xs
xsm
sm
md
lg

“สถาบันอาหาร”ชี้คนไทยกินข้าวแพงต่ออีก 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหาร เผยไทยยังไม่ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร แม้ 37 ประเทศทั่วโลกต้องขอรับความช่วยเหลือจากนานาประเทศแล้วก็ตาม ชี้ราคาข้าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 2 ปี จากราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุด เชื่อส่งผลดีกับไทยในเรื่องมูลค่าส่งออก และภาคเกษตรได้กับการเหลียวแลมากขึ้น ย้ำโครงการครัวไทยฯ จำเป็นต้องสานต่อ หากไทยคิดจะเป็นผู้นำด้านอาหารของโลก

นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึง ยุทธศาสตร์การรับมือวิกฤติสถานการณ์อาหารของโลกที่มีราคาสูงขึ้น ว่า ขณะนี้ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับประชากรโลก ที่ในปัจจุบันมีประมาณ 37 ประเทศทั่วโลกที่ประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารแล้ว โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา และเอเชีย เช่น เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ประสบกับภาวะดังกล่าว แม้ราคาอาหารประเภทธัญพืช โดยเฉพาะข้าวจะมีราคาสูงขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ราคาของสินค้าอาหารได้มีการปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา เช่น เนื้อสัตว์ นม ธัญพืช พืชน้ำมัน และน้ำตาล แต่ไม่ได้รับความตื่นตระหนกจากประชาชนแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่จะไปกังวลอยู่กับราคาน้ำมัน โดยมีสาเหตุมาจาก ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จำนวนประชากร การแย่งชิงสินค้าเกษตร การขยายตัวของสังคมเมืองส่งผลให้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชลดลง และปัญหาโลกร้อน

“แม้ว่าราคาสินค้าประเภทอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ส่งผลดีกับประเทศไทยที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องปริมาณและราคา ที่สูงขึ้นเกือบ 100% และภาคการเกษตรของไทยก็ได้รับความสนใจ ใส่ใจ มากขึ้นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ซึ่งเชื่อว่าในระยะสั้นนี้ราคาอาหารจะยังไม่มีการปรับตัวลดลงไปอีกประมาณ 2 ปี โดยจะหมดยุคของราคาอาหารถูกแล้ว เพราะจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง รวมถึงแนวโน้มความต้องการบริโภคธัญพืชของประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยภายในปี 2020” ผอ.สถาบันอาหารกล่าว

สำหรับสถานการณ์พายุนาร์กิส และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศจีน คาดจะทำให้ความต้องการบริโภคข้าวจะเพิ่มสูง รวมถึงราคา โดยเฉพาะในประเทศไทยที่จะต้องนำข้าวในสต๊อกไปบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนั้นทำให้สต๊อกข้าวของรัฐบาลจำนวน 2 ล้านตัน ลดน้อยลง จากเดิมยอดการผลิตข้าวเปลือกของไทยอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตัน เมื่อผ่านการสีจะเหลือข้าวสารจำนวน 21 ล้านตัน เพื่อใช้บริโภคในประเทศ และอีก 9 ล้านตันเพื่อการส่งออก ในขณะที่สต๊อกข้าวสำรองอยู่ที่ 2 ล้านตัน เท่านั้น

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ข้าวราคาแพง ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการครัวไทยสู่โลก ที่ได้เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2547 โดยเฉพาะร้านอาหารในต่างประเทศ ที่บางรายต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่น การปรับรอบเวลาการเปิดร้าน เฉพาะในช่วงที่มีลูกค้าเยอะ การปรับเมนูลดลงเน้นการซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อลดต้นทุน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานถึงการปิดกิจการของร้านอาหาร

อย่างไรก็ตามโครงการครัวไทยสู่โลกจะเสร็จสิ้นภารกิจภายในเดือนกันยายน 2551 นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงพิจารณาของรัฐบาลว่าจะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งทางสถาบันอาหารยังเห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้อยู่ว่าจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพื่อต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารของโลกในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น