xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิวัติ…ยังคงเป็นตัวช่วยสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

8 พฤษภาคม 2551

เห็นข่าวหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 คน ไปประชุมกันที่ร้านอาหารอิตาเลียนแล้วทำให้นึกถึงเรื่อง God Father ที่บรรดาเจ้าพ่อมาเฟียทั้งหลายที่เป็นหัวโจกใหญ่สุด 5-6 คน มักจะประชุมกันเพื่อตกลงกันเรื่องผลประโยชน์และอำนาจ

ก็คงจะตกลงกันได้สมอารมณ์หมายไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้ออกมาแถลงข่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว ว่าไปโน่น!

ก็ไม่รู้ว่าประเทศไทยของเรานี้จะมีใครสักกี่คนที่ยังหลงเชื่อหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 คนนี้? เพราะที่ผ่านมานั้นพูดจาอะไรไว้แล้วเชื่อถืออะไรกันได้บ้าง?

คอลัมน์นี้ไม่มีวันเชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคนี้เป็นอันขาด

เหตุที่ไม่เชื่อก็เพราะว่ามีคติในทางศาสนาอยู่ว่าคนทุศีลที่เคยโกหกประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่านั้นย่อมโกหกประชาชนได้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด


เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ไม่ต้องดูกันอื่นไกล แค่ไม่ถึง 12 ชั่วโมงหลังจากแถลงข่าวการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลก็มีข่าวกลุ่มมวลชนในเครือข่ายของรัฐบาลบุกสภา เพื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยอ้างว่ามีประชาชนเข้าชื่อกัน 150,000 คน

แต่พอไม่ทันไร โฉมหน้าข่าวก็เปลี่ยนไปเป็นว่าเป็นแค่ยื่นร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขให้กับ ส.ส. และ ส.ว. ในเครือข่ายของรัฐบาลเท่านั้น

แปลว่ายังชักเย่อกันไม่จบ และยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่

ดังนั้นในวันนี้จึงยังไม่รู้ว่าที่แถลงว่าเป็นเรื่องของสภานั้น พรรครัฐบาลจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง หรือว่าจะอาศัยมือมวลชนของรัฐบาลเป็นผู้ยื่นกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ เวลากำลังเนิ่นช้าออกไปโดยลำดับ

ส่อเค้าให้เห็นอย่างเลือนลางว่าคนที่บุญหล่นทับเสวยสุขอยู่ในขณะนี้อาจคบคิดกันเพื่อปล่อยเกาะคนบางคนให้เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางเอาเองตามลำพังเสียแล้ว

การอาศัยมือมวลชนของรัฐบาลบังหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญหากเกิดขึ้นก็เป็นเพียงเล่ห์กลอุบายทางการเมืองเพื่อไม่ให้ ส.ส. ของรัฐบาลถูกถอดถอนเพราะกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเท่านั้น

เพราะกรณีเช่นนี้ใคร ๆ ก็รู้เท่าทันว่าในการล่ารายชื่อคนเป็นแสนคนนั้นย่อมแยกไม่ออกจากการขับเคลื่อนบงการของ ส.ส. กลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องบอกก็ต้องรู้ว่าเป็นพวกรัฐบาลนั่นแหละ

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยิ่งเพิ่มความเคียดแค้นชิงชังให้กับประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยว่าคนพวกนี้คิดย่ำยีฉีกรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่พอ ยังคิดหลอกต้มประชาชนหรือดูถูกประชาชนซ้ำอีกเล่า!

และเท่าที่ปรากฏจากการแถลงข่าวของมวลชนกลุ่มนี้ก็ปรากฏว่าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันนั้น เนื้อหาทั้งหมดก็เหมือนกับที่คณะทำงานพรรคพลังประชาชนเคยพูดไว้คือเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับประโยชน์ของพรรคใหญ่มาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยคงเหลือไว้เฉพาะบททั่วไปกับบทที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้น

เป้าหมายหลักเหมือนกันทุกประการ คือการตัดตอนไม่ให้คดีทุจริตเลือกตั้งและไม่ให้คดีทุจริตที่ คตส. สอบสวนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยังแถมด้วยการทำลายล้างองค์กรอิสระเพื่อจะได้เข้าแทรกแซงอย่างที่เคยประพฤติปฏิบัติอีกด้วย

แต่ก็ต้องพูดไว้ในที่นี้ว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตัวได้บังเกิดมรรคผลเบื้องต้นแล้ว คืออาจทำให้ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลไม่กล้าเข้าชื่อเสนอญัตติ แล้วต้องหันไปใช้เล่ห์กลให้ประชาชนเป็นเกราะบังหน้าแทน

และถ้าทำเช่นนั้นจริง ๆ ก็คงมีการกระชากหน้ากากให้เห็นเบื้องหลังกันต่อไปว่าใครบงการอยู่ข้างหลังเรื่องนี้?

แต่การเลือกวิธีการเช่นนี้ออกจะเสี่ยงอยู่เป็นอันมาก และคงยากที่จะทันต่อสถานการณ์ที่บีบรัดเจ้าของพรรคพลังประชาชน

เพราะกำหนดแล้วเสร็จคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองที่จะมีการสืบพยานนัดสุดท้ายในเดือนกันยายน ศกนี้ เป็นตัวบังคับ เพราะอาจมีการตัดสินคดีในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่ไม่มีคนอยากจะเสี่ยง

ดังนั้นถ้ามองกันในเชิงหมากรุก ระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นตัวกำหนดเกมให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแล้วเสร็จโดยเร็วก่อนที่จะมีการตัดสินคดี มิฉะนั้นก็ต้องเลือกทางเลือกอื่น คือต้องพึ่งตัวช่วยสุดท้ายได้แก่การยึดอำนาจหรือปฏิวัติตัวเอง

ทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ทันต่อสถานการณ์เล่า? ก็เพราะว่า

ประการแรก
การเสนอแก้ไขโดยทางประชาชนเข้าชื่อนั้นต้องมีการตรวจสอบรายชื่อก่อน เมื่อครบถ้วนถูกต้องแล้วจึงจะบรรจุวาระการประชุมและเรียกประชุมรัฐสภาได้ ซึ่งการใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าชื่อถึง 150,000 คน นั้นอาจจะใช้เวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้

ความล่าช้าแบบนี้ย่อมไม่ทันต่อสถานการณ์ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองอาจตัดสินคดีไปก่อน และทำให้บางคนต้องเสี่ยงตะรางมากเกินไป

ประการที่สอง เมื่อเป็นการเสนอโดยประชาชนก็ต้องเสนอตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายของประชาชน

แต่ปรากฏว่าหลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้บังคับ ยังไม่มีกฎหมายที่ว่านี้ ที่มีอยู่เป็นกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งไม่สอดคล้องกัน เพราะว่าในหมวดที่สองของกฎหมายดังกล่าวนั้น ประชาชนจะเสนอได้ก็เฉพาะร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 เลย

เมื่อไม่มีกฎหมายก็เสนอโดยประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นประธานวุฒิสภาทำหน้าที่อยู่ว่าจะรับเป็นญัตติหรือไม่รับเป็นญัตติ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 (1) วรรคสอง

ประการที่สาม
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำตามใจชอบไม่ได้ เพราะมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 คือทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น จะยกเลิกเสียเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งฉบับไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนเล็กน้อยโดยที่ไม่เปลี่ยนเนื้อหาใหญ่หรือเนื้อหาหลักที่ประชาชนได้ลงประชามติไว้

การเสนอแก้ไขเท่าที่ปรากฏในข่าวนั้นโดยผลก็คือฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 เกือบหมดทั้งฉบับ เหลือไว้เฉพาะบททั่วไปและบทว่าด้วยพระมหากษัตริย์เท่านั้น

นี่ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว แต่เป็นการฉีกหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ประชาชนได้ลงประชามติไว้ จึงอาจไม่เข้าเงื่อนไขที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาที่จะวินิจฉัยหรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติแบบนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก็ต้องใช้เวลานานโข ไม่ทันต่อสถานการณ์อีก

ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญ 2540 นั้นถูกฉีกไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2544 คืออำนาจอธิปไตยทั้งสามถูกแย่งยึดมาอยู่ที่คนเพียงคนเดียว และอำนาจบริหารมีฐานะครอบงำรัฐสภาและอำนาจตุลาการจนเสียดุลไปหมด แม้องค์กรอิสระก็เดี้ยงไปหมด ทั้งกระบวนการยุติธรรมก็พินาศไปเกือบหมด

เคยมีคนพูดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ตายแล้วก็มี หรือเคยพูดว่ามีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับแล้ว เหลืออยู่แต่บททั่วไปเท่านั้นก็มี ดังนั้นการเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้จึงเป็นการฟื้นระบอบเผด็จการทรราชเดิมนั่นเอง

แล้วมันจะไหวหรือ? แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่ทันกาลแน่ เพราะต้องไม่ลืมว่าอำนาจอธิปไตยทั้งหลายนั้นเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยที่ว่านี้

รัฐบาล รัฐสภา และศาลเป็นแค่ตัวผ่านการใช้อำนาจเท่านั้น รัฐบาลอย่าได้เหิมเกริมว่าเป็นอำนาจของตนเองแล้วคิดอ่านจะใช้คนแค่ 300 คนย่ำยีบ้านเมืองอย่างไรก็ได้เป็นอันขาด

ดังนั้นหนทางการยืมมือมวลชนของรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงยังมีอุปสรรคขวากหนามและเสี่ยงต่อการไม่ทันต่อสถานการณ์ที่ศาลฎีกาจะตัดสินคดี

พอ ๆ กับการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจะเข้าชื่อแก้ไขเหมือนกัน เพราะในพลันที่เข้าชื่อกันยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระบวนการถอดถอนก็จะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป ในขณะที่อุปสรรคขวากหนามก็ยังเผชิญอยู่ข้างหน้าเต็มไปหมด

และไม่ว่าจะใช้เล่ห์กลยืมมือมวลชนของรัฐบาลก็ดี หรือใช้ ส.ส. ของรัฐบาลในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดี ย่อมไม่สามารถหลอกลวงตบตาประชาชนข้างมากของประเทศได้

ไม่เห็นหรือว่านับวันความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชนที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่พยายามผลักดันกันอยู่นี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่เพื่อประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คนในทางส่วนตัวเท่านั้น

เขารู้กันทั้งนั้นแหละลุงว่าความบ้าคลั่งที่ถึงขนาดไม่แยแสไยไพแก้ไขความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎรที่ตกอยู่ในวิกฤตข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง เอาแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวนั้นก็เพื่อตัดตอนการโกงเลือกตั้งและการทุจริตไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

กระแสการต่อต้านจึงขยายตัวลุกลามออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญวันไหน ประชาชนที่เขาลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2550 กว่า 14 ล้านคน ก็ไม่ยอม

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนของรัฐบาลกับมวลชนที่รักชาติรักประชาธิปไตย และมุ่งพิทักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในวันนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้าเข้าเกียร์ห้าอย่างเต็มที่ แต่ว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ให้มันแตกหักกันไปสักทางหนึ่งดีกว่าที่จะอึดอัดขัดใจกันอยู่อย่างนี้

คือแตกหักกันไปในทางที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเอาไว้ได้ หรือเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสาธารณรัฐในที่สุดตามที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้พูดไว้หรือไม่

แล้วใครเขาจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ และใครจะยอมปล่อยให้คนไทยต้องนองเลือดกันถึงขนาดนี้เล่า เรื่องที่ใครไม่อยากให้เกิดขึ้นก็อาจเกิดขึ้น

เมื่อฝ่ายหนึ่งยากที่จะหาทางเลือกอย่างอื่นที่ทันต่อสถานการณ์และเวลา ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเอาไว้ ในขณะที่รัฐบาลหุ่นก็เดินหน้าเข้าเกียร์ห้าเร่งสถานการณ์อย่างไม่หยุดยั้ง

เมื่อต่างฝ่ายต่างก็หาและพึ่งพาตัวช่วยแบบนี้ สถานการณ์ก็คงหนีเส้นทางปฏิวัติไม่พ้น!

การปฏิวัติจึงยังคงเป็นตัวช่วยตัวสุดท้ายของสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการปฏิวัติแบบไหน คือ

แบบที่ดำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นระบอบอื่น

การปฏิวัติบางทีก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เช่นเดียวกับเสียงข้างมากในสภาก็หาใช่ว่าจะดีงามเสมอไปไม่ มิฉะนั้นแล้วสารพัดชั่วจะครองเมืองได้หรือ!
กำลังโหลดความคิดเห็น