xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายขอร้องนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

8 พฤษภาคม 2551

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 4 ที่ผ่านมา กระผมได้เขียน “จดหมายเตือนนายกรัฐมนตรีฯ” ในตอนที่เขียนและตีพิมพ์นั้น ผมไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกผ่านสื่อสารโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตได้ จึงไม่สามารถระบุเอกสารอ้างอิงที่ท่านผู้อ่านบางท่านเห็นว่าจำเป็นเพื่อจะเชื่อถือว่าผมมิได้ยกเมฆ ผมขอกราบเรียนท่านผู้อ่านผ่าน ฯพณฯ ว่าข้อเขียนของกระผมมีความเจียมตัวและเคารพท่านผู้อ่านมากที่สุด เพราะฉะนั้น กระผมได้ขอร้องเสมอว่ากรุณาอย่าด่วนเชื่อกระผมได้โปรดนำเอาไปคิดและตรวจสอบเสียก่อน แล้วจึงสรุปด้วยตนเอง ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร

การตรวจสอบประเด็นที่กระผมนำเสนอ ส่วนใหญ่ก็กระทำได้โดยง่าย ตัวอย่างเช่น หากกระผมอ้างถึงพระราชอำนาจทั่วไปของพระมหากษัตริย์ ท่านผู้อ่านที่ใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถยืนยันและหาความรู้เพิ่มได้จากเว็บไซต์ข้อมูลทั่วไป เช่น www.google.com หรือ www.yahoo.com เป็นต้น แล้วก็พิมพ์ลงไปว่า “พระราชอำนาจทั่วไปของพระมหากษัตริย์” หรือจะถามเป็นภาษาอังกฤษก็ยิ่งดีว่า “general power or prerogative of the king” ก็จะเห็นหรือได้ข้อมูลเองว่าพระราชอำนาจของกษัตริย์ตามจารีตประชาธิปไตยของในหลวงของเราถูกลิดรอนหรือเบียดบังเอาไปจากผู้มีอำนาจทางการเมืองในเรื่องใดบ้าง

หรือในเรื่องที่ผมติงว่า “เป็นนายกรัฐมนตรีไม่สมควรเห่า” นั้นเป็นเรื่องจริง เปิดดูได้ด้วยคำถามทั้งตรงและอ้อม ตัวอย่างเช่นถาม www.google.com ว่า PM Earl Atlee had Bevan bark for him ก็จะพบคำพูดของท่านว่า “you’ve got a good dog you don’t bark yourself” แปลว่า “ก็เมื่อเรามีหมาดีเห่าแทนอยู่แล้ว ทำไมเราจะต้องเห่าเอง”

ผมไม่ได้ยกเมฆเลยครับ ท่านผู้อ่าน และท่านนายกฯ

ท่านผู้อ่านหลายท่านถามว่า กระผมไม่กลัวท่านนายกฯ จะด่ากราดกลับมาหรือ เขาจะคอยฟัง “พูดจาประสาสมัคร” วันอาทิตย์นี้ กระผมเองไม่มีความรู้สึกว่าจะกลัวหรือไม่กลัวดีทั้งสองอย่าง แต่กระผมมีความรู้สึกลึกๆว่าเราทั้งสองจะเป็นอริกันก็หาไม่ คนอื่นอาจจะไม่ทราบว่า ฯพณฯ กับผมเป็นศิษย์เก่านิติศาสตร์ มธ.เหมือนกัน ผมเข้าก่อนท่านนายกฯ หลายปีอยู่ แต่ก็จบทีหลังหลายปีเหมือนกัน เพราะมัวแต่ไปเรียนเมืองนอกอยู่ เราเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ 2516 รุ่นเดียวกัน อดีตนายกฯ บรรหารด้วย ก็เคยทำงานร่วมกันบ้าง เช่น กระผมเป็นหัวหน้าฝ่ายเสนอ ฯพณฯ เป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน พ.ร.บ.กระจายอำนาจกระทรวงสาธารณสุข หวังว่า ฯพณฯ คงจำได้

กระผมจึงพูดจาให้ผู้คนฟังเสมอว่า ฯพณฯ เป็นผู้นำการเมืองที่มีชั่วโมงบินสูงสุดคนหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ มีความฉลาดเฉลียว และเป็นคนปากตรงกับใจเหมือนกระผม ต่างกันแต่ว่าเราจะเลือกพูดเรื่องอะไร เมื่อใดเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน ถ้าสังคมไทยฉลาดและโชคดี ก็น่าที่สังคมไทยจะได้ประโยชน์จาก ฯพณฯ ไม่สมควรตัดสินกันอย่างฉาบฉวย ด้วยการโห่ไล่เข้าป่าไปด้วยเรื่องคลุมเครือ

พวกที่เชียร์พันธมิตรฯ ก็อาจจะไม่ชอบกระผมด้วยเหตุนี้ แต่กระผมมิใช่พวกนกสองหัว ในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดของอำนาจเก่าผมร่วมยืนกรานว่าไม่เอา ต้องฟันฟาดกันให้แตกหัก เรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ต้องยืนหยัดต่อสู้สร้างให้สำเร็จ ไม่ยอมประนีประนอมกับใครทั้งสิ้น

เรื่องนี้แหละที่กระผมจำจะต้องพูดกับท่านนายกฯ ให้แตกหัก มีผู้อ่านที่อ้างตัวว่าเป็นพันธมิตรพันธุ์แท้ขอให้กระผมงดเว้นการเขียนถึงในหลวง ผมกระทำไม่ได้ เพราะกระผมรู้ (มิใช่เพียงแต่รู้สึก) ว่ามีกลุ่มการเมืองที่จ้องทำลายสถาบันกษัตริย์อยู่ ด้วยการปลุกระดม เผยแพร่ข่าวลือ พิมพ์หนังสือ ทำวิจัย เว็บไซต์ และเคลื่อนไหวโจมตีพระองค์ท่านทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยความเท็จที่ไม่เป็นธรรม และในระยะหลังๆ นี้ก็มีการนำพระองค์ท่านไปเปรียบเทียบกับทักษิณว่า พระองค์ทรงสนับสนุนเผด็จการ ในขณะที่ทักษิณเป็นแชมเปี้ยนประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากหนังสือพิมพ์ Newsweek ฉบับเดือนมกราคมและเดือนเมษายนนี้ ฉบับหลังตีพิมพ์ภาพทักษิณลงหน้าปกร่วมกับผู้นำก้าวหน้าของเอเชียอีก 3 คน คือประธานาธิบดีใหม่ของไต้หวันกับเกาหลี และหัวหน้าฝ่ายค้านของมาเลเซีย นอกจากนั้นยังมีบทความของเลขาธิการ National Endowment for Democracy ซึ่งเป็นองค์กรอเมริกันรับงบประมาณจากสภาคองเกรสเขียนเปรียบเทียบในหลวงกับทักษิณในทำนองเดียวกัน

ในขณะที่ในหลวงไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับรู้ โต้ตอบหรือป้องกันพระองค์เองได้ กระผมรู้สึกว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลทักษิณมา คือรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และรัฐบาลของ ฯพณฯ เองล้มเหลวในการที่จะป้องกันโต้ตอบ หรือแก้ต่างให้กับองค์พระประมุขเลย ซ้ำกระทำการแบบเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กระผมเห็นว่าเราจำเป็นต้องมีองค์กรของรัฐแบบเดียวกับกองทัพ ที่จะต้องกระทำหน้าที่ปกป้ององค์พระประมุขให้พ้นจากการให้ร้ายป้ายสี

กระผมมีเรื่องจะขอร้อง ฯพณฯ อยู่ 4-5 เรื่องด้วยกัน แต่วันนี้ นอกจากเรื่องข้างต้นเพียง เรื่องเดียวก่อน

สำหรับเรื่องข้างต้น กระผมอยากจะพูดถึงบทความเรื่อง “รู้ทันราชวงศ์จักรี” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก กระทรวงไอซีทีได้พยายามลบเว็บไซต์นี้อยู่ แต่ปรากฏว่ายังผลุบๆ โผล่ๆ เล็ดลอดออกมาได้ ในเว็บใดเว็บหนึ่งจากจำนวน 700-800 เว็บไซต์ มีฟ้าเดียวกัน ประชาไท เป็นต้น จนกระทั่งบ่ายวันพฤหัสบดีที่กระผมกำลังเขียนถึง ฯพณฯ ก็ยังเจอบทความดังกล่าวอยู่เต็มตา

กระผมอยากจะพูดว่า ถ้าหาก ฯพณฯ ไม่สนใจจัดการให้เด็ดขาด รัฐมนตรีมหาดไทย อัยการ ตำรวจแห่งชาติ ยังไม่จัดการให้เด็ดขาด ต้องถือว่าทุกท่านละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ และอาจจะหนักถึงสมคบกันกับผู้หมิ่นบรมเดชานุภาพ และทำลายการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทีเดียว

เรื่องที่ผมอยากจะขอร้อง ฯพณฯ นั้นเป็นเรื่องเดิมที่กระผมนำมาย้ำ นั่นก็คือ กระผมยังไม่ให้ ฯพณฯ ยกธงขาวยุบสภา หรือยอมให้เขาไล่ออกไปง่ายๆ จนกว่า ฯพณฯ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่สามารถนำองค์ประกอบอันหนึ่งของระบบ “ราชประชาสมาสัย” มาใช้ เป็นการเริ่มต้นจารีตประจำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้สำเร็จเสียก่อน

ราชประชาสมาสัยคือคำศัพท์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน แปลว่า ระบบที่ประชาชนและพระเจ้าอยู่หัวพึ่งซึ่งกันและกัน เมื่อนำมาประยุกต์กับระบบการเมืองแล้ว ก็คือ การปกครองที่ประชาชนและพระมหากษัตริย์ต่างก็มีส่วนร่วมตามความรับผิดชอบ และหน้าที่ของประชาชนและสถาบันนั่นเอง

การมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นถูกลิดรอนจำกัดไปโดยระบบการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 มาจนกระทั่งถึงวันนี้

นั่นก็คือการที่นายกรัฐมนตรีไม่เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานราชการแผ่นดินเป็นประจำนั่นเอง

สำหรับคุณประโยชน์ของเรื่องนี้ กระผมเชื่อว่าท่านนายกฯ ซาบซึ้งดีอยู่แล้ว

กระผมอยากอัญเชิญพระราชกระแสมาให้ ฯพณฯ น้อมใส่เกล้าดังต่อไปนี้

“ก็มีประเพณีเป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศแล้วมิใช่หรือว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นน่ะสัมพันธ์กับรัฐบาลตามที่ได้ย่อไว้อย่างสั้นเป็นภาษาอังกฤษว่า “to advise and be advised” หมายความว่ารัฐบาลน่ะมีหน้าที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายรายงานเป็นประจำถึงสถานะโดยทั่วๆ ไปและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ในอังกฤษ นายกฯ ของเขาจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระราชินีของเขาทุกวันศุกร์ เพื่อถวายรายงาน และไม่ว่าพระราชินีจะเสด็จไปไหน ในประเทศอังกฤษเองหรือต่างประเทศ ก็จะต้องมีที่เรียกว่า กระเป๋าดำตามไปตลอดเวลา ซึ่งรายงานสถานการณ์บ้านเมืองและรายงานข้อสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระราชทานคำปรึกษา หรือถ้าทรงเห็นว่าพระองค์ควรจะพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติและทุกข์สุขของราษฎรไม่ว่าในเรื่องใด พระมหากษัตริย์ก็จำเป็นต้องพระราชทานคำปรึกษานั้นให้กับรัฐบาล”
กำลังโหลดความคิดเห็น