภาษีการผลิตจากบ่อน้ำมันเก่า ดังนั้น บริษัทน้ำมันจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสูบน้ำมันจากบ่อเหล่านั้นออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งข้อดีก็คือเป็นการฟื้นฟูบ่อน้ำมันที่เสียหายจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อต้นทศวรรษ 1990 โดยมีต้นทุนต่ำและทำได้อย่างง่ายดาย บริษัทเอกชนสามารถเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจาก 6 ล้านบีพีดีเป็นเกือบ 10 ล้านบีพีดี ส่วนใหญ่จากทางตะวันตกของไซบีเรีย ปี 2003 เพียงปีเดียว กำลังผลิตแดนหมีขาวเพิ่มขึ้นถึง 12%
แต่ตอนนี้กลยุทธ์ดังกล่าวกลับให้ผลตอบแทนต่ำลง เนื่องจากบ่อน้ำมันในไซบีเรียตะวันตกเริ่มเหือดแห้ง การพยายามรักษาระดับการผลิตหมายถึงการลงทุนเพิ่ม และการขยายกำลังผลิตให้มากกว่าเดิมจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ในพื้นที่ห่างไกล เช่น ไซบีเรียตะวันออก และซัคคาลิน
กิจกรรมการผลิตในบริเวณดังกล่าวมีการขยายตัวช่วงสั้นๆ จากโครงการลดภาษีที่เรียกว่า 'ข้อตกลงแบ่งปันการผลิต' ที่รัฐบาลเสนอเมื่อปลายทศวรรษที่แล้วและยกเลิกไปแล้ว การขนย้ายอุปกรณ์การผลิตบางส่วนออกจากโครงการดังกล่าวส่งผลให้กำลังการผลิตของรัสเซียลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2006 ขณะที่ผลผลิตของโครงการเหล่านี้เริ่มลดลงตั้งแต่เดือนที่แล้ว
นอกจากนั้น การงุบงิบเวนคืนสินทรัพย์ในโครงการผลิตน้ำมันหลายแห่งของเครมลินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังทำให้บริษัทต่างๆ ลังเลที่จะเริ่มต้นโครงการขนาดใหญ่
ตัวอย่างเช่น ลุคออยล์ที่ลงทุนปีละ 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่ประมาณ 30% ทีเดียวที่อัดฉีดให้กับการผลิตก๊าซ ซึ่งขณะนี้มีอนาคตสดใสกว่าน้ำมัน เนื่องจากราคาภายในประเทศสูงขึ้นและรัฐลดภาษีให้
เงินทุนที่เหลือใช้ไปกับการกลั่น เนื่องจากภาษีส่งออกน้ำมันเบนซินและดีเซลต่ำกว่าภาษีที่เรียกเก็บจากน้ำมันดิบ ลุคออยล์คาดว่ากำลังผลิตจะเพิ่มขึ้น 4% ต่อปีในช่วง 15 ปีข้างหน้า แต่ตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้ได้หากรัฐบาลผ่อนคลายภาระภาษี
เช่นเดียวกัน รอสเนฟต์ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อีกแห่ง ต้องรับภาระหนี้จำนวนมากจากการซื้อแผนกต่างๆ ของยูคอส บริษัทน้ำมันเอกชนที่ล้มละลายเพราะการขูดรีดภาษีของเครมลิน จนอับจนหนทางในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก บริษัทน้ำมันอีกมากมายต่างเผชิญชะตากรรมเดียวกันคือ ต้องเก็บหอมรอมริบกำไรและรอคอยให้รัฐปรับปรุงมาตรการภาษี
ปีที่แล้ว รัสเซียประกาศยกเว้นภาษีมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ แต่บริษัทน้ำมันบอกว่าเพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพการผลิตเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในการแถลงต่อสภาดูมาเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ที่ผ่านมา ปูตินกล่าวว่าจะต้องลดภาษีที่เรียกเก็บจากอุตสาหกรรมน้ำมันลง กระนั้น การพัฒนาบ่อน้ำมันใหม่ๆ ยังต้องใช้เวลาอีกหนึ่งทศวรรษ
นอกจากนั้น เครมลินยังล้มเหลวในการมอบสิทธิ์การสำรวจน้ำมันในอาร์กติก ที่บริษัทน้ำมันเชื่อว่ามีทรัพยากรซ่อนอยู่จำนวนมาก คนในวงการยังคาดว่า ในอนาคตบริษัทต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในการสำรวจแหล่งน้ำมันใต้ทะเลน้ำแข็งจะถูกกีดกันให้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในโครงการขนาดใหญ่
ขณะเดียวกัน คริส วีเฟอร์ ผู้สังเกตการณ์สถานการณ์รัสเซีย และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของธนาคารอูรัลซิบ ชี้ว่าทุกวันนี้รัสเซียพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ระบุว่าสัดส่วนของน้ำมันและก๊าซในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของรัสเซียเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตั้งแต่ปี 1999 อยู่ที่กว่า 30% ในขณะนี้ และคิดเป็น 50% ของรายได้ในงบประมาณ และ 65% ของการส่งออก
ดังนั้น หากยังไม่คิดปรับปรุงวิธีบริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้ จะกลายเป็นว่าเครมลินกำลังทุบหม้อข้าวตัวเองอย่างจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น