วิปฝ่ายค้าน ชี้ รัฐบาลเริ่มชะลอส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากถูกสังคมรุมต้านหนัก แฉรัฐบาล “หมัก” พึลึกเป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เปิดสภามาจนใกล้ปิดสภาสมัยสามัญในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ไม่เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสภาแม้แต่ฉบับเดียว เตรียมเอาเรื่อง รมว.ยุติธรรม ฐานละเว้นไม่ยอมตั้ง ป.ป.ท.จนเลยกฎหมายกำหนด
วันนี้ (29 เม.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านได้มีการหารือถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลได้มีการชะลอการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะช่วยทำให้ความกดดันและความขัดแย้งในสังคมลดลงระดับหนึ่ง
ส่วนพรรครัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล จะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ เชื่อว่า ขณะนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคที่กำลังฟังเสียงของประชาชน และอยากให้รัฐบาลทบทวนกระบวนการอื่นๆ อย่างเช่น การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระหว่างนี้ทางฝ่ายค้านเองก็จะต้องคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ทางวิปฝ่ายค้านยังตั้งข้อสังเกตว่าใกล้จะปิดสมัยประชุมสภาสามัญแล้วแต่ปรากฏว่า รัฐบาลยังไม่ได้เสนอกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแม้แต่ฉบับเดียว ซึ่งถือว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ยอมเสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาแม้แต่ฉบับเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมสภาด้วย
นอกจากนี้ นายสาทิตย์ ยังกล่าวอีกว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นี้ จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 มาตรา 66 ที่กำหนดว่าการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท.ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ ซึ่งตรงนี้ทางวิปฝ่ายค้านขอตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายดังกล่าวได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2551 แต่จนถึงขณะนี้เกินกำหนด 60 วันแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีพึ่งส่งเรื่องเข้าสู่สภา และสภาก็พึ่งบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม
แบบนี้ถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมละเลย จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เพราะแทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะรีบดำเนินการในเรื่องนี้ แต่กลับไปออกคำสั่งปลดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทน แบบนี้เรียกว่าจงใจหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวว่า หลังจากที่ประชุมสภาพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมเสร็จ ทางฝ่ายค้านจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะเลือกปฏิบัติ เพราะอย่างในกรณีบริษัท ศรีสุวรรณฟาร์ม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยพูดเรื่องนี้เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2551 แต่ยังไม่ทัน 1 เดือนก็มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์ที่ดิน เพียงเพราะเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับฝ่ายค้าน แต่ขณะที่เรื่องที่เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาลกับไม่มีการดำเนินการอะไร เช่น กรณีคดีทนายสมชาย คดีกรือเซะ คดีตากใบ หรือคดีบุกรุกที่ดินวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชศรีมา และการบุกรุกที่ดินบุรีรัมย์ของตระกูลใหญ่บางตระกูล ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีต้องชี้แจงว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะการตรวจสอบสามารถทำได้แต่ห้ามเลือกปฏิบัติไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นายสาทิตย์ กล่าวว่า กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท.ก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านต้องสอบถามในสภา ว่า มีการเลือกปฏิบัติหรือมีความจงใจอะไรหรือไม่ และต้องดูว่าจะมีมาตรการจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินการซ้ำรอยกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ
เมื่อถามว่า หากรัฐมนตรีชี้แจงเรื่องนี้ไม่ชัดเจนทางฝ่ายค้านจะดำเนินการถอดถอนหรือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นายสาทิตย์ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่ารัฐมนตรีสามารถชี้แจงได้แค่ไหน และก็ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้เราดำเนินการอะไรได้บ้าง ซึ่งก็ต้องมีการรวบรวมข้อมูลต่อไป
/0110