เอเอฟพี - องค์การระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจระดับท็อปของโลก เมื่อวันจันทร์ (17) ต่างประสานเสียงกันเตือนภัยวิกฤตระบบการเงิน จะส่งผลลุกลามกว้างขวาง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ชี้อันตรายที่จะเกิดอัตราเติบโตชะงักงันพร้อมๆ กับภาวะเงินเฟ้อ พร้อมหนุนมาตรการเร่งรักษาเสถียรภาพของตลาด ขณะที่ธนาคารโลกก็ยืนยัน เศรษฐกิจโตเร็วของเอเชียจะถูกกระทบด้วยแน่นอน
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมือประกาศมาตรการเร่งด่วนฉุกเฉินในคืนวันอาทิตย์ (16) เพื่อประคับประคองให้ระบบการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ไม่ขาดแคลนสภาพคล่อง ทางด้าน โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟก็ออกมากล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจของโลก กำลังอยู่ในภาวะ "ชะลอตัวลงอย่างสำคัญ" และทางไอเอ็มเอฟก็จะต้องหั่นลดคำพยากรณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจลงอีก
"เห็นชัดเจนว่าวิกฤตตลาดการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ มีความร้ายแรงยิ่งกว่าและครอบคลุมไปทั่วโลกมากกว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน" สเตราส์คานห์กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปารีส พร้อมกับเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่อันตรายจากวิกฤตจะเพิ่มมากขึ้นอีก โดยที่เขาคาดหมายว่าวิกฤตครั้งนี้จะยืดเยื้อ ส่งผลเสียหายหนักหน่วง อีกทั้งยังจะแผ่ลามไปสู่บรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ด้วย
"ในเวลานี้เรื่องที่มีลำดับความสำคัญมากที่สุดสำหรับพวกรัฐบาลในยุโรป ควรจะเป็นเรื่องการควบคุมจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะมาจากวิกฤตตลาดการเงิน" เขากล่าว "เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ทั้งภาวะเงินเฟ้อและภาวะการเติบโตถดถอย อาจจะเป็นปัญหาได้ทั้งคู่"
แต่บิ๊กบอสไอเอ็มเอฟก็มองแง่ดีต่อการแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องในระบบการเงินของพวกธนาคารกลางทั้งหลาย และเขาบอกว่า "ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไปเชื่อว่าพวกเขาจะไม่สามารถ" แก้ปัญหาได้ดีต่อไปอีกในสัปดาห์ถัดๆ จากนี้ไป
ทางด้าน อังเคล กูร์เรีย เลขาธิการโออีซีดี กล่าวในการแถลงข่าวร่วมเวทีเดียวกันกับสเตราส์-คาห์น โดยย้ำว่า สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ คือต้องรักษาเสถียรภาพของระบบ โดยจำเป็นจะต้องส่งสัญญาณให้เกิดความมั่นใจ ดังเช่น การเข้ากอบกู้ช่วยเหลือธนาคารนอร์ทเทิร์นร็อก ของทางการอังกฤษ และการช่วยเหลือวาณิชธนกิจ แบร์สเติร์นส์ ของทางการสหรัฐฯ
ขณะที่ รอเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศในนครเจนีวาว่า ไม่มีประเทศไหนจะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นได้ และเขาไม่เชื่อในทฤษฎีที่ว่าพวกเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียเวลานี้ สามารถที่จะเติบโตชนิด "แยกขาด" จากโลกตะวันตกได้
เขาชี้ด้วยว่า ภาวะสินเชื่อตึงตัวซึ่งมีชนวนเหตุจากวิกฤตทางการเงินในสหรัฐฯ กำลังทำให้พวกประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นในการกู้ยืมเงินหรือออกตราสารหนี้ รวมทั้งจะกู้ยืมเงินได้น้อยลงกว่าที่ปรารถนาด้วย