xs
xsm
sm
md
lg

พปช.เหนือ-อีสานไม่หยุดรุมทึ้งเก้าอี้ประธานสภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงแคนดิเดตผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แทนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่า ขณะนี้แคนดิเดตเหลือเพียง 2 คนคือ นายชัย ชิดชอบ ประธาน วิปรัฐบาล และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาฯคนที่1 โดยจะต้องพิจารณาว่าบุคคลใดมีความเหมาะสมที่จะควบคุมการประชุมการประชุมสภาฯ ในสถานการณ์ขณะนี้ได้ดีที่สุด ใครจะประคับประคองสภาฯ ในสถานการณ์การเมือง ที่เชี่ยวกรากได้
ทั้งนี้เข้าใจว่าการเลือกประธานสภาครั้งนี้คงเป็นการประสานกันภายในพรรค ไม่ถึงขั้นต้องให้ส.ส.พรรคลงมติเลือก และขอนี้ยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจากเบื้องบนมาสั่งว่าให้เลือกใครอย่างแน่นอน และตนก็ไม่เห็นด้วยถ้าใครจะมาสั่ง จากการพูดคุยกับส.ส.พรรคในขณะนี้เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนนายชัย เพราะเป็นบุคคลที่มีเก๋าทางการเมือง ทำงานได้ คนที่ผ่านสภามานานน่าจะเป็นประธานที่มาความสง่างามมากกว่าการเรียนทางลัด
ส่วนที่นายชัย มีคดีความถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินที่ จ.บุรีรัมย์ จะทำให้มีปัญหา ต่อการพิจารณาให้นายชัยเป็นประธานสภาหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพียง ข้อกล่าวหา คนที่เป็นนักการเมืองก็มีคดีติดตัวกันทั้งนั้น เพราะการต่อสู้ทางการเมือง ก็จะมีการกล่าวหากันได้ ทั้งนี้หากไปตรวจสอบประวัตินายสมศักดิ์ อาจจะพบคดีติดตัวจากการถูกกล่าวหาก็เป็นได้
ขณะที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ตำแหน่งประธานและรองประธานสภาฯ ตามที่ตกลงไว้ครั้งแรกในพรรคมาจากสัดส่วน3 ภาค คือนายยงยุทธ จากภาคเหนือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จากภาคอีสาน และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย จากภาคกลาง
ส่วนหลังจากนายยงยุทธลาออก มีข่าวว่ามีการวางตัวจะให้นายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน จากภาคอีสาน มาดำรงตำแหน่งแทนนั้น นายวรวัจน์ กล่าวว่า ตามหลักที่ตกลงกันไว้ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับสัดส่วนภาคอีสานจะมีถึง 2 คน แต่โควตาภาคเหนือถูกตัดไป
“การที่นายยงยุทธลาออกครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องกะทันหันโดย ส.ส.และผู้ใหญ่ในพรรค ยังไม่ได้หารือถึงผู้ที่จะมาเป็นดำรงตำแหน่งแทน จึงจะต้องใช้เวลาประชุมแต่ละภาคและประชุมส.ส.ของพรรคหารือสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาต่อไปในวันอังคารนี้(6พ.ค.)”
นายวรวัจน์ กล่าวด้วยว่าในส่วนของกลุ่มภาคเหนือ อาจจะเสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ หรือนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานสภาฯแต่หากมีปัญหา ก็อาจเสนอชื่อ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน เป็นรองประธานสภาฯในสัดส่วนของภาคเหนือ ก็เป็นได้ ทั้งนี้ การเสนอชื่อดังกล่าว ต้องหารือร่วมกับกลุ่มอีสานว่าจะเห็นด้วยกับรายชื่อ ดังกล่าวหรือไม่ แต่ต้องเข้าใจว่าสัดส่วนประธานและรองประธานฯจะต้องมีความเท่าเทียบ และเสมอภาคกัน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะรวบรัด ควบทั้งสองตำแหน่งคงไม่ได้
ด้าน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ย้ำว่า ตนไม่ใช่บุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก ประสบการณ์ทางด้านสภาฯ ยังมีน้อย ขณะที่ในพรรคพลังประชาชนมีบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง มีความอาวุโสหลายคน ดังนั้น น่าจะได้ผู้ที่มีความเหมาะสมมากกว่าตน และตนเองก็ไม่อยากทำในสิ่งที่ตนเองยังมีประสบการณ์น้อย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จึงทำให้มีกระแสผลักดันนั่งประธานสภาฯ เพื่อดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 นายสมชาย กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศชัดเจนแล้วว่าเลิกเล่นการเมือง ดังนั้น คงจะเชื่อมโยงกันไม่ติด เพราะตอนนี้ตนเข้ามาเป็นนักการเมือง แต่อดีตนายกฯ วางมือจากการเมืองแล้ว และไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายหรือแสดงบทบาทภายในพรรค จึงเชื่อมโยงกันไม่ได้ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาฯ ในพรรคพลังประชาชนแม้จะมีการคุยกันบ้าง แต่ผู้ดำเนินการก็เป็น ส.ส.
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องที่ไปดูกันในสภาฯ ดีที่สุด แม้แต่ละคนจะแสดงความเห็นได้ แต่ไม่อยากให้เอาความเห็นตัวเองเด็ดขาด เพราะเมื่อเข้าสู่สภาฯ ก็ยังมี ส.ส. ส.ว. รัฐบาล ฝ่ายค้าน ที่ต้องไปถกกันในนั้น โดยจุดยืน คือแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน คำกล่าวหาที่ว่าแก้เพื่อส่วนตัวอยากให้ลบล้างไปดีกว่า”
นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงผู้ที่จะมาดำรง ตำแหน่งประธานสภาฯคนใหม่ว่าตนไม่อยากหวังในเรื่องตัวบุคคล เพราะตำแหน่งประธานสภาฯถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในอนาคตจะต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งมากมาย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นตัวเร่งเร้า และขั้นตอนในเรื่องนี้ ตนเชื่อว่าจะยืดยาว และจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งในและนอกสภาฯมากขึ้น ดังนั้น ประธานสภาฯจะต้องเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และต้องไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด รวมถึงต้องแม่นยำในข้อบังคับกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องมีบุคลิกที่ประนีประนอม ไม่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อฝ่ายใด
“ปัญหาอยู่ที่พรรคการเมืองที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งก็คือพรรคพลังประชาชนที่มีปัญหาการคัดเลือกตัวบุคคลโดยไม่สนใจเสียงของสังคม แต่กลับให้ความสำคัญกับเส้นสายภายในพรรคเป็นหลัก นี่จึงเป็นต้นเหตุของความ ไม่เป็นกลางและทำให้ได้บุคคลที่มีปัญหามาดำรงตำแหน่งซึ่งกระทบต่องานด้านนิติบัญญัติแน่นอน เพราะวันนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญและรัฐบาลยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ซึ่งนี่คือปัญหา ตนจึงอยากให้การเลือกคน มาเป็นประธานสภาฯคนใหม่ควรให้ความสนใจสังคมและคำนึงการทำงานของส.ส.บ้าง”
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหากล่าวว่า การลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯของนาย ยงยุทธ ติยะไพรัช ไม่ใช่การแสดงสปิริต แต่เป็นเกมส์ที่ต้องการ ส่งคนของตัวเองเข้ามารวบหัวรวบหางแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ฝ่ายตัวเองต้องการเท่านั้น
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 นั้น ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นการแก้ไขต้องดำเนินการโดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย หากพรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติจริงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะยุติ และปลดล็อกไม่ให้สังคมเข้าสู่วิกฤตได้ แต่หากยังอ้างคะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งแล้วใช้วิถีทาง การเมืองดำเนินการการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นเงื่อนไขไปสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหม่อย่างแน่นอน
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากนายยงยุทธ ต้องการแสดงสปิริตจริงสามารถทำได้นานแล้ว แต่ที่เพิ่งจะลาออกในช่วงที่กำลังจะปิดสมัยประชุมแสดงให้เห็นเจตนาว่าพรรคพลังประชาชน ต้องการส่งตัวแทนของตัวเองเข้ามาเพื่อบรรจุวาระการแก้รัฐธรรมนูญให้ทันก่อนปิดสมัยประชุม ซึ่งหากต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวมอย่างที่กล่าวอ้างก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งแบบนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศชาติเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้งจากที่ผู้มีอำนาจต้องการแก้ไขโดยไม่สนใจเสียงประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น