xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาฮือประท้วงโรงสี ฮั้วราคาทำข้าวเปลือกวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนาต่างจังหวัดลุกฮือ สุดทนเทข้าวเปลือกประจาน โรงสีกาฬสินธุ์ฮั้วราคา ทำข้าวเปลือกตกต่ำที่สุด แฉรับซื้อเพียงตันละ6,000 บาท แต่สร้างผลกำไรมหาศาล เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ของพบ"มิ่งขวัญ" ขณะที่ชาวนาพัทลุง จี้ผู้ว่าฯเร่งแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกวูบ พ่อค้าอ้างความชื้นสูง "พาณิชย์" เตรียมงัดกฎหมายเล่นงานโรงสี หลังใช้เล่ห์กดราคา อ้างข้าวชื้น แถมโบ้ยความผิดให้ ข้าวธงฟ้า เป็นต้นเหตุ

วานนี้ (6 พ.ค.) .ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสำรอง โพธิ์ซก ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยคนอีสาน พร้อมด้วยตัวแทนชาวนากาฬสินธุ์กว่า 100 คน เดินทางมาชุมนุมประท้วง และเรียกร้องผ่าน ผวจ.กาฬสินธุ์ ถึงรัฐบาล ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำ เนื่องจากผลการรับซื้อข้าวเปลือกในฤดูการผลิต 2551 โรงสีทุกแห่งในจังหวัด รับซื้อข้าวเปลือกเพียงตันละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สวนทางกับรัฐบาลที่ได้ตั้งราคาซื้อขายข้าวเปลือกในปีนี้ไว้สูงถึงตันละ17,000 บาท ในการรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวจะรับซื้อสูงถึงตันละ 12,000 บาท ที่ถือว่าราคาดังกล่าวมีราคาที่ต่ำที่สุดในประเทศ จนทำให้เกษตรกรประสบกับปัญหาความเดือดร้อน ต้องนำข้าวเปลือกไปขายจังหวัดอื่น ที่ให้ราคาที่ดีกว่า จนทำให้เชื่อว่า ราคาที่ตกต่ำเกิดจากนายทุน และโรงสีรวมตัวกันกำหนดราคา อย่างไม่เป็นธรรม

โดยบรรยากาศการชุมนุม บรรดาแกนนำรวมถึงชาวนาได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยโจมตีการทำงานของการค้าภายในจ.กาฬสินธุ์ กับกลโกงทุจริตจากโรงสี และตลาดกลางข้าว รวมถึงนายทุน ที่กำหนดราคาให้ต่ำ จนได้มีการเทข้าเปลือกประจาน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การรับซื้อข้าวจากโรงสีขณะนี้ โรงสีใหญ่ยังปิดการรับซื้อข้าวเปลือก โดยอ้างถึงผลผลิตที่ล้นตลาด แต่ในขณะนี้พบว่า โรงสีรายเล็ก รวมถึงโรงสีขนาดกลาง กลับทำการรับซื้อข้าวเปลือกแทน ซ้ำยังได้ปั่นราคาให้รับซื้อข้าวเปลือกที่มีราคาต่ำเพียงตันละ 5,000 บาท

นายสำรอง ยังระบุว่า การรับซื้อล่าสุดถือว่าโรงสีใน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันฮั้วราคาซื้อขายข้าวเปลือกอย่างชัดเจน ซึ่งในขณะนี้โรงสีใหญ่ได้ปิดการรับซื้อโดยอ้างว่าข้าวล้นตลาด แต่ในทางกลับกัน โรงสีรายย่อยกลับเปิดรับซื้ออย่างน่าตกใจ เนื่องจากสิ่งที่ผิดปกติ สำหรับการรับซื้อในลักษณะข้าวเกี่ยวสดนาปรังทุกชนิด โรงสีรายย่อย จะไม่สามารถรับซื้อได้ เพราะจะต้องใช้กำลังในการอบข้าว เพื่อป้องกันปัญหาข้าวขึ้นรา ที่โรงสีรายย่อยจะต้องส่งข้าวไปอบที่โรงสีใหญ่เท่านั้น

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ ซึ่งสำหรับข้อเรียกร้องนั้น ต้องการให้ผวจ. กาฬสินธุ์ เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยให้การค้าภายในจังหวัดออกมาชี้แจงปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และชี้แจงวิธีการหักค่าความชื้น อีกทั้งให้ทางจังหวัดทบทวนรายชื่อเกษตรกร ที่ไปขายข้าวให้กับทางโรงสี เพื่อคืนเงินให้กับเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่จากจังหวัดได้เชิญกลุ่มตัวแทนเกษตรกร 10 คน นำโดย นายสำรอง เข้าพบเพื่อรับฟังปัญหาโดยมี นายเดชา ตันติยวรงค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน การค้าภายในจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยการประชุม ตัวแทนเกษตรกรได้ซักถามถึงปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำพร้อมกับได้นำเสนอปัญหาข้อเรียกร้องเป็น 5 ประเด็น คือ 1.ให้ทำการเปิดการค้าเสรีในพื้นที่เพื่อให้เกิดการแข่งขัน 2.ให้ชี้แจงกรณีหักค่าความชื้นที่ไม่เป็นธรรม 3.ให้ตรวจสอบปัญหาการฮั้วราคา ระหว่างโรงสีและตลาดกลาง 4.ให้การค้าภายในชี้แจงปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำรวมไปถึงจำนวนข้าวที่โรงสีรับซื้อไปแล้วว่าไปอยู่ที่ไหน 5.ให้ทบทวนระบบการซื้อขายที่ต้องการให้โรงสีที่รับซื้อจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกร ที่ขายข้าวขาดทุนอย่างไม่เป็นธรรม

ด้านนายเดชา ตันติยวรงค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในข้อเรียกร้องที่เสนอมา จังหวัดมีหน้าที่ในการพิจารณา และส่งสารไปยังส่วนกลาง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถดำเนินการได้เพียง 2 กรณี คือ กระบวนการชี้แจงวิธีการหักค่าความชื้นของโรงสี กับแนวทางการแก้ไข โดยจะเสนอเรื่องการแก้ปัญหาไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขออนุญาตให้โรงสีข้าวในต่างจังหวัดที่สนใจเข้ามารับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการรับซื้อข้าวเปลือก และเกษตรกรมีทางเลือกในการขายข้าวเปลือก หรือเลือกขายแบบเสรี โดยจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และป้องกันการกดราคาของโรงสีในพื้นที่

ส่วนข้อเรียกร้องของเกษตรกร ที่ต้องการให้ทางรัฐบาลประกันราคาข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,000 บาท ข้าวเปลือกมะลิ ตันละ 12,000 บาทนั้น ทางจังหวัดจะนำเรื่องนี้เสนอไปยังส่วนกลาง เพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องที่ทางจังหวัดรับไปนั้น ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวนา เพราะในขณะนี้ส่วนต่างจากการค้าข้าวที่เอาเปรียบชาวนา ได้ไปสร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้กับนายทุน การประชุมดังกล่าวจึงไม่เป็นผลอะไร ดังนั้นชาวนา จ.กาฬสินธุ์ จึงมีมติที่จะทำการเคลื่อนไหวให้ รมว.พาณิชย์ ลงมารับทราบปัญหา แล้วดำเนินการเอาผิดกับการฮั้วราคาข้าวเปลือก

ชาวนาพัทลุงโวยโรงสีกดราคา

ส่วนที่ จ.พัทลุง เช้าวันเดียวกัน นายพะวิง ทองช่วย อายุ 62 ปี พร้อมแกนนำเกษตรกร ชาวนาในพื้นที่จ.พัทลุงประมาณ 500 คนเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุเทพ โกมลภมร ผวจ.พัทลุง เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางปั่นราคาให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

นายพะวิง ระบุว่า ข้าวนาปรัง ที่รอการเก็บเกี่ยวประมาณ 25,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 20,000 ตัน ล่าสุดเกษตรกรชาวนาเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อราคาข้าวเปลือกปรับลดลง เหลือเพียงแค่ตันล่ะ9,000 บาท จากเดิม 13,700 บาท และมีแนวโน้มลดลงอีก ในขณะที่ชาวนาต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ย และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะเดียวกันโรงสีในพื้นที่ก็ยังไม่ยอมรับซื้อข้าวเปลือก อ้างปัญหาความชื้น จึงต้องรวมตัวกันเดินทางมาร้องขอให้ทางจังหวัดช่วยเหลือเป็นการด่วน

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง รับปากว่าจะแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นให้ พร้อมจะเรียกผู้ประกอบการโรงสีข้าวรายใหญ่และรายย่อยในพื้นที่จ. พัทลุง มาประชุมร่วมกันในช่วงเย็นของวันนี้ ซึ่งจะให้โรงสีข้าวในพื้นที่รับซื้อข้าวเปลือกในราคายุติธรรม หากโรงสีข้าวในพื้นที่ไม่รับซื้อ จะหาเจ้าของโรงสีข้าวจากต่างจังหวัดเข้ารับซื้อข้าวเปลือกในราคายุติธรรมภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เกษตรกรพอใจ และยอมสลายตัว

ชี้ราคาข้าวเปลือกตกเพราะรัฐ

จากที่เกษตรชาวนาได้เข้าเรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำโรงสีกดราคาไม่ยอมรับชื้อแล้ว น.ส.ดวงใจ ช.บุญพันธ์ รอง ผวจ.พัทลุง สำนักงานการค้าภายใน สหกรณ์จังหวัด สมาคมโรงสีข้าวจังหวัดพัทลุง และตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ได้ร่วมประชุมหารือที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด เพื่อหาทางออก

โดยแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้นให้เกษตรกรเกี่ยวข้าว แล้วนำไปจ้างโรงอบของเอกชนอบในราคา 20 ตัน ต่อ 5,000 บาท ซึ่งวันหนึ่งอบได้ 160 ตัน หลังจากนั้น นำไปขายกับสหกรณ์ชัยบุรี โดยทางสหกรณ์ จะรับซื้อในราคาเกวียนละ 12,500 บาท แต่ขณะเดียวกัน สหกรณ์ ก็สามารถรับซื้อได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากฉางข้าวมีจำกัด

ขณะที่นายไสว สุวรรณ์พยัคฆ์ นายกสมาคมโรงสีข้าว จ.พัทลุง ออกมาระบุว่า เหตุที่ราคาข้าวเปลือกมีราคาตกเกิดจากนโยบายแทรกแซงราคาข้าวของรัฐบาลที่ไม่แน่นอน และข้าวเปลือกในช่วงนี้มีความชื้นสูง ซึ่งราคาข้าวเปลือกในพื้นที่ จ.พัทลุง ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโรงสีข้าวใน กทม. ซึ่งผู้ประกอบการโรงสีไม่กล้าซื้อในราคาที่สูง เกรงจะขาดทุน เนื่องจากราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก

แฉชาวนาถูกกดข้าวสัปดาห์เดียวเหลือตันละ 3 พัน

ที่ จ.มหาสารคาม รายงานข่าวแจ้งว่า เกษตรกรในเขตพื้นที่ อ.เชียงยืน และ อ.โกสุมพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ที่สำคัญต่อด้านเศรษฐกิจของจังหวัด ต่างหวั่นใจกับราคากับราคาข้าวนาปรังที่มีแนวโน้มจะลดลงต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ทั้งนี้ที่ตลาดกลางผลิตผลการเกษตรสหกรณ์การเกษตรโกสุมพิสัยจำกัด

โดยก่อนหน้านี้ได้ปิดการรับซื้อไว้ชั่วคราว แต่พอเปิดการรับซื้ออีกรอบ ราคาได้ปรับลดลงกว่าตันละ 3,000 บาท ล่าสุดราคารับซื้อข้าวเจ้า เหลือเพียงตันละ 10,500 บาท ถึงตันละ 10,600 บาท ส่วนข้าวเหนียวราคารับซื้อเหลือเพียงตันละ 6,500 บาท โดยพ่อค้าและโรงสีที่ไปเปิดจุดรับซื้ออ้างว่าระยะนี้ในพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง เกษตรกรไม่ได้ตากข้าวก่อนนำไปจำหน่าย จึงทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ประกอบกับระยะนี้ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังเริ่มออกสู่ตลาดมาก จึงต้องปรับลดราคาให้สอดคล้องกับสภาวะของตลาด ซึ่งเกษตรกรได้ฝากให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแล เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกกดราคา

โรงสีพิจิตรถล่มนโยบายรัฐ

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล ประธานชมรมโรงสีข้าว จ.พิจิตร ที่มีสมาชิกเป็นโรงสีข้าวกว่า 20 แห่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงสีข้าวใน จ.พิจิตร มากกว่าครึ่งหนึ่งได้ประกาศหยุดรับซื้อข้าวเกี่ยวสดจากชาวนา เนื่องจากฝนตกหนัก ไม่สามารถตากข้าวได้ ทำให้ราคาข้าวปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยวานนี้ราคาข้าวเปลือกลดลงจากตันละ 12,000 บาท เหลือ 10,500 บาท ทำให้โรงสีผวาไม่กล้าซื้อข้าวเก็บไว้ในสต็อก เนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่กลับไปกลับมา อีกทั้งไม่มีทิศทางที่แน่ชัดว่า จะส่งออกหรือไม่ส่งออก นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจะนำข้าวถุงออกมาขาย ก็เป็นการผิดหลักธรรมาภิบาลทางการค้าและฝืนกลไกทางการตลาด ทำให้ต่างชาติชะลอการสั่งซื้อข้าวจากไทยตามไปด้วย

"พาณิชย์"ขู่เล่นงานโรงสีโทษหนัก

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯจะเล่นงานโรงสีที่ปฏิเสธรับซื้อ หรือกดราคารับซื้อ หรือรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมีกฎหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.ค้าข้าว พ.ศ.2488 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษด้านบริหารจะถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงสี และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กรณีกดราคารับซื้อ มีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการปฏิเสธการซื้อข้าว หรือกดราคารับซื้อข้าว โดยโรงสีอ้างว่าไม่มีพื้นที่ว่างรับข้าว เพราะผู้ส่งออกไม่รับซื้อข้าว และรับซื้อข้าวในราคาถูกโดยอ้างความชื้นนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่าไม่เป็นไปตามข้ออ้าง และเป็นการจงใจกดราคา ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น นายยรรยง กล่าวว่า กรมฯ ได้ประสานงานและเชื่อมโยงการซื้อขายข้าวจากเกษตรกร โดยขอให้ตลาดกลาง และผู้ส่งออกไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านโรงสี และกำหนดให้รับซื้อในราคาตลาด ซึ่งข้าวขาว 5% ความชื้น 15% ราคาควรอยู่ที่ 12,000-13,000 บาท/ตัน แต่หากความชื้นสูง ราคาก็จะลดลงมา

ข้าวไทยราคาลด10%

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาข้าวไทยได้ตกลงมาราว 10% เมื่อวานนี้(6) สืบเนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ตัดสินใจชะลอการประมูลซื้อข้าวล็อกใหญ่เอาไว้ก่อน เพื่อรอให้ราคาต่ำลงกว่านี้ ทำให้ตลาดมองเห็นกันว่า ราคาข้าวน่าจะผ่านเลยจุดสูงสุดไปแล้ว และต่อไปจะยิ่งลดถอยลง

รอยเตอร์บอกว่า ในการสอบถามราคาจากบริษัทผู้ส่งออกของไทย 5 รายพบว่า เสนอขายราคาข้าวขาว 100% ชั้น 2 ซึ่งถือเป็นมาตรวัดราคาข้าวในตลาดโลก ไว้ที่ระหว่างตันละ 900 ถึง 920 ดอลลาร์ โดยเป็นราคาเอฟโอบี นั่นคือไม่รวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย เปรียบเทียบกับสัปดาห์ที่แล้วซึ่งยังอยู่ที่ 990 ถึง 998 ดอลลาร์

ส่วนราคาข้าวขาว 5% ที่ฟิลิปปินส์มักซื้อไปเป็นประจำ ก็ถอยลงมาเหลือราวๆ ตันละ 870 ถึง 890 ดอลลาร์ ต่ำลงจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 950 ดอลลาร์

"อภิรักษ์"เปิดข้าวแกงถูกช่วยคนกรุง

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยความคืบหน้าโครงการร้านข้าวแกง กทม.ว่า ขณะนี้ทางสำนักพัฒนาสังคม กทม.ได้ไปสำรวจข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดร้านข้าวแกงของ กทม.โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีเมนูอาหารอย่างน้อย 5 อย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่คนกรุงนิยมรับประทาน อาทิ พะแนงหมู ผัดผักรวมมิตร แกงคั่วหน่อไม้ ผักพริกขิง ผัดเผ็ดปลาดุก พะโล้ แกงเขียวหวานไก่ และกระเพราไก่ ทั้งนี้แต่ละเขตพื้นที่อาจมีการจำหน่ายอาหารแตกต่างกันไปตามลักษณะความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม โดยจัดจำหน่ายราคากับราดข้าว 1 อย่าง 15 บาท 2 อย่าง 20 บาท เริ่ม 12 พ.ค.นี้ เป็นวันแรก

ลูกจ้างกทม.1.7 หมื่นคนเฮ

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ หลังจากที่ประชุมคณะผู้บริหารยังได้เห็นควรให้เพิ่มเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพชั่วคราวแก่ลูกจ้าง หลังจากที่ได้เพิ่มให้กับข้าราชการประจำ และลูกจ้างประจำที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 13,500 บาท จำนวน 2,000 บาท ต่อเดือนต่อคน ใช้งบประมาณ 1,134 ล้านบาทต่อปี โดยที่ประชุมเห็นควรเพิ่มเงินสวัสดิการให้ลูกจ้างชั่วคราวที่ปัจจุบันได้รับค่าจ้างประมาณ 4,700 บาท ต่อเดือน จำนวน 17,000 คนอีกคนละ 2,000 บาทต่อเดือนจาก รวมเป็นงบประมาณ 34 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 408 ล้านบาทต่อปี รวม กทม.ได้เพิ่มเงินสวัสดิการทั้งสิ้น 1,542 ล้านบาท ต่อปี โดยจะนำเสนอให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกทม. ในเดือน มิ.ย. 25 และคาดว่าจะประกาศเป็นระเบียบสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือน ก.ค.51
กำลังโหลดความคิดเห็น