xs
xsm
sm
md
lg

ด้อยพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

เฝ้ามองการเมืองหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล การจัดตัวคนเป็นรัฐมนตรี ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า พัฒนาการของระบบการเมืองบ้านเราจะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะ “พรรคการเมือง” ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของระบบการเมืองในขณะนี้ จะผันผ่านไปอย่างไร?

โดยหลักการแล้ว พรรคการเมือง จะต้องเป็นสถาบันการเมืองที่มีความถาวร ไม่ใช่เฉพาะกิจเฉพาะกาล มีระบบการทำงานและการตัดสินใจของพรรคที่ชัดเจน มีอุดมการณ์ จุดยืน และแนวทางของตนเอง

พรรคการเมืองที่แท้จริง จึงมีระบบที่ทำให้สาธารณชนสามารถรับรู้ได้ทันทีว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะเป็นรัฐมนตรีในด้านใด และพรรคมีทิศทางของนโยบายต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร

เมื่อพรรคการเมืองใดได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล สังคมก็จะรู้ทันทีว่า พรรคการเมืองนั้นๆ มีความสนใจ หรือมีความถนัด หรือแม้แต่ให้ความสำคัญกับงานด้านใดมากเป็นพิเศษ และทำให้ทราบชัดเจนด้วยว่า ใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ เหล่านั้น

การเมืองของแต่ละประเทศ จะมีการให้น้ำหนักกับงานด้านต่างๆ แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกา จะให้ความสำคัญกับงานด้านการต่างประเทศ การทหารและความมั่นคง เศรษฐกิจการเงิน ในขณะที่ประเทศอังกฤษ หรือในแถบยุโรป มักให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอื่น

แต่ละพรรคการเมืองในประเทศนั้นๆ ก็จะมีการวางตัวบุคคลเป็นบุคลากรที่ชัดเจนของพรรคตน ว่าจะส่งใครเข้าไปรับผิดชอบดูแลงานด้านสำคัญดังกล่าว โดยมอบหมายในรายละเอียดด้วยซ้ำว่า ใครจะเป็นผู้ช่วย ใครจะเป็นทีมงาน หรือแม้แต่ใครจะเป็นรองนายกฯ โดยลำดับอำนาจหน้าที่ด้วยซ้ำว่า หากนายกฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ รองนายกฯ คนไหนจะเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนนายกฯ ตามลำดับ

นี่คือความหมายที่แท้จริงของการเมืองที่มีเสถียรภาพ


เพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเมืองที่ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย แต่ตรงกันข้าม เป็นการเมืองที่มีความชัดเจน แน่นอน ว่าหากเกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว ระบบจะทำงานต่อไปอย่างไร ใครจะทำอะไร ใครจะรับผิดชอบอะไร โดยทุกฝ่ายในสังคมมีความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานข้อเท็จจริงเดียวกัน

แต่ดูการเมืองของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลบ้านเราแล้ว เห็นจะไม่ใช่อย่างนั้นแน่ๆ
1. มองดูการจัดตัวคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชนแล้ว สะท้อนว่าไม่ได้มีระบบในการวางตัวคนที่ชัดเจนเลยแม้แต่น้อย

และน่าเชื่อว่า ไม่ได้สะท้อนความคิดเรื่องการให้น้ำหนักกับงาน หรือให้น้ำหนักกับคุณสมบัติของคนที่สอดคล้องกับงานสำคัญ

งานที่การเมืองบ้านเราให้ความสำคัญ เช่น งานเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีความชัดเจนเลยแม้แต่น้อย ว่าจะมีใครเข้ามาดูแล ถึงขนาดไปมีข่าวกับคนที่มีภาพลักษณ์ว่ามีฝีมือทางเศรษฐกิจที่อยู่นอกพรรค เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นต้น สะท้อนว่า เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความชัดเจน

ทำอย่างกับว่า เป็นสามล้อถูกหวย อยู่ดีๆ บุญหล่นทับ ได้เงินทุนมาเปิดร้านค้า แต่ไม่มีปัญญาบริหารเอง และไม่ได้มีระบบเตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็เลยต้องรีบไปควานหาคนมาทำงานแทนอย่างขลุกขลัก หาใครไม่ได้ก็เอาพรรคพวกสามล้อด้วยกันนั่นแหละเข้ามารับงาน

กรณีคล้ายๆ กัน เมื่อได้ตั้งรัฐบาล มีอำนาจรัฐ แต่ไม่มีปัญญาหรือไม่มีความพร้อมในการทำงานเพียงพอ ต้องขลุกขลักไปหาคนมาทำงาน สุกเอาเผากิน ตามมีตามเกิด

เอาคนใกล้ชิดไว้ก่อน ใกล้ตัวไว้ก่อน

เรื่องเหมาะกับงานแค่ไหน เอาไว้ทีหลัง


ไม่ใช่ตำแหน่งเดียว ตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาลชุดนี้ก็คล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการต่างประเทศ งานด้านการทหารและความมั่นคง งานด้านการศึกษา การพลังงาน การคมนาคม ฯลฯ

ดูให้ดีจะเข้าใจว่า เป็นตัวคนที่เหมาะกับงานจริงๆ ผ่านระบบการคัดสรรของพรรคการเมือง มีความโปร่งใส มีความชัดเจนแน่นอน และมีการวางตัวตายตัวแทนของพรรคเอาไว้อย่างเป็นระบบ หรือเป็นแต่เพียงการ “ค่าตอบแทนในน้ำใจและความภักดี”

เมื่อไม่มีระบบการคัดคนที่ดีพอ ทำให้ได้คนที่ไม่ผ่านระบบ จึงยากที่สังคมจะยอมรับ ศรัทธา เชื่อถือ เชื่อใจ การจะอาศัยว่า “ได้คนมาแล้ว ค่อยนำมาสร้างภาพ” สร้างความน่าเชื่อถือในภายหลัง ก็อาจจะดูถูกสติปัญญาของคนไทยไปหน่อย เพราะเรื่องแบบนี้ ต่อให้แต่งคำพูด คำให้สัมภาษณ์สวยหรูแค่ไหน หรือพูดเก่ง พูดดูดีแค่ไหน ประชาชนก็ลังเลที่จะเชื่อถือ


ยกตัวอย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิม อยู่บำรง ถึงขนาดว่า ต้องลงทุนออกมาขอโทษประชาชนสำหรับภาพลักษณ์ของตนและลูกๆ พร้อมกับเร่งประกาศนโยบายเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ

“1.การแก้ปัญหายาเสพติด จะต้องเข้มข้นต่อเนื่องเด็ดขาดภายใต้กรอบของกฎหมาย จะเน้นการปราบปรามยาเสพติดให้สังคมไทยเห็นว่ายาเสพติดจะต้องลดน้อยลงภายใน 90 วัน 2. ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดกับอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม 3.ต้องน้อมนำพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง แก้ปัญหาความยากจน”

แต่ถึงกระนั้น ในเมื่อตัวคนพูดคือ “เฉลิม อยู่บำรุง” กรรมเก่า หรือสิ่งที่ได้กระทำสั่งสมมาตลอด แทนที่จะทำให้ประชาชนเชื่อหรือคล้อยตามไปกับคุณเฉลิม ความเป็นเฉลิมที่ฝังอยู่ในความคิดของประชาชน ก็เตือนให้ประชาชนตั้งคำถามว่า คนคนนี้ คนที่กำลังพูดอย่างนี้ ที่ผ่านมา เป็นคนที่ปฏิบัติตนตรงไปตรงมาตามครรลองกฎหมาย แสดงออกเยี่ยงคนที่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ไม่เคยทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย ไม่เคยข่มขู่ ตบทรัพย์ และไม่เคยปล่อยให้ลูกนำตนไปอวดอ้างอิทธิพลเหนือกฎหมาย “เอ็งรู้ไหม ข้าลูกใคร?” หรือไม่ ?

พูดง่ายๆ ว่า กรรมเก่า จะทำให้คนตั้งคำถามต่อๆ กันไปว่า “เอ็งรู้ไหม เฉลิมน่ะ พ่อใคร ?”

