เอเอฟพี/เอเจนซี - ราคาอาหารที่กำลังแพงลิ่ว ถ้าปล่อยให้ขยายต่อไป ก็จะสร้างความเสียหายต่อการเติบโตและความมั่นคงของเศรษฐกิจโลกด้วย ไม่เพียงกระทบต่อบรรดาคนยากจนที่สุดเท่านั้น เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บันคีมุน ออกโรงมาเตือนในพิธีเปิดการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังก์ถัด) ในเมืองหลวงของกาน่าเมื่อวันอาทิตย์ (20) ขณะที่บิ๊กบอสไอเอ็มเอฟ ก็เรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปอย่างห้าวหาญเพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตอาหารในระยะยาว
"หากว่าไม่มีจัดการที่เหมาะสม วิกฤต (อาหาร) นี้อาจเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤตอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีกมากมาย และพัฒนาไปเป็นวิกฤตที่มีหลายแง่มุม กลายเป็นปัญหาหลายมิติ ซึ่งกระทบกระเทือนทั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม รวมทั้งความมั่นคงทางการเมืองทั่วทั้งโลก" เลขาธิการยูเอ็นกล่าว
บันยังให้คำมั่นที่จะใช้อำนาจทั้งหมดของยูเอ็นเพื่อรับมือกับปัญหาราคาอาหารพุ่งลิ่ว ซึ่งกำลังคุกคามจะทำให้ประชากรโลกที่หิวโหยและยากจนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้เป็นชนวนทำให้เกิดการจลาจลด้านอาหารขึ้นแล้วทั้งในแถบเอเชียและแอฟริกา
"ผมจะจัดตั้งคณะทำงานที่มีอำนาจหน้าที่สูงลิ่วขึ้นมาในทันที โดยจะประกอบไปด้วยพวกผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญๆ และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบชั้นนำ เพื่อรับมือกับปัญหานี้" บันกล่าว ภายหลังกลุ่มของพวก 49 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันเสาร์ให้ก่อตั้งคณะทำงานเช่นนี้ขึ้นมา
ทางด้านประธานาธิบดี ลูอิซ อิกนาซิโอ "ลูลา" ดาซิลวา แห่งบราซิล ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยก็กล่าวในสุนทรพจน์เปิดประชุมว่า ประเทศยากจนไม่ควรจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายจากปัญหาขาดสภาพคล่องที่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น
"เศรษฐกิจระหว่างประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตซึ่งเกิดจากการขาดธรรมาธิบาลในประเทศที่ร่ำรวยทั้งหลาย และประเทศยากจนไม่ควรที่จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเหล่านั้นสักนิด" ประธานาธิบดีลูลา กล่าวในสุนทรพจน์
"โลกาภิวัตน์ไม่ควรจะกลายเป็นหนทางที่จะส่งผ่านความเสียหายมายังประเทศกำลังพัฒนา และในความเป็นจริง ประเทศเหล่านี้แหละที่เป็นผู้มีส่วนมากที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก"
เช่นเดียวกับเลขาธิการยูเอ็น ประธานาธิบดีบราซิลก็ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารโลกที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้
"ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่ควรจะส่งผลต่อคนยากจนและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุด เราจะต้องพัฒนากลไกเพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างที่สุดจะไม่ขาดแคลนอาหาร อังก์ถัดอยู่ในสถานะที่สามารถพัฒนากลไกดังกล่าวร่วมไปกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้" เขากล่าว
ลูลายังได้เน้นย้ำว่า ประเทศร่ำรวยควรเลิกสนับสนุนเกษตรกรของตน และเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากประเทศกำลังพัฒนา
"การสนับสนุนอย่างมหาศาลที่มาจากคลังของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีฤทธิ์เหมือนยากระตุ้นทั้งหลายและทำให้ผู้ผลิตในประเทศเสพติดงอมแงม แต่ผู้เคราะห์ร้ายกลับกลายเป็นเกษตรกรในประเทศที่ข้นแค้นอย่างสุดแสน"
**การปฏิรูปอย่างห้าวหาญ**
กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดมินิก สเตราส์-คาห์น เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวันจันทร์ (21) โดยกล่าวว่า ราคาอาหารที่กำลังสูงลิบ "เป็นความวิตกด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงยิ่ง" และจำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำให้คนยากจนมีอาหารเลี้ยงชีพ แต่เขาก็เสริมว่า "เราจักต้องมีความห้าวหาญมากขึ้นในการจัดการกับบรรดาปัญหาท้าทายระยะยาวในเรื่องซัปพลายอาหาร"
สเตราส์-คาห์น เรียกร้องให้ทั่วโลกประสานร่วมมือกันในเรื่องนโยบายการเกษตร ขณะเดียวกันเขาก็ชี้ว่า ลัทธิกีดกันการค้า,การใช้พืชผลซึ่งเป็นอาหารไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ,มาตรการอย่างไม่เหมาะสมในด้านการบรรเทาความเดือดร้อนและการรับประกัน ตลอดจนนโยบายที่บกพร่องย่ำแย่ ต่างกำลังมีส่วนทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นในเวลานี้