xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ลั่นยื่นถอดถอนสมพงษ์รวบรัดสภาตั้ง6ปปท.ผิดกม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้(8 พค) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ การสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท) จำนวน 6 คนที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายพิศาล พิริยะสถิตย์ ประธานฯ,นายไสว พราหมณี ,นายกุลพัชร์ อิทธิธรรมวินิจ,นายบุญปลูก ชายเกตุ,นายอุดม มั่งมีดี,นายถวิล อินทรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในสายพรรคพลังประชาชน
ทั้งนี้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรมได้สรุปว่า ในการเสนอขอให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตั้งคณะกรรมการ ปปท.ขอยืนยันว่าเป็นการทำงาน ปราบการทุจริต ข้าราชการ และแบ่งเบาภาระงานของ ป.ป.ช.หลังมีรัฐบาลชุดนี้ ตนได้เร่งรัดงานในกระทรวงมาตลอด ซึ่งรัฐมนตรีรัฐบาลที่ผ่านมามีการคัดสรร กรรมการ ปปท.ใช้เวลามาก สุดท้ายเรื่องนี้ตนได้รับหนังสือรายงานการคัดสรร เมื่อวันที่28 มี.ค.2551 ซึ่งหากเรื่องนี้จะผิดรัฐธรรมนูญเพราะเลยเวลาที่กำหนด แต่ตนก็ขอยืนยันเดินต่อไป พร้อมขอให้สภาสนับสนุนให้ความเห็นชอบ คณะกรรมการ ปปท.ชุดนี้
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการลงคะแนน สมาชิกฝ่ายค้านได้ทักท้วงว่า ยังไม่มีควรมีการลงมติ เพราะเป็นการเสนอเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แต่ประธานในที่ประชุมได้ตัดบทให้สมาชิกลงคะแนนโดยอ้างว่า การพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้พิจารณาความเห็นชอบต่อไป โดยให้ลงคะแนนเป็นรายบุคคล
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีการกำหนดบุคคลที่จะเป็นประธานกรรมการไว้แล้ว จึงอยากถามหลักเกณฑ์ ในการลงคะแนนซึ่งได้รับการชี้แจงว่าหากเห็นว่าคนที่เป็นประธานไม่เหมาะสม ก็สามารถงดออกเสียงได้ และคณะกรรมการ ปปท.นั้นประกอบ ด้วยประธาน 1คนและ กรรมการ 5 คน ซึ่งครม.เสนอมานั้นถูกต้องแล้ว สภาเพียงให้ความเห็นชอบเท่านั้น
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อเรื่องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายค้านมีมติไม่ร่วมลงมติ และไม่ร่วมเป็นกรรมการนับคะแนนด้วย
ในที่สุด ผลการลงมติ ปรากฏว่า นายพิศาล พิริยะสถิตย์ ประธานฯ เห็นชอบ 190 เสียง งด ออกเสียง 11 เสียง ,นายไสว พราหมณี เห็นชอบ 175 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง งดออกเสียง 12เสียง,นายกุลพัชร์ อิทธิธรรมวินิจ เห็นชอบ 190 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง,นายบุญปลูก ชายเกตุ เห็นชอบ 184 เสียง งด ออกเสียง11 เสียง,นายถวิล อินทรักษา เห็นชอบ188 เสียง งดออกเสียง 12 เสียงและนายอุดม มั่งมีดี เห็นชอบ189 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ถือว่าที่ประชุมให้ความเห็นชอบคณะกรรมการ
หลังเสร็จสิ้นการลงมติ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกท้วงติงว่าเสียงโหวตให้ความเห็นชอบกรรมการ ปปท.ทั้ง 6 คน มี ส.ส.ในสภาฯ ที่ร่วมลงคะแนนไม่น่าเกิน 200 คน จากสมาชิกสภา 500 คน จะมีปัญหาการลงมติเห็นชอบที่จะต้องใช้คะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่
พ.อ.อภิวันท์ ได้ชี้แจงว่า ต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่ตีความเป็นผู้วินิจฉัย ที่ผ่านมาสมัยการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ(สนช.)ก็มีกฎหมายหลายฉบับที่มีปัญหาเช่นนี้ อีกทั้งยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับอยู่ขั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ยังได้ข้อยุติ
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตั้งข้อสังเกตว่าภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนฯมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นการลงมติกรรมการ ปปท.ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ขอร่วมสังฆกรรมในการลงมติ เพราะเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่สภาให้ความเห็นชอบลงมติเลือกบุคคล โดยที่ไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ถูกสรรหาแต่ละคน เพราะตำแหน่งกรรมการ ปปท.ถือว่ามีความสำคัญ จะต้องมีคุณสมบัติที่ซื่อสัตย์ สุจริต ดังนั้น หากบุคคลที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแห่งนี้ต่อไป ประชาชนไม่ยอมรับบุคคลดังกล่าว สภาแห่งนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านนาย พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังประชุมว่าหลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลลงมติเห็นชอบการตั้งกรรมการ ปปท.ทั้ง 6 คน ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนขัดต่อกฎหมายและเลยระยะเวลาตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญกำหนดกว่า 60 วัน สิ่งสำคัญก่อนมีมติให้ความเห็นชอบ จะต้องมีการอภิปรายประวัติและคุณสมบัติความเหมาะสมของทั้ง 6 คนก่อน แต่รัฐบาลกลับรวบรัดการพิจารณาและให้มีการลงมติทัน ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตอีกมาก
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เตรียมกระบวนการยื่นถอดถอนนายสมพงษ์ พ้นจาก รมว.ยุติธรรม อย่างแน่นอน หากมีการรับวินิจฉัยถอดถอนก็จะส่งผลต่อการปฎิบัติหน้าที่ และอาจส่งผลให้ขาดคุณสมบัติทันที
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ร่วมลงมติอาจเกิดปัญหาตามมาในอนาคตโดยเฉพาะ ข้อโต้แย้งของที่มา บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการ ปปท.ที่ผิดกฎหายตั้งแต่ต้น เนื่องจากพ้นกำหนดเวลา 60 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนด
นอกจากนี้ ปปท.มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หากมีข้อโต้แย้งว่าการได้มาโดยมิชอบจะส่งผลต่อการปฎิบัติหน้าที่ในอนาคต หากมีผู้ร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ปปท.ก็จะทำให้การตรวจสอบภาครัฐล้มเหลว
กำลังโหลดความคิดเห็น