หรือแม้แต่การใช้คำพูดที่ดูดีในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ออกมาจากปาก แต่แทนที่คนจะเชื่อ เขากลับจะตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมา ตัวคนพูด ครอบครัวของคนพูด ได้เคยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตบ้างไหม สามารถทำบ้าน ทำลูกๆ ของตนให้สำนึกในแก่นแท้ของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วหรือไม่

ทั้งหมด คือ ตัวอย่างของความล้มเหลวจากการไม่มีระบบที่ชัดเจนของพรรคการเมือง ทำให้ “ตั้งคนไปก่อน แล้วค่อยไปสร้างภาพเอาภายหลัง” ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลเสมอไป

2. พรรคการเมืองในต่างประเทศ หรือพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันอย่างแท้จริง จะมีจุดยืนที่ชัดเจนของตนเอง มีหลักในการตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองแบบไหนได้ หรือไม่ได้

อย่างน้อยที่สุด จะมีระบบที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่า การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่น การจะร่วมกับพรรคการเมืองอื่นจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ต้องรอดูการเจรจาผลประโยชน์ในการนัดกินข้าวมื้อนั้นมื้อนี้

ถ้าอิ่มหมีพีมัน ก็จะร่วม

ถ้าอดๆ อยากๆ ไม่ร่วม


การเปลี่ยนจุดยืนไปมา ก็คือ การไม่มีจุดยืน

ถ้าแบบนี้ ไม่น่าจะใช่พรรคการเมืองอย่างที่ควรจะเป็น

3. หัวหน้าพรรคการเมืองที่แท้จริง จะต้องมีภาวะผู้นำสูงมาก


คนมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ประชาชนต้องรู้สึกเชื่อว่า นี่คือผู้นำที่แท้จริงของพรรค

การพูด และการกระทำของหัวหน้าพรรค จึงมีความหมายต่อพรรคมาก ถึงมากที่สุด

แต่มองดูพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลบ้านเรา ผ่านสถานการณ์ช่วงที่จัดตั้งรัฐบาลกันนั้น ดูเอาเถิดว่า ใครเป็นหัวหน้าพรรคไหน ใครเป็นผู้นำที่แท้จริง กระอักกระอ่วนพิลึก

บางพรรค หัวหน้าพรรคพูดอย่าง ลูกสาวหัวหน้าพรรคที่มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพูดอีกอย่าง รองหัวหน้าพรรคคนอื่นๆ ก็ไปอีกอย่าง แม้แต่เรื่องเดียวกัน คนเดียวกัน แต่ไปหาเสียงต่างสถานที่ ไปอีสานพูดอย่าง ไปกรุงเทพฯ กลับพูดอีกอย่าง พูดไม่เหมือนเดิม

บางพรรค หัวหน้าพรรคเป็นใคร ยังไม่แน่ใจ ชาวบ้านเลือกคนที่มีตำแหน่งหัวหน้าอย่างเป็นทางการ เพียงหวังว่าจะได้คนอื่นกลับมาตามคำหาเสียงก็มี เขามองหัวหน้าเป็นหัวหลักหัวตอ จัดโผ ครม. ก็บินไปคุยที่ฮ่องกง ไม่ย่างเหยียบไปบ้านพักของหัวหลักหัวตอ

บางพรรค หัวหน้าเป็นเหมือนแจกัน ตั้งไว้เฉยๆ แต่เวลาเจรจาตัดสินใจเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องร่วมรัฐบาล หัวหน้าไม่เกี่ยว ให้คนอื่นๆ 2-3 คน ไปพูดคุยตกลงกันเอง คนเป็นหัวหน้ารอแค่ว่า เขาจะเอาดอกไม้สีอะไรมาเสียบใส่ไว้ในแจกัน

ขณะนี้ ผู้คนก็ยังมึนงงกันอยู่ ว่าหากมีอะไรทำให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใดของพรรคร่วมรัฐบาลนี้มีอันเป็นไป ใครจะขึ้นมาดำรงดำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่แทน จะต้องรอคอยให้เกิดเรื่อง เกิดความสับสน และต้องรอให้เขาเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียวอย่างนั้นหรือ

สงสัยว่า ใครยกบ้านเมืองให้เขาไปทำอะไรก็ได้ จะยกตำแหน่งไหนให้ใครก็ได้ ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนของพรรคการเมืองที่ด้อยพัฒนา

น่าผิดหวัง น่าหดหู่ และน่าอาย

หวังว่า คนไทยจะไม่ต้องอยู่กับความรู้สึกแบบนี้ นานจนเกินไป

กำลังโหลดความคิดเห็น