xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”นัด 3 ฝ่ายถกกดซื้อข้าวพบโรงสีขาดเงิน-ผู้ส่งออกชะลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์”นัดชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก เคลียร์ปัญหากดราคารับซื้อข้าวเกษตรกร พบปมโรงสีขาดสภาพคล่อง ผู้ส่งออกถูกชะลอออเดอร์ ทำให้มีการซื้อข้าวลดลง ประสานแบงก์เร่งปล่อยกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแล้ว ชาวนาเดือดอัด “มิ่ง” ตัวการป่วนราคาข้าว สอนมวยพูดอะไรหัดคิดก่อนทำ ขณะที่ม็อบชาวนากาฬสินธุ์ปิดถนนประท้วงรัฐบาล ด้านเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ก่นวงจรอุบาทว์ แฉสูตรโรงสี พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก ฟันกำไร กดซื้อข้าวเปลือก โก่งราคาข้าวสาร เตรียมรวมสต็อกข้าวขายตรงผู้บริโภค

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญสมาคมชาวนาไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ผู้ส่งออก และตัวแทนธนาคาร มาหารือเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ได้รับการร้องเรียนว่าโรงสีไม่รับซื้อข้าว หรือกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร โดยได้รับการชี้แจงจากโรงสีว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะโรงสีขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินที่จะใช้ในการซื้อข้าวจากเกษตรกร และโรงสีบางแห่งสต๊อกเต็ม ไม่สามารถรับซื้อข้าวเพิ่มเติมได้อีก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่ซื้อข้าว ทำให้ระบายข้าวได้ไม่ทัน ขณะที่ทางผู้ส่งออก ได้ชี้แจงว่า คำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศชะลอตัวลง จึงซื้อข้าวจากโรงสีน้อยลง และผู้ส่งออกเองก็มีการสต๊อกข้าวไว้เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหา ได้ขอให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ให้กับโรงสีเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งธนาคารรับจะพิจารณาให้เป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งทางโรงสีได้ยืนยันว่า หากมีสภาพคล่องก็พร้อมที่จะซื้อข้าวจากเกษตรกร และซื้อในราคาตลาด ไม่มีการกดราคาอย่างแน่นอน โดยราคาข้าวเปลือก 5% ขณะนี้ อยู่ที่ตันละ 1.35-1.4 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 1.8 หมื่นบาท

ส่วนในบางจังหวัดที่มีปัญหาที่เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาต่ำ และถูกกดราคารับซื้อ โดยอ้างว่าข้าวมีความชื้นนั้น ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว รวมทั้งได้มีการประสานให้โรงสีในจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปรับซื้อ ซึ่งคาดว่าหลังจากมีการเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงสีแล้ว ปัญหาต่างๆ จะหมดไป ทั้งนี้ หากเกษตรกรในจังหวัดใดมีปัญหา สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วนแม่บ้าน 1569

นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องหาวิธีมาแก้ปัญหาราคาข้าวที่ผันผวน เพราะข้าวมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงจากราคาในปัจจุบันที่ตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท หากราคาข้าวหลุดจากระดับราคานี้ไป ภาครัฐควรใช้วิธีประกันราคาข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ตกต่ำ ซึ่งอาจจะเป็นการรับจำนำหรือกำหนดเพดานราคาขึ้นมาก็ได้

แนะรัฐประกาศรับจำนำข้าว

นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรประกาศรับจำนำข้าวนาปรังในราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน โดยทำควบคู่ไปกับการทำข้าวถุงธงฟ้ามหาชน เพราะจะทำให้ราคาข้าวในตลาดไม่ลดลง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการทำข้าวถุง คือ ต้องการให้ข้าวสารราคาถูกจากราคาตลาด 20% แต่ราคาข้าวเปลือกยังราคาสูงอยู่ ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายเกี่ยวกับข้าวเปลือกมาถ่วงดุลไว้ไม่ให้ราคาตกต่ำตามข้าวสาร และเมื่อราคาข้าวเปลือกในตลาดไม่ตก จะทำให้ไม่มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำ รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่การรับจำนำจะใช้เป็นเครื่องมือประกันราคาไว้ไม่ให้ข้าวเปลือกของเกษตรกรตกต่ำ

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้ เป็นผลจากความไม่ชัดเจนของคำพูดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ประกาศจะนำข้าวในสต๊อกรัฐบาลมาทำข้าวถุงธงฟ้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20% ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก และโรงสีต่างชะลอการซื้อข้าว เพื่อรอให้ข้าวราคาถูกออกมา ซึ่งจะกดราคาข้าวในตลาดให้ลดลง แล้วจึงไปซื้อตอนที่ราคาข้าวลดลง

ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่จะทำให้เพดานราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำไปกว่า 1.5 หมื่นบาท/ตัน เพราะหากได้ราคานี้ เมื่อเกษตรกรขายข้าวให้กับโรงสีหักค่าความชื้นแล้วก็อยู่ที่ประมาณตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท เป็นระดับราคาที่เกษตรกรพอใจ เพราะต้นทุนการปลูกข้าวนาปรัง ณ เดือนมี.ค. สูงขึ้นมาอยู่ที่ 5,690 บาท/ไร่แล้ว และขณะนี้น่าจะสูงถึง 6-7 พันบาท/ไร่ จากราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปีก่อนต้นทุนการปลูกข้าวอยู่ที่ 4 พันกว่าบาท/ไร่

ก่อนหน้านี้ นายมิ่งขวัญเคยระบุว่าราคาข้าวจะขึ้นอีก 2-3 เท่า โดยขอให้ชาวนาอย่าเพิ่งขายให้รอราคาตันละ 3 หมื่นบาท แต่พูดไม่ชัดเจนว่าข้าวอะไร ซึ่งจริงๆ แล้ว คือ ข้าวสารหอมมะลิ ที่ขายได้ตันละ 3 หมื่นบาท ส่วนข้าวเปลือกไม่ถึง และหลังจากนั้น ก็มาเล่นเรื่องราคาว่าจะนำข้าวในสต๊อกมาทำข้าวถุงขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด 20% จนทำให้โรงสี และผู้ส่งออกใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคาข้าวกับเกษตรกรอีก

“มิ่งขวัญ” ยัน ข้าวไทยราคาดี-ส่งออกพุ่ง

ด้าน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังแก้ปัญหาเรื่องข้าวอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ดีพอสมควร ส่วนเรื่องการขายข้าวเพื่อการส่งออกก็ไม่มีปัญหา ชาวนาขายได้ราคาดี ขอย้ำว่า ต้องแยกกันระหว่างข้าวเหนียว ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกข้าวเจ้า และข้าวหอมมะลิว่าเป็นคนละประเภทกัน ขณะนี้พยายามจะดูให้ได้ราคาดีที่สุด ส่วนเรื่องข้าวถุงธงฟ้ามหาชนนั้น จะเร่งออกขายให้ประชาชนโดยเร็ว

ส่วนขณะนี้ชาวนาโดนกดราคาข้าวและอาจจะออกมาเดินประท้วงนั้น นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ปัจจุบันข้าวเปลือกมี 3 อย่าง คือข้าวเปลือกข้าวจ้าว ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวหอมมะลิ และข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเหนียว เท่าที่ทราบ ที่จ.กาฬสินธิ์มีปัญหาเรื่องข้าวเปลือกข้าวเหนียวอยู่ โดยให้อธิบดีกรมการค้าภายในกับรองอธิบดีลงไปดูปัญหาแล้ว

ขณะนี้บรรยากาศที่เกิดขึ้น ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและรอบโลกก็น่าเป็นห่วง กรณีพายุที่ถล่มพม่าหรือความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกหรือปัญหาโลกร้อนนั้น ตนเพิ่งกลับจากการประชุมคณะรัฐมนตรีทางด้านการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ 10 ประเทศ ที่อินโดนีเซีย ซึ่งทุกคนพูดตรงกันหมดว่าปัญหาที่ทุกคนกังวลใจคือ กลัวว่าจะไม่มีข้าวให้ประชาชนได้กิน แปลว่าต้องเร่งหาที่ซื้อข้าว ตอนนี้ตลาดจึงมุ่งมาหาประเทศไทย

“มีรัฐมนตรีจากประเทศฮ่องกงมาคุยกับผมไม่นานมานี้ บอกว่ามีเรื่องคุยแค่ 2 ข้อ ข้อแรกคือกังวลใจว่าไทยจะไม่ขายข้าวให้ฮ่องกงเหมือนเดิม ส่วนข้อ 2 เรื่องราคานั้นขอให้ไทยไม่ต้องเป็นห่วง ขอให้ขายตามกลไกราคาตลาด ส่วนอีกประเทศคือประเทศติมอร์ มาขอซื้อข้าวกับรัฐบาล ผมเลยบอกไปว่า มาขอซื้อข้าว 2.1 ล้านตันนั้นรัฐบาลคงขายให้ไม่ได้ เราคงเก็บไว้ให้ประชาชนไทยได้บริโภคในราคาที่พอสมควร แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็เจรจาซื้อข้าวให้ กรมส่งออกเจรจาให้ติมอร์ไปในปริมาณ 5 หมื่นตัน ส่วนฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้เสนอให้ไทยใช้สัญญาการส่งออกแบบทีโออาร์นั้น ได้ปฏิเสธไปแล้ว โดยบอกว่าทำไม่ได้ ฟิลิปปินส์ก็เลยจะเปิดประมูลใหม่ ขณะนี้จึงขึ้นอยู่ที่ว่าเอกชนรายใดจะส่งออกไปขายให้ฟิลิปปินส์เท่านั้น”นายมิ่งขวัญกล่าว

ม็อบชาวนากาฬสินธุ์ปิดถนน

เช้าวานนี้ (7พ.ค.) ที่ จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนชาวนากาฬสินธุ์กว่า 100 คน นำโดยนายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิป-ไตยคนอีสาน ร่วมกับชาวนาทำการปิดถนนตรงหน้าตลาดแตงโม ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ตลาด โดยใช้เต็นท์และรถปิดขวางเส้นทางการจราจรสาย อ.ยางตลาด-กาฬสินธุ์ ถนนสายหลัก ส่งผลให้การจราจรติดขัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการดูแลเส้นทางการจราจร

พร้อมกันนี้ ชาวนายังได้เทข้าวเปลือกลงพื้นถนนเพื่อประจานโรงสีที่กดราคาข้าวเปลือกชาวนาจนได้รับความเดือดร้อน พร้อมกับการเขียนป้ายโจมตีโรงสีและการทำงานของการค้าภายในจังหวัด กับข้อความที่เรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร

การชุมนุมครั้งนี้ มีเป้าหมายที่ต้องการให้รัฐบาลได้สนใจเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรใน จ.กาฬสินธุ์ เพราะถึงแม้เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ชาวนาได้เข้าร้องเรียนต่อนายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้แก้ไขปัญหา แต่ด้วยอำนาจของจังหวัดสามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ 2 ข้อ คือ การเปิดการค้าเสรีกับการตรวจสอบการวัดค่าความชื้นที่ไม่เป็นธรรม

นายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยคนอีสาน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้เนื่องจากปริมาณข้าวเปลือกนาปรังผลผลิตยังมีอยู่กับเกษตรกรมากกว่า 60% จึงต้องการให้ราคาการรับซื้อดีขึ้นกว่านี้เพราะพฤติกรรมการรับซื้อของ โรงสีใหญ่ และตลาดกลาง มีพฤติกรรมในการฮั้วราคาจริง จึงต้องการให้กรมการค้าภายใน เข้ามาตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้มีการประกันราคาข้าวเปลือกเหนียวนาปรังให้มีราคารับซื้อที่ตันละ 9,000 บาท

สำหรับการชุมนุมปิดถนน บรรดาแกนนำเกษตรกรได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยโจมตีถึงผลเสียของการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยปะละเลยและมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน จนทำให้โรงสีใหญ่อาศัยช่องทางเอาเปรียบชาวนาด้วยการตัดค่าความชื้นและรวมกลุ่มกันกำหนดการรับซื้อราคากันเองอย่างรุนแรง

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายพัณณ์เดชน์ ศรีจันทร์ ปลัดจังหวัด พล.ต.ต.พิสัณฑ์ อาวีกร วรเทพนิตินันท์ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายเดชา ให้เข้าไปเจรจาเพื่อยุติปัญหา พร้อมทั้งได้ทำการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ในระหว่างนั้นนายพงษ์ศักดิ์ ได้รับโทรศัพท์สายตรงจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ยืนยันว่าในวันที่ 8 พ.ค.51 เวลา 14.00 น.กระทรวงพาณิชย์จะส่งรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เข้าไปรับทราบปัญหาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำ พร้อมทั้งได้ทำการชี้แจงให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมจนเป็นที่พอใจ

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำเป็นปัญหาที่ทางจังหวัดจะต้องหาวิธีการแก้ไข ซึ่งในขณะนี้ได้รับการประสานงานจาก กรมการค้าภายใน ที่จะมีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เข้ามาเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากกลุ่มชาวนาได้รับฟังคำชี้แจงจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะมีการหารืออย่างเป็นทางการกับรองอธิบดีกรมการค้าภายในในวันนี้ (8) แล้ว กลุ่มชาวนาจึงพอใจและสลายตัวไปในที่สุด

บุกจี้ผู้ว่าฯ ชร.ประกันราคาข้าวเหนียว

ส่วนที่ จ.เชียงรายเมื่อเวลา 11.00 น.วานนี้กลุ่มชาวนาใน อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ราว 300 คนนำโดยนายบัญญัติ ทองดีนอก และนายสวิง จับใจนาย เกษตรกรในพื้นที่ได้เดินทางมาประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัด เรื่องราคาข้าวเหนียวนาปรังตกต่ำ โดยถือป้ายมีข้อความเช่น "พ่อค้ากดราคาสูบเลือดชาวนา" "ครม.ตอแหล" "ใครกดราคาข้าว" พร้อมเปิดเครื่องขยายเสียงปราศรัย นานราว 30 นาที จากนั้นนายชนะ นาคสุริยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้เชิญตัวแทนชาวนาเข้าหารือ ที่ห้องประชุมเล็ก ศาลากลางจังหวัด

ทั้งนี้ กลุ่มชาวนาได้ยื่นข้อเสนอรวม 6 ข้อ ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกนาปรังถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอย่างหนัก คือ ให้รัฐบาลประกันราคาข้าวให้กับชาวนา ข้าวเปลือก ข้าวเหนียวตันละ 8,000-10,000 บาท ข้าวจ้าว ตันละ 11,000-15,000 บาท เนื่องจากขณะนี้ใน จ.เชียงราย พ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีในพื้นที่กดราคารับซื้อข้าวเปลือกที่จะเกี่ยวในช่วงนาปรังอย่างหนักตั้งราคาซื้อข้าวเปลือกมีความชื้นต่ำสุดราวตันละ 6,000-6,200 บาท นอกจากนี้ราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลงก็แพงขึ้นโดยปุ๋ยขยับจากถุงละ 600 บาทเป็นถุงละ 1,100 บาท แถมราคาน้ำมันก็แพงลิตรละกว่า 35 บาท

ด้าน นายชนะ นาคสุริยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า จะรับข้อเสนอของผู้ประท้วงไปหารือในบ่ายวันเดียวกันกับทุกฝ่ายแล้วเสนอส่วนกลางทันที เบื้องต้นยังได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน และพาณิชย์จังหวัด ออกตรวจสอบการรับซื้อข้าวว่าพ่อค้าเอาเปรียบชาวในเรื่องความชื้น หรือตราชั่งหรือไม่ และให้เกษตรจังหวัดเข้าไปดูแลเรื่องปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาแพง

โครงการครัวไทยฯ กระทบราคาข้าวแพง

นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากสถานการณ์อาหารโลกที่ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงการครัวไทยสู่โลกของไทย ว่า แม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกจะลดลง แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ข้าวของไทยดีขึ้นมากนัก รวมถึงร้านอาหารไทยในต่างแดนด้วย เนื่องจาก ราคาที่ลดลงนั้นเป็นไปตามกลไกตลาด คือ ในช่วงไตรมาสแรก มีการส่งออกข้าวเป็นจำนวนมากประมาณ 100 ล้านตัน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2 ยอดการส่งออกข้าวจึงชะลอตัวลง รวมถึง ข้าวนาปลังเตรียมออกสู่ตลาด ทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยปรับตัวลดลง ซึ่งก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคไปได้ระยะหนึ่ง

ส่วนโครงการครัวไทยสู่โลกที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวว่า ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ความนิยมบริโภคอาหารไทยลดน้อยลง แต่อาจต้องลดความถี่ในการรับประทานอาหารไทยบ้าง ไม่สามารถรับประทานได้ทุกมื้อ ส่วนในเรื่องของราคาอาหารมีการปรับขึ้นเล็กน้อยตามวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวซึ่งหาก ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ ขายข้าวให้กับทางผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างแดนโดยตรง จะช่วยลดต้นทุนได้มาก

นอกจากนี้ทางสถาบันอาหารเตรียม เสนอยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาดังกล่าว กับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยยุทธศาสตร์ในระยะสั้น คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย ว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนข้าว แม้ว่าที่ผ่านมากว่า 37 ประเทศ ทั่วโลก เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารแล้ว ในขณะที่ยุทธศาสตร์ระยะยาว คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตข้าวให้มากขึ้น บนพื้นที่การปลูกข้าวที่ไม่สามารถขยายได้ รวมถึงทางรัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกให้เป็นสัดส่วน คือ จำนวนพื้นที่การปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสำหรับบริโภค หรือ การปลูกพืชเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางสถาบันอาหารเตรียมนำเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารให้มากขึ้น หวังเพิ่มมูลค่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องการผลิตอาหาร ดังนั้นควรที่จะนำมาแปรรูป แทนที่จะผลิตอาหารที่เป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว

แฉสูตรฟันกำไรข้าว

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีโรงสีกดราคาซื้อข้าวจากชาวนาเหลือเพียงตันละ 6,000 กว่าบาทว่า เป็นกระบวนการขูดรีดชาวนาที่เรียกได้ว่าเป็นปกติ เพราะราคารับซื้อข้าวขึ้นอยู่กับโรงสี เขาจะให้เท่าไหร่ก็ได้ กลุ่มซวยที่สุดมาโดยตลอดคือ ชาวนาซึ่งถูกกดราคาต้องขายข้าวเปลือกในราคาถูก และผู้บริโภคที่ต้องซื้อข้าวสารในราคาแพง ส่วนกลุ่มซึ่งได้ประโยชน์มากที่สุด คือ โรงสี พ่อค้าคนกลาง และผู้ส่งออก โดยแบ่งสัดส่วนกำไรกันตามสูตร 30-30-40 ตามลำดับ

“ชาวนาถูกกดมาตลอด เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์น้อยมาก ยิ่งเมื่อคิดถึงต้นทุนการผลิต เช่นค่าปุ๋ยที่ขึ้นไปรอล่วงหน้าอยู่ก่อนถึงตันละ 2 หมื่นบาท ต่อให้ราคาข้าวในตลาดโลกดีกว่านี้ชาวนาก็แทบไม่ได้อะไร เพราะราคาข้าวโรงสี เป็นคนกำหนด ปัจจัยการผลิตก็ถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนเกษตร” นายชรินทร์ กล่าว

หนทางรอดของชาวนาคือต้องรวมตัวกันต่อรอง กดดันรัฐฯ ให้หันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งการหาหนทางตัดคนกลางที่มาเอาเปรียบชาวนา ซึ่งเวลานี้สมาชิกเครือข่ายหนี้สินฯ ทั่วประเทศที่สามารถปลดหนี้และชะลอการถูกทวงหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โดยกลไกรับซื้อหนี้คืนของกองทุนฟื้นฟูฯ กำลังเตรียมการรวมข้าวและสต็อกข้าวสำหรับผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังที่จะออกมาในปลายปีนี้ เพื่อต่อรองราคากับโรงสี พ่อค้าคนกลาง และอีกด้านหนึ่งก็ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ขณะนี้กำลังเริ่มดำเนินการที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งมีสมาชิกสนใจเข้าร่วมประมาณ 3,500 ครอบครัวแล้ว โดยเป้าหมายตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านตัน คาดว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในระบบการผลิตและการค้าข้าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น