xs
xsm
sm
md
lg

บาทอ่อนสุดรอบ2เดือนครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ค่าเงินบาทร่วงแตะ 32.22 บาทต่อดอลล์ อ่อนสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง หลังหลุดแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 32.00 แบงก์ชาติชี้เป็นไปตามทิศทางค่าเงินภูมิภาค และบริษัทน้ำมันที่เร่งซื้อน้ำมันเข้ามามาก ระบุไม่น่าตกใจยันปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจยังดีอยู่ พร้อมจับตาเงินทุนไหลออกหลังมีเงินไหลเข้าช่วงยกเลิกมาตรการ 30% ด้านแบงก์ชี้บาทอ่อนเหตุนักลงทุนคาดกนง.-เฟดคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่จะถึงนี้

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อวานนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรกเป็นไปตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ในภูมิภาคได้อ่อนค่าไปก่อนหน้าเราแล้วทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ จึงไม่อยากให้ดูเงินบาทแค่วันใดวันหนึ่ง ปัจจัยที่สอง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10-20 เหรียญในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทน้ำมันเริ่มมีการสั่งซื้อกันมากขึ้น

ปัจจัยสุดท้าย คือ หลังจากที่ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศมีนักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และตลาดทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มากนักต่างกับช่วงก่อนหน้าที่มีเงินทุนไหลเข้ามามากกว่านี้ เพราะนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยต่างคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยน่าจะลดลงตามทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัว จึงอาจจะทำให้มีเงินไหลออกไปบ้าง

"ขณะนี้เงินบาทเริ่มอ่อนลงไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังดีอยู่ ซึ่งต่างชาติเองก็ยังคงมองว่าเศรษฐกิจแถบเอเชียยังดีอยู่ แม้อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะเร่งตัวสูง แต่ประเทศอื่นๆ ก็สูงไปด้วย จึงไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน และคนในประเทศก็มีการปรับพฤติกรรมการบริโภคน้ำมันและอาหารแพงได้ดีมาก จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ค่าเงินบาทมีทั้งอ่อนและแข็งค่าช่วยให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าหาจังหวะในการทำธุรกิจที่ดีได้ เพราะขณะนี้มีทั้งเงินเข้ามาขายและซื้อเงินดอลลาร์กลับไป ถือเป็นพัฒนาการที่ดี”

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ห่วงเรื่องเงินทุนไหลเข้า-ออก ซึ่งหลังจากยกเลิกมาตรการกันสำรองก็ได้มีการติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีเงินทุนไหลออกบ้าง จากก่อนหน้านี้มีเงินไหลเข้ามามากในทิศทางเดียว จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ธปท.ต้องมีมาตรการอะไรออกมาดูแลในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างก็ปรับตัวเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งธปท.จะดูแลเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดความผันผวนมากเกินไป
ด้านนักค้าเงินธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้(12 พ.ค.) ค่อนข้างอ่อนค่า โดยเกิดจากกองทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาไล่ช้อนซื้อเงินดอลลาร์กลับประเทศมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวานนี้ อีกทั้งหลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตจะไม่ชะลอไปกว่านี้แล้ว และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจจะหยุดพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ทำให้มีการหันมาซื้อดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าเริ่มมีการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันจากต่างประเทศ ส่วนผู้ส่งออกจะมีการขายไม่เยอะเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้คาดว่ายังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและมีการเคลื่อนไหวของค่าเงินมีโอกาสแตะที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทวานนี้ น่าจะมาจากการคาดการณ์ว่าธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่ทางนักลงทุนต่างชาติก็พักรบหลังจากประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อรอดูผลของการลดดอกเบี้ยครั้งก่อนๆ และมาตรการทางการคลังทั้งด้านการคืนภาษีและมาตรการจูงใจในการลงทุน
"แต่จากการสำรวจแล้วพบว่ามาตรการการคลังที่ออกมาคงไม่ค่อยเวิร์ค ประเมินว่านักลงทุนจะลงทุนเพิ่มจากมาตรการของรัฐไม่ถึง 20% ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าการอุปโภคบริโภคจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ทำให้คาดว่าเฟดน่าจะมีการปรับลดอัตราลงอีกครั้งในปีนี้"นายบันลือศักดิ์
สำหรับปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังคงไม่นิ่งนั้น ก็คงจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่กดดันค่าเงินบาทอยู่ แต่ก็เป็นส่วนน้อย นักลงทุนน่าจะติดตามปัจจัยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยทั้งในและนอกประเทศอยู่ รวมถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะแคบลงเนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้าเริ่มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการอ่อนค่าลงของเงินบาท น่าจะเป็นในระยะสั้นๆ เนื่องจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐฯยังไม่คลี่คลายมากนัก ทำให้แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวยังคงอ่อนค่าอยู่
**บาทร่วงอ่อนสุดรอบ2เดือนครึ่ง**
นักค้าเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (12 พ.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 32.17-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเช้าเปิดตลาดที่ 32.08 -32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการเก็งกำไร ทำให้มีการเทขายออกมา ส่วนค่าเงินในภูมิภาคแม้จะอยู่ในทิศทางเดียวกับเงินบาท แต่ยังถือว่าแข็งค่ากว่าค่าเงินบาท ส่วนกรอบค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 32.10-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เงินบาทร่วงลงอย่างหนักหลังตลาดในประเทศเปิดทำการ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งใกล้ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเช้าของวันดังกล่าวนั้น ได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อคืนเงินดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนหลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ก่อนหน้า และจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่านักลงทุนจะยังไม่แน่ใจนักว่า วัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ยุติลงแล้วหรือไม่
ท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทร่วงลงผ่านแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 32.00 เข้าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ระดับประมาณ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นที่คาดว่าผู้นำเข้าโดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ได้ส่งคำสั่งซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันในช่วง 6 วันทำการก่อนหน้า รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วยังได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตัดขาดทุนอีกด้วย
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค เนื่องจากการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าตลาด NYMEX ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 30 ในปีนี้ กำลังส่งผลกดดันฐานะดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะถัดไป ประกอบด้วย ความมั่นใจในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังคงอาจจะผันผวนตามข่าวดีหรือร้ายในภาคการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงที่เหลือของปี ที่อาจฟื้นตัวขึ้นตามฐานะดุลการค้าและดุลบริการจากปัจจัยทางฤดูกาล
กำลังโหลดความคิดเห็น