xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยืนน้ำหนักคุมเงินเฟ้อ จับตาเงินไหลเข้าตลาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท. ระบุให้น้ำหนักในการดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น หลังคลังมีมาตรการมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เผยยังไม่พบการเก็งกำไรข้าวหรือการลงทุนในตลาดต่างๆ จากกลุ่มตะวันออกกลาง ขณะที่การประชุมในเวทีโลก IMF ภาคเอกชนวอนให้ธนาคารกลางดูแลเรื่องเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลัก หวั่นกระทบการบริโภคและการลงทุน

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังคงดำเนินนโยบายการเงิน ที่ดูแลทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องมีความระมัดระวัง แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจมีการแรงขับเคลื่อนที่ดีจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกระทรวงการคลัง ทำให้ธปท.ให้ความสำคัญในการเข้าไปดูแลอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น

"แบงก์ชาติมีเครื่องมือพอสมควร ทั้งนโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเมื่อถึงเวลาคับขัน ก็สามารถนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ได้"

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีรายได้น้ำมันเข้ามาเก็งกำไรผ่านภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เชื่อว่ามีน้อย เนื่องจากการเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์อย่างข้าว ในภูมิภาคเอเชียมีตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Future) น้อยมาก แต่หากนักลงทุนจะเข้ามา คงเข้ามาเก็งกำไรผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้มากกว่า แต่เท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบการเก็งกำไรดังกล่าว และเงินทุนไหลเข้าออกไทยก็ยังอยู่ในภาวะปกติดี

สำหรับการประชุมคณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMFC) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 185 ประเทศ และมีการประเมินเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ของกลุ่มประเทศตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมีกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมอยู่ด้วย

เรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งกำลังมีคนเป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะเกรงว่าปัญหาเงินเฟ้อ จะส่งให้การใช้จ่ายผ่านการอุปโภคบริโภคและการลงทุนลดลง อย่างไรก็ตามในแต่ละประเทศมีความกังวล และให้น้ำหนักแตกต่างกันออกไป อย่างสหรัฐจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาซับไพรม์ รองลงมาเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ส่วนประเทศในกลุ่มยุโรป ก็ยังคงให้ความสำคัญเรื่องเงินเฟ้อ เป็นหลัก

ดังนั้น ในส่วนกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่าจากการที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นช่วยผ่อนคลายเงินเฟ้อที่สูงได้ และช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย จึงจำเป็นที่ธนาคารกลาง ต้องมีความระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายด้านอื่นๆ เข้ามาช่วยผสมผสานในการดูแลเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง

"พืชผล และอาหารที่แพงส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่มากขึ้น หลังจากรายได้ของประเทศกำลังพัฒนามีมากขึ้น และมีการใช้พื้นที่ปลูกพืชผลทดแทนพลังงาน พร้อมทั้งเกิดการเก็งกำไรมากขึ้นด้วย ดังนั้นราคาอาหารไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูง จึงควรมีการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันและข้าวไปพร้อมๆ กัน"

นอกจากนี้ ในที่ประชุมโดยรวมกำลังติดตามดูว่า หลังจากที่ปัญหาซับไพรม์ได้ลามไปยังตลาดเครดิตต่างๆ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐแล้ว ในขณะนี้จะลามไปยังการใช้จ่ายอื่นๆ ของสหรัฐหรือไม่ และมีการยอมรับว่าอย่างชัดเจนว่าประเทศกำลังพัฒนา มีความแข่งแกร่งมากขึ้นในการรองรับปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากมีการปรับปรุงและปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยการนำนโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยนมาช่วยบริหารเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจโลกเดินหน้าต่อไปด้วยดี

เช่นเดียวกับกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่าการเกิดภาวะวิกฤตในโลกมีสาเหตุที่คล้ายกันมาก แม้จะเกิดจากต้นตอเดียวกัน โดยเกิดจากการกู้และการให้กู้ไม่ระวัง ซึ่งอาจทำให้กำกับดูแลอ่อนลงได้ และมีการเปิดเผยข้อมูลไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันปัญหาซับไพรม์ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไขต้องดูประเด็นเหล่านี้

สำหรับประเด็นที่ประเทศแถบภูมิภาคเอเชียมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากค่าเงินที่แข็งค่านั้น โดยเฉพาะกองทุนของประเทศสิงคโปร์ จีน และดูไบ ทำให้สหรัฐเองก็แสดงความเป็นห่วงว่าจะมีการซื้อธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของประเทศจนอาจทำให้เกิดความเสียหายในอนาคตได้ และหากมีการกีดกันการค้าก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐยิ่งแย่ลงไปอีก จึงควรมีหลักเกณฑ์หลักๆ ทั้งในแง่ของการลงทุนของกองทุนต่างๆ และการที่กองทุนต่างๆ เข้าไปลงทุนประเทศนั้นๆ โดยต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เป็นปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่จะนำเอาผลประโยชน์ประเทศชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ควรเป็นการเข้าไปลงทุนในฐานะของผู้ลงทุนที่หวังดอกผลมากกว่า

ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้รับโควต้าในการออกเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จากเดิม 3.0% ซึ่งพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ปรับตามอำนาจซื้อของประเทศนั้นๆ ที่แท้จริง จากเดิมที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดตัวดีจะได้รับโควต้าส่วนนี้มาก และทำให้ไทยได้รับโควต้าออกเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% จากเดิม 0.5%และต่อไปจะมีการทบทวนโควต้านี้สม่ำเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น