รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้เสียหายจากการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของนักการเมืองร้องขอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้แต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” ขึ้นเพื่อไต่สวนนักการเมืองนั้นว่าได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนการอุทธรณ์คดีอาญานักการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า “ผู้ไต่สวนอิสระ” คือใคร และมีบทบาทหน้าที่อย่างไร
“ผู้ไต่สวนอิสระ” เป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 276 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น โดยผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวต้องยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้พิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ
หลักการแต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกโดยนำเอาแนวคิดนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในองค์กรตรวจสอบของรัฐว่าอาจจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นกลาง
ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ไต่สวนอิสระ” (Independence Counsel) เป็นไปตาม The Independent Counsel Reform Act of 2003 โดยกฎหมายกำหนดให้ Attorney General เป็นผู้มีหน้าที่ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี คณะผู้บริหารของประธานาธิบดี หรือหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอาญา และหากเห็นว่าการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมอาจมีผลประโยชน์ขัดกัน ไม่ว่าในเรื่องส่วนตัว การเงิน หรือทางการเมือง เป็นอำนาจของ Attorney General ที่จะจัดให้มี “ผู้ไต่สวนอิสระ” มาทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแทน
“ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้พิพากษาพิเศษประจำศาลอุทธรณ์สหพันธรัฐแห่งเมืองโคลัมเบียที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแต่งตั้ง ทั้งนี้ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องเป็นบุคคลที่เหมาะสม ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ทำการไต่สวน และให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของประธานาธิบดี และคณะผู้บริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนได้รับมอบหมาย รวมถึงเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยตรง
“ผู้ไต่สวนอิสระ” จะถูกให้ออกจากตำแหน่งก็แต่โดยคำสั่งของ Attorney General เมื่อมีเหตุอันสมควร หรือโดยคณะกรรมาธิการชุดพิเศษของศาลเมื่องานที่ได้รับมอบหมายของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ได้เสร็จสิ้นลง หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่เข้ารับหน้าที่ โดยสามารถขอขยายระยะเวลาในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ปีได้ ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ปลด “ผู้ไต่สวนอิสระ” เพื่อยืนยันความเป็นอิสระ และเป็นกลาง ในการไต่สวนและทำความเห็นของผู้ไต่สวนที่จะต้องนำเสนอต่อสภาและศาล
The Independent Counsel Reform Act of 2003 จะสิ้นผลไปตามกฎหมายเมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่มีการออกกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดีบทบัญญัตินี้ยังสามารถบังคับใช้ได้หาก “ผู้ไต่สวนอิสระ” เห็นว่าจำเป็นเพื่อความต่อเนื่องจนกว่าจะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้นเสร็จสิ้น กฎหมายเกี่ยวกับผู้ไต่สวนอิสระจะปรับปรุงแก้ไขทุกๆ 5 ปีเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มจาก The Independent Counsel Act of 1994, The Independent Counsel Reform Act of 1999 และฉบับปัจจุบัน ปี 2003
“ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้คุณสมบัติ อำนาจ หน้าที่ วิธีการไต่สวน และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจำต้องมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ต่อไป
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ศาลยุติธรรม โดยนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ในอดีต การสอบสวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดก่อน ในเรื่องการขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการไต่สวนจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน และให้แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้
1. ข้าราชการตุลาการอย่างน้อยหนึ่งคน
2. ข้าราชการอัยการอย่างน้อยหนึ่งคน
3. บุคคลที่เหลือให้พิจารณาแต่งตั้งตามความเหมาะสมแก่คดีจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีในวันแต่งตั้งและต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า
(2) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าสิบปี
(3) เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การบัญชี หรือวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในคดี โดยเคยปฏิบัติงานด้านดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
“ผู้ไต่สวนอิสระ” มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการไต่สวน เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยอนุโลม และเมื่อได้ทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงแล้ว หากเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ต้องส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทำความเห็นส่งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนผู้นั้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งส่งสำนวนและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในการพิจารณาคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯต้องยึดสำนวนของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาความจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
หาก “ผู้ไต่สวนอิสระ” เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อีก ซึ่งต่างกับการดำเนินการไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่หากมีความเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา ผู้เสียหายสามารถขอต่อศาลให้แต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” เพื่อทำการไต่สวนได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 วรรคสี่กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการป.ป.ช. แล้ว จะยื่นต่อศาลให้แต่งตั้ง“ผู้ไต่สวนอิสระ” อีกได้ต่อเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการล่าช้าเกินสมควรหรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา
“ผู้ไต่สวนอิสระ” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำอันมิชอบของนักการเมืองที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญในการบริหารประเทศ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจึงต้องมีความเป็นกลางในทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อที่จะได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ไม่ว่าการไต่สวนค้นหาความจริงจะดำเนินการโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด จุดมุ่งหมายที่สำคัญก็ เพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และปล่อยผู้บริสุทธิ์ไป โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ในท้ายที่สุด
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
“ผู้ไต่สวนอิสระ” เป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 276 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น โดยผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวต้องยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้พิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ
หลักการแต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกโดยนำเอาแนวคิดนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในองค์กรตรวจสอบของรัฐว่าอาจจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นกลาง
ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ไต่สวนอิสระ” (Independence Counsel) เป็นไปตาม The Independent Counsel Reform Act of 2003 โดยกฎหมายกำหนดให้ Attorney General เป็นผู้มีหน้าที่ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี คณะผู้บริหารของประธานาธิบดี หรือหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอาญา และหากเห็นว่าการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมอาจมีผลประโยชน์ขัดกัน ไม่ว่าในเรื่องส่วนตัว การเงิน หรือทางการเมือง เป็นอำนาจของ Attorney General ที่จะจัดให้มี “ผู้ไต่สวนอิสระ” มาทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแทน
“ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้พิพากษาพิเศษประจำศาลอุทธรณ์สหพันธรัฐแห่งเมืองโคลัมเบียที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแต่งตั้ง ทั้งนี้ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องเป็นบุคคลที่เหมาะสม ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ทำการไต่สวน และให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของประธานาธิบดี และคณะผู้บริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนได้รับมอบหมาย รวมถึงเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยตรง
“ผู้ไต่สวนอิสระ” จะถูกให้ออกจากตำแหน่งก็แต่โดยคำสั่งของ Attorney General เมื่อมีเหตุอันสมควร หรือโดยคณะกรรมาธิการชุดพิเศษของศาลเมื่องานที่ได้รับมอบหมายของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ได้เสร็จสิ้นลง หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่เข้ารับหน้าที่ โดยสามารถขอขยายระยะเวลาในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ปีได้ ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ปลด “ผู้ไต่สวนอิสระ” เพื่อยืนยันความเป็นอิสระ และเป็นกลาง ในการไต่สวนและทำความเห็นของผู้ไต่สวนที่จะต้องนำเสนอต่อสภาและศาล
The Independent Counsel Reform Act of 2003 จะสิ้นผลไปตามกฎหมายเมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่มีการออกกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดีบทบัญญัตินี้ยังสามารถบังคับใช้ได้หาก “ผู้ไต่สวนอิสระ” เห็นว่าจำเป็นเพื่อความต่อเนื่องจนกว่าจะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้นเสร็จสิ้น กฎหมายเกี่ยวกับผู้ไต่สวนอิสระจะปรับปรุงแก้ไขทุกๆ 5 ปีเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มจาก The Independent Counsel Act of 1994, The Independent Counsel Reform Act of 1999 และฉบับปัจจุบัน ปี 2003
“ผู้ไต่สวนอิสระ” ต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้คุณสมบัติ อำนาจ หน้าที่ วิธีการไต่สวน และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจำต้องมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ต่อไป
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ศาลยุติธรรม โดยนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ในอดีต การสอบสวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดก่อน ในเรื่องการขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการไต่สวนจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน และให้แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้
1. ข้าราชการตุลาการอย่างน้อยหนึ่งคน
2. ข้าราชการอัยการอย่างน้อยหนึ่งคน
3. บุคคลที่เหลือให้พิจารณาแต่งตั้งตามความเหมาะสมแก่คดีจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีในวันแต่งตั้งและต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า
(2) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าสิบปี
(3) เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การบัญชี หรือวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในคดี โดยเคยปฏิบัติงานด้านดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
“ผู้ไต่สวนอิสระ” มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการไต่สวน เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยอนุโลม และเมื่อได้ทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงแล้ว หากเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ต้องส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทำความเห็นส่งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนผู้นั้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งส่งสำนวนและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในการพิจารณาคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯต้องยึดสำนวนของ “ผู้ไต่สวนอิสระ” เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาความจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
หาก “ผู้ไต่สวนอิสระ” เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อีก ซึ่งต่างกับการดำเนินการไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่หากมีความเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา ผู้เสียหายสามารถขอต่อศาลให้แต่งตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” เพื่อทำการไต่สวนได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 วรรคสี่กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการป.ป.ช. แล้ว จะยื่นต่อศาลให้แต่งตั้ง“ผู้ไต่สวนอิสระ” อีกได้ต่อเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการล่าช้าเกินสมควรหรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา
“ผู้ไต่สวนอิสระ” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำอันมิชอบของนักการเมืองที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญในการบริหารประเทศ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจึงต้องมีความเป็นกลางในทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อที่จะได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ไม่ว่าการไต่สวนค้นหาความจริงจะดำเนินการโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด จุดมุ่งหมายที่สำคัญก็ เพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และปล่อยผู้บริสุทธิ์ไป โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ในท้ายที่สุด
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม