ผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำยังไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟด เหตุเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี จี้ทางการสร้างความมั่นใจในการดูแลเงินเฟ้อระยะปานกลางให้ดีไม่เช่นนั้นจะเกิดการกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้นและลามไปยังการบริโภค การลงทุนและการส่งออกให้เกิดปัญหาได้ ด้านพาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็น 5-5.5% หลังน้ำมันพุ่งไม่หยุด แถมเจอวิกฤตด้านราคาอาหารกระหน่ำซ้ำ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศต่างนั้น มีทิศทางที่แตกต่างกันไป โดยอย่างสหรัฐเองเมื่อเศรษฐกิจที่ชะลอลึก ทำให้ความต้องการลดลง ปัญหาแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อก็ไม่มากจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมสหรัฐต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเช่นในปัจจุบัน ขณะที่ในส่วนของไทยความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมีมากกว่า ทำให้ต้องหันมาดูแลด้านนี้แทน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยต้องไปในแนวทางทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญมากกว่า
"อัตราดอกเบี้ยของไทยในระดับ 3.25% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว ซึ่งในอดีตเราก็เคยอยู่ในระดับเดียวกับไต้หวัน แต่ตอนนี้ทางการไต้หวันได้ปรับขึ้นไปแล้ว ส่วนระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่นั้นเท่าที่เปรียบเทียบดูผลตอบแทนจากตราสารหนี้ของประเทศอื่นก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าบ้านเรา ทำให้การตัดสินใจด้วยเหตุผลนี้น้อยลง"
โดยหากพิจารณาในแง่ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 3 และ 4 ของปีก่อนก็เริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง
นางธาริษากล่าวอีกว่า ธปท.ยังคงดูแลทั้งภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงมากกว่าจากราคาน้ำมันและพืชผลที่สูงขึ้น และสูงกว่าที่ธปท.มองไว้ในตอนแรก ทำให้ธปท.ต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้กระทบถึงต้นทุนสินค้าและค่าครองชีพที่สูงเกินไปของประชาชนได้ เพราะหากประชาชนไม่มั่นใจว่าทางการมีการดูแลเงินเฟ้อที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงระยะปานกลาง ก็อาจจะทำให้เร่งกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบให้ทั้งต้นทุน และราคาสินค้าแพงขึ้นไปไม่หยุด
"หากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมาก จะกระทบทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ยกตัวอย่างประเทศจีน ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของเขาสูงถึง 8% ทำให้ข้าวของแพงขึ้นทั้งประเทศ ทั้งราคาที่ส่งออก จึงต้องหันกลับไปดูแลเงินเฟ้อเป็นสำคัญ"
สำหรับประเด็นที่ว่าราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้นอาจไม่สะท้อนต้นทุนในการดำเนินชีวิตที่แท้จริงของประชาชนได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะปรับเปลี่ยนไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นเป้าหมายในการกำหนดนโยบายการเงินแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาทั้งข้อดีข้อเสียของทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ
พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี5-5.5%
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยในปี 2551 ใหม่ จากเดิม 3-3.5% เป็น 5-5.5% เพราะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบที่จากเดิมประเมินไว้ว่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาเฉลี่ยเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปแล้ว และราคาล่าสุดใกล้แตะระดับ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลด้วย
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าไทยยังมีแรงกดดันจากภาวะราคาสินค้าอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นการปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์ และไม่ได้รุนแรง โดยยังเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหาร
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศต่างนั้น มีทิศทางที่แตกต่างกันไป โดยอย่างสหรัฐเองเมื่อเศรษฐกิจที่ชะลอลึก ทำให้ความต้องการลดลง ปัญหาแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อก็ไม่มากจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมสหรัฐต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเช่นในปัจจุบัน ขณะที่ในส่วนของไทยความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมีมากกว่า ทำให้ต้องหันมาดูแลด้านนี้แทน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยต้องไปในแนวทางทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญมากกว่า
"อัตราดอกเบี้ยของไทยในระดับ 3.25% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว ซึ่งในอดีตเราก็เคยอยู่ในระดับเดียวกับไต้หวัน แต่ตอนนี้ทางการไต้หวันได้ปรับขึ้นไปแล้ว ส่วนระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่นั้นเท่าที่เปรียบเทียบดูผลตอบแทนจากตราสารหนี้ของประเทศอื่นก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าบ้านเรา ทำให้การตัดสินใจด้วยเหตุผลนี้น้อยลง"
โดยหากพิจารณาในแง่ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 3 และ 4 ของปีก่อนก็เริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง
นางธาริษากล่าวอีกว่า ธปท.ยังคงดูแลทั้งภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงมากกว่าจากราคาน้ำมันและพืชผลที่สูงขึ้น และสูงกว่าที่ธปท.มองไว้ในตอนแรก ทำให้ธปท.ต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้กระทบถึงต้นทุนสินค้าและค่าครองชีพที่สูงเกินไปของประชาชนได้ เพราะหากประชาชนไม่มั่นใจว่าทางการมีการดูแลเงินเฟ้อที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงระยะปานกลาง ก็อาจจะทำให้เร่งกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบให้ทั้งต้นทุน และราคาสินค้าแพงขึ้นไปไม่หยุด
"หากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมาก จะกระทบทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ยกตัวอย่างประเทศจีน ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของเขาสูงถึง 8% ทำให้ข้าวของแพงขึ้นทั้งประเทศ ทั้งราคาที่ส่งออก จึงต้องหันกลับไปดูแลเงินเฟ้อเป็นสำคัญ"
สำหรับประเด็นที่ว่าราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้นอาจไม่สะท้อนต้นทุนในการดำเนินชีวิตที่แท้จริงของประชาชนได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะปรับเปลี่ยนไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นเป้าหมายในการกำหนดนโยบายการเงินแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาทั้งข้อดีข้อเสียของทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ
พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี5-5.5%
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยในปี 2551 ใหม่ จากเดิม 3-3.5% เป็น 5-5.5% เพราะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบที่จากเดิมประเมินไว้ว่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาเฉลี่ยเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปแล้ว และราคาล่าสุดใกล้แตะระดับ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลด้วย
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าไทยยังมีแรงกดดันจากภาวะราคาสินค้าอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นการปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์ และไม่ได้รุนแรง โดยยังเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหาร