xs
xsm
sm
md
lg

น่าเสียดาย...เว็บประชาไท

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมเคยติดตามเว็บประชาไทในยุคที่ “เปี๊ยก” สมเกียรติ จันทสีมา เป็นผู้จัดทำด้วยความคาดหวังว่า เว็บแห่งนี้จะเป็นสื่อทางเลือกที่เราจะได้เสพความคิดและข่าวสารอีกด้านหนึ่งที่เน้นในเรื่องของข่าวภาคประชาสังคม ข่าวชาวบ้าน

ที่สำคัญผมศรัทธาแนวทางของอาจารย์จอน อึ๊งอากรณ์ ผู้ริเริ่มและก่อตั้งเว็บนี้

แต่บอกตรงๆ ครับว่า ระยะหลังที่เปลี่ยน บรรณาธิการ ผมสัมผัสได้ว่า บทบาทของเว็บประชาไทเปลี่ยนแปลงไป และมีบรรยากาศบางอย่างเข้ามาครอบงำเว็บไซต์แห่งนี้

ถ้าถามผมว่า คนที่ครอบงำเว็บแห่งนี้คือใคร คำตอบคือ คนรักทักษิณ (เราจะไม่พูดกันในที่นี้ว่าคนรักทักษิณถูกหรือผิด) ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดคือ เมื่อเว็บประชาไทคัดลอกบทความแปลของนายปลื้ม ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล กับรสนา โตสิตระกูล มาตีพิมพ์ คนที่เข้ามาแสดงความเห็นท้ายบทความนี้ ส่วนใหญ่ตำหนิคุณรสนาและให้การสนับสนุนนายปลื้ม

ทั้งๆ ที่ความคิดของคุณรสนา น่าจะสอดคล้องกับการก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท

ต่างกับเว็บผู้จัดการออนไลน์ (เว็บคนไม่รักทักษิณ) ที่แปลบทความทั้งสองชิ้นมาลงตีพิมพ์เช่นเดียวกัน ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ในนั้นประณามนายปลื้มแต่สนับสนุนรสนา

แม้เหมือนว่า จะไม่ใช่ความผิดอะไรของเจ้าของเว็บ หรือคนทำเว็บซึ่งคงจะต้องอ้างว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีของคนอ่าน แต่จากตัวอย่างที่ยกมานี้น่าจะทำให้ตระหนักได้ว่า ในเว็บประชาไทนั้นถูกครอบงำไปด้วยบรรยากาศแบบใด

แน่นอนเว็บแห่งนี้ภายใต้การนำของบรรณาธิการท่านนี้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ดูเหมือนว่าเว็บแห่งนี้ได้ร่วมอยู่ในเกมเลือกข้างไปแล้ว (ด้านตรงกันข้ามกับเว็บผู้จัดการที่เลือกข้างไปแล้วเช่นกัน) แม้ว่า กรรมการและผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่จะสนับสนุนแนวทางของพันธมิตรฯ และเกือบทั้งหมดไม่สนับสนุนระบอบทักษิณ

บนพื้นที่เว็บแห่งนี้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของการก่อตั้ง ว่า “ประชาไท” คือหนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บ ที่คณะผู้ก่อตั้งมีแนวคิดที่จะจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนและชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสรับรู้และรู้ทันสถานการณ์ของสังคมไทยในด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางด้านการพัฒนาสุขภาวะ วิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาครอบครัวและชุมชน ตลอดจนการขยายโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศตามเจตนาของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย เช่น

“ประชาไท” จะพยายามเสนอข่าวและข้อมูลตามความจริงที่พบ โดยไม่ยอมให้ใครมาแทรกแซง และจะเน้นข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสในสังคม และที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม และที่สิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนได้รับการเคารพโดยทั่วถึง

“ผมสนใจเรื่องการทำสื่อหนังสือพิมพ์บนอินเทอร์เน็ต คิดๆ กับมันอยู่แล้ว จนกระทั่งประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เดินทางไปประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์แล้วเห็นการทำสื่ออิสระที่มินดาเนา ที่ชื่อมินดานิวส์ http://www.mindanews.com จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอย่างจริงจัง”

จอน อึ๊งภากรณ์ บอกเล่าที่มาของแนวคิดนี้ไว้ในเว็บไซต์ และระบุว่า ต้องใช้เวลาประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาแนวทางที่ชัดเจน, หาบรรณาธิการและทีมงาน รวมทั้งจัดหาทุนในการดำเนินการ

ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่อาจารย์จอนตระหนักอย่างมากนอกจากทุนดำเนินการ และ แนวทางที่ชัดเจนซึ่งอาจารย์มีอยู่แล้วก็คือ บรรณาธิการ ซึ่งต้องนับว่า โชคดีที่ได้เปี๊ยก-สมเกียรติเข้ามาในตอนแรก

เชื่อไหมครับว่า มีเงินสนับสนุนแนวทางของอาจารย์เข้ามาถึงเกือบ 7 ล้านบาท 70 % มาจากองค์กรภาครัฐหรือจากเงินภาษีของประชาชน อีกราว 30 % มาจากองค์กรต่างประเทศ

กองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ทุนสนับสนุนในการดำเนินการจัดตั้งเว็บไซต์ซึ่งจะเป็นการให้ครั้งเดียวไม่มีการให้ต่อเนื่อง โดยสนับสนุนเป็นจำนวน 2,979,000 บาท และจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นจำนวน 1,896,000 บาท และการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์อีก 200,000 บาทสำหรับค่าวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และได้รับทุนสนับสนุนในการดำเนินงานจาก Open Society Institue (OSI) สำหรับการดำเนินงานในโครงการฯ ระหว่าง 1 ตุลาคม 2548 -30 กันยายน 2549 เป็นจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,000,000 บาท

เงินจาก 2 องค์กรเกือบ 5 ล้านบาท ต้องนับเป็นการสนับสนุนเงินภาษีอากรของประชาชนจากหน่วยงานของรัฐก้อนโตก้อนหนึ่ง ทั้งนี้คงเป็นเพราะความตั้งอกตั้งใจและเชื่อมั่นในตัวอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์เป็นสำคัญ

สัปดาห์นี้ ผมเข้ามาอ่านเว็บประชาไทอีกครั้ง เมื่อมีคนบอกว่า เว็บไซต์แห่งนี้กล้าหาญมากที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาให้กำลังใจและสนับสนุนการกระทำของ “โชติศักดิ์ อ่อนสูง” ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากไม่ยอมยืนเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ เพลงสรรเสริญ

และแน่นอนว่า ข่าวดังกล่าวคนทำงานสื่อต้องถือว่า เป็นข่าวใหญ่ เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีใครท้าทายโครงสร้างของชาติไทยเช่นนี้มาก่อน

และเป็นหน้าที่ของสื่อในการสื่อสารความเปลี่ยนแปลงในโลกให้ประชาชนได้รับรู้ ข่าวดังกล่าวสื่อในเครือผู้จัดการก็นำมาเสนอ และ “คำนูณ สิทธิสมาน” ก็หยิบข่าวนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองของเขา แน่นอนว่า ไม่ตรงกับทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาครอบงำเว็บแห่งนี้อยู่ เช่นเดียวกับที่ไม่ตรงกับทัศนคติของท่านบรรณาธิการ

แต่เราก็ควรจะเคารพความคิดเห็นของกันและกัน เหมือนที่ท่านบรรณาธิการ “ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข” เขียนรำพึงรำพันไว้ในคอลัมน์ของตัวเองว่า “ขอที่เล็กๆ ให้เราได้ยืนและฝันบ้าง” ไม่ใช่หรือ

ท่านบรรณาธิการเรียกร้องหาที่ยืนในแบบที่ตัวเองต้องการ แต่กลับเรียกการแสดงความเห็นที่แตกต่างของสื่ออื่นว่า การคุกคาม เหมือนที่ท่านบรรณาธิการเขียนว่า ‘เว็บไซต์ประชาไท’ และ ‘ฟ้าเดียวกัน’ ตกเป็นข่าวพาดพิงในหนังสือพิมพ์ดาวสยามยุคใหม่ ในฐานะที่เสนอข่าวกรณี โชติศักดิ์ อ่อนสูง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง

ผมไม่รู้ว่าท่านหมายถึงใคร แต่ถ้าท่านบรรณาธิการเรียกร้อง “ที่ยืน” ของตัวเอง ก็ควรเคารพต่อ “ที่ยืน” และมุมมองความเห็นต่างของสื่ออื่น ต่อการรายงานปรากฏการณ์ข่าวของโชติศักดิ์และข่าวนักธุรกิจชาวขอนแก่นไปแจ้งความดำเนินคดีโชติศักดิ์ เว็บไซต์ประชาไทและเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันที่ปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความโจมตีสถาบัน

ท่านบรรณาธิการจะมีความคิดเห็นอย่างไร จะเป็นพวกไม่เอาทั้ง 2 อย่าง หรือเอาทั้ง 2 อย่างก็ช่างเถอะ แต่ท่านต้องเคารพต่อจุดประสงค์ขององค์กร ของผู้ก่อตั้งองค์กรที่ท่านยืนอยู่ในฐานะที่เราประชาชนทุกคนเป็นผู้ให้การสนับสนุน และต้องเคารพต่อจุดยืนของคนอื่นด้วย

และผมต้องขออภัยที่จะบอกท่านบรรณาธิการว่า ถ้าท่านตีความว่า การรณรงค์อย่างแข็งขันคือ การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมก็คิดว่า วิจารณญาณของท่านบรรณาธิการมีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